กลัวบาปที่มีเหตุขัดใจกับแม่ แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ
โดย แม่หมู  28 ส.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 4668

ดิฉันเป็นลูกสาวคนเล็กของแม่ มีพี่สาวหนึ่งคน ทุกวันนี้ยังรู้สึกเสียใจที่ตอนเล็กๆ แม่ชอบตี โมโหบ่อย รู้สึกไม่อบอุ่นกับแม่มากนักตอนเด็ก แต่แม่ก็ดูแลเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้า และเรื่องอื่นๆ ทางร่างกายดี แม้แต่ตอนนี้ก็มาช่วยเลี้ยงลูกเราด้วย แต่มักคิดน้อยใจที่แม่ไม่เข้าใจเรา ไม่ปลอบใจ หรือไม่ให้กำลังใจในขณะที่เราทุกข์ เมื่อฟังธรรมก็เข้าใจว่าแม่มีพระคุณมาก ที่ให้เราเกิดเป็นคน และคิดได้บ้างบางครั้งว่าแม่ก็อายุมากแล้ว มีเวลาอยู่กันได้ไม่นาน ทำไมไม่ทำเฉยๆ เสียบ้าง หรือพอฟังธรรมก็คิดได้ว่าทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่ต้องไปทุกข์ต่อไป แม่ปลอบใจไม่ได้ก็ให้พระธรรมเป็นที่พึ่ง แต่เวลาแม่พูดผิด ขัดใจเรา เราก็โมโหแม่อีกแล้ว รู้สึกตัวว่าทำไม่ดี แย่มากที่พูดให้แม่เสียใจ และบ่อยครั้งที่คิดว่าทำไม แม่ไม่ทำหน้าที่ของแม่คือ ปลอบใจ ให้กำลังใจ อ้าแขนรับลูกในเวลาที่ลูกต้องการกำลังใจจากแม่ แต่ก็คิดได้หลังจากที่ได้พูดไม่ดีไปแล้ว หรือเวลาสบายใจก็ไม่คิดน้อยใจแม่ ถึงแม้ว่าหลังจากฟังธรรม เหตุการณ์ไม่ดีก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะบางครั้งก็สะกดคำพูดโต้ตอบแม่ได้ แต่บางครั้งใจก็ไม่หายเคืองหรอก เพียงแต่ไม่โต้ตอบ ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายไป แต่บางครั้งก็พูดให้แม่เสียใจอีกแล้ว และเคยคิดว่าเป็นความผิดของแม่ด้วยนะ ที่ไม่ทำหน้าที่ปลอบใจลูก ไม่ให้กำลังใจลูกลุกขึ้นสู้ต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราไม่ดี แต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ เพราะอยู่กับแม่ตลอดทั้งวัน กระทบกระทั่งกันบ่อย จำคำของอาจารย์สุจินต์ ฯ ที่สอนว่าจิตในขณะนั้นเป็นโทสะ และแม้แต่กับผู้มีพระคุณจะยิ่งขนาดไหน รู้ทั้งนั้นว่าไม่ดี แต่แล้วก็เกิดขึ้นอีก รบกวนท่านผู้รู้ให้การอบรมสั่งสอนดิฉันด้วย มีธรรมใดที่จะช่วยให้ดิฉันถอดถอนนิสัยไม่ดี และเลิกการกระทำที่เป็นบาปอันนี้ได้บ้างคะ



ความคิดเห็น 1    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 28 ส.ค. 2550

พยายามคาดหวังกับบุคคลอื่นให้น้อยลง แล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น คนเรา ทำอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น


ความคิดเห็น 2    โดย pannipa.v  วันที่ 28 ส.ค. 2550

ไม่เป็นไร วันหนึ่งที่เรามีลูก ลูกก็จะทำกับเราอย่างที่เราทำกับแม่ พอถึงวันนั้นก็ต้องรับให้ได้ และเราก็จะไม่สงสัยว่า ทำไมลูกถึงทำกับเรา อย่างนี้ เพราะผลทั้งหลายที่ได้รับ ต้องมาจากเหตุที่ได้เคยกระทำแน่นอน


ความคิดเห็น 3    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 28 ส.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

มีคำกล่าว อยู่คำหนึ่ง กล่าวว่า ดิฉันไม่ได้หวังอะไรเลยว่าจะให้คุณพ่อ คุณแม่รัก ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดโดยไม่หวังผลตอบแทน ลองอ่านข้อความนี้ดูนะ มีประโยชน์ครับ [สอนตนนัยที่ ๖ - พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏฏ์]

แต่ถ้าเมื่อเธอแม้พิจารณาถึงพระคุณ อันเป็นส่วนบุพจริยาของพระศาสดาดังกล่าวมานี้อยู่ ปฏิฆะ (ความโกรธ) ของเธอผู้ตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายมาช้านานนั้น ก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงบทพระสูตรทั้งหลาย ที่มีความเนื่องด้วยศัพท์อนมตัคคะ (สงสารที่ไม่ปรากฏต้นปลาย) ก็ในสุตตบทเหล่านั้น สุตตบท (ต่อไป) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา (ของเรา) มิใช่หาได้ง่าย" ๒ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงยังจิตอย่างนี้ ให้เกิดขึ้นในบุคคลนั้นว่า "นัยว่าบุคคลผู้นี้เป็นมารดาในอดีตของเรา รักษา (เรา) อยู่ในท้อง ถ้วนทศมาส (คลอดแล้ว) ไม่ (แสดงอาการ) เกลียดสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย มีเยี่ยว ขี้ น้ำลาย และน้ำมูก เป็นต้น เช็ดได้ราวกะจันทน์แดง


ความคิดเห็น 4    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 28 ส.ค. 2550

ให้ (เรา) นอนแนบอก อุ้ม (เรา) ไปรอบ เลี้ยง (เรา) มา

. . . เป็นบิดาเดินทางลำบากต่างๆ มีอชบถ (ทางแพะเดิน) และสังกุบถ (ทางที่คนใช้ไม้ขอเหนี่ยวตัวขึ้นไป) เป็นต้น ประกอบการค้าขาย สละแม้แต่ชีวิตเข้าสงคราม อันจัดกระบวมแล้วทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง แล่นเรือไปในมหาสมุทรบ้าง ทำงานที่ยากอื่นๆ บ้าง เพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา คิดว่าจักเลี้ยงลูกน้อย (อุตส่าห์) รวบรวมทรัพย์ด้วยอุบายนั้นๆ เลี้ยงเรามา . . .แม้เป็นพี่น้องชาย พี่น้องหญิง บุตร และธิดาเล่าก็ได้ทำอุปการะสิ่งนี้ๆ (แก่เรา) เพราะฉะนั้น อันการทำใจร้ายในบุคคลนั้น หาควรแก่เราไม่"

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 9    โดย แม่หมู  วันที่ 29 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนากับเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่อุตส่าห์สละเวลาให้ความคิดเห็นและความรู้ และก็ได้พิจารณาดูว่า เออตัวเรานี่คาดหวังในแม่มากไปจริงๆ อย่างที่คุณไตรสรณคมน์บอกและคุ้นๆ ว่าคำกล่าวที่คุณแล้วเจอกันบอก เป็นคำของท่านอาจารณ์สุจินต์หรือเปล่าที่ว่า " ดิฉันไม่ได้คาดหวังอะไรเลยว่าจะให้คุณพ่อ คุณแม่รัก ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดโดยไม่หวังผลตอบแทน " ดิฉันในขณะนี้รู้สึกว่าตนเองต่างหากที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของลูกให้ดีเลย ฟังคำสอนท่านอาจารย์สุจินต์ฯ แล้วก็ลืมไปได้ และยอมรับว่าที่ผ่านมาใจร้ายกับแม่จริงๆ ระยะนี้ดิฉันก็พยายามรักษาใจตัวเอง ฟังธรรมขัดเกลาจิตใจ และก็ชวนแม่ฟังด้วยคะ

เพื่อนสมาชิกที่อ่านเข้ามาเจอ มีคำแนะนำที่ดี กรุณาแนะนำดิฉันอีกน๊ะค๊ะ ดิฉันต้องการให้มีกัลยาณมิตรแนะนำ สั่งสอน และขออนุโมทนากับทุกท่านจริงๆ คะ


ความคิดเห็น 10    โดย Nareopak  วันที่ 29 ส.ค. 2550

สมัยเด็กๆ ดิฉันเคยดู TV เห็นคุณยายโอบกอดหลาน หวีผม ใจดี ไม่เจ้าระเบียบ อดนึกเปรียบเทียบไม่ได้ว่าทำไมคุณยายของเราไม่เหมือนคุณยายในTV ไม่กอดเรา พอโตขึ้นมาจึงเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นและเข้าใจถึงเหตุว่าทำไมคุณยายถึงเป็นผู้ที่เข้มงวดและเจ้าระเบียบมาก พื้นฐานคุณยายเป็นพี่คนโต คุณยายต้องช่วยคุณยายทวดทำงานบ้าน และเลี้ยงน้องๆ ไปด้วย คุณยายเรียนจบครูแต่งงานครั้งแรกผิดหวังในความรักเพราะคุณตาเจ้าชู้ เลยต้องหย่ากันตั้งแต่คุณแม่ของดิฉันยังอยู่ในครรภ์ คุณยายเริ่มทำงานเป็นครูและ เป็นครูผู้หญิงคนแรกที่ต้องบุกเบิกโรงเรียนที่เพิ่งสร้าง (ก่อนที่จะมามีชื่อเสียงในปัจจุบัน) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ที่เป็นเบ้าหลอมให้คุณยายจริงจัง ซีเรียส กับชีวิต แต่สิ่งที่ดิฉันได้มาจากคุณยายคือ การทำทานและการสร้างกุศล คุณยายส่งเสียลูกศิษย์ที่มีฐานะยากจน จนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหลายคน ด้วยบุญกุศลทำให้คุณยายไม่ยากจนและเป็นที่เคารพแก่บุคคลทั่วไป มีอายุยืนถึง 89 ปี ก่อนเสียชีวิต ที่ยกตัวอย่างมามากมายก็เพื่อที่จะบอกคุณแม่หมู ว่าเราออกแบบพฤติกรรมของใครให้เหมือนใจเราคิดไม่ได้ เพราะเขาถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น แต่ " เราสามารถออกแบบหรือเลือกทางปฏิบัติตัวของเราได้" ดิฉันยกให้คุณยายเป็นแม่คนที่สอง สิ่งต่างๆ ในอดีต ดิฉันไม่หันกลับไปมองแล้ว เวลาที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นเวลาแห่งนาทีทองในการที่จะสะสมกุศลและฟังธรรม เพื่อให้เกิดปัญญายิ่งๆ ขึ้น ดิฉันเข้าใจในความรู้สึกของคุณแม่หมู ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่หมูมีขันติและฟังธรรมทุกๆ วัน ครูบาอาจารย์ที่ดิฉันเคารพนับถือ จะกล่าวอยู่เสมอว่าการปฏิบัติธรรมจะเจริญก้าวหน้าได้จะต้องเลี้ยงดูหรือดูแลบุพการีให้ดีก่อน


ความคิดเห็น 12    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 ส.ค. 2550

ขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นการปฏิบัติธรรมตามระดับนั้น แต่ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมที่ดับกิเลส


ความคิดเห็น 13    โดย แม่หมู  วันที่ 30 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาและขอขอบพระคุณ คุณ Nareopak และทุกท่าน ที่เป็นกัลยาณมิตรแนะนำและให้แนวคิดแก่ดิฉัน

ยิ่งคิด..ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักบ้านธัมมะ และได้สนทนาผ่านกระดานสนทนานี้ บุญที่ดิฉันได้เคยทำมา ขออนุโมทนาให้กับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะที่มูลนิธิฯ รวมทั้งกัลยาณมิตรทุกๆ ท่าน ที่เมตตาช่วยเหลือให้ดิฉันรู้จักคิด และพอให้เกิดสติมีกุศลจิตขึ้น หากท่านใดมีธรรมเตือนใจอื่นๆ ก็ขอเชิญร่วมให้คำแนะนำนะคะ


ความคิดเห็น 14    โดย shumporn.t  วันที่ 30 ส.ค. 2550

มีความสุขกับการให้ดีกว่า การรอที่จะรับ หาในสิ่งที่เขาไม่มีให้ ต้องทุกข์ทุกครั้งที่ไม่สมหวัง อย่ารอที่จะได้รับความสุขจากคนอื่นเลย เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้ความสุข ความสมหวังแก่ผู้อื่นดีกว่า เวลาใดเห็นผู้อื่นมีทุกข์ ปลอบโยนเขา ให้ในสิ่งที่เขาอยาก คงมีความสุขมากกว่า การให้ที่เหมาะสมย่อมนำสุขแก่ผู้ให้แน่นอน ให้วัตถุ ให้อภัย ให้ธรรมทาน การให้สิ่งใดคงไม่ประเสริฐเท่ากับให้คุณแม่ได้มีความเข้าใจในธรรม

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย ครูโอ  วันที่ 30 ส.ค. 2550

คนทั่วไปคิดว่า "คนอยู่ด้วยกัน ก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา ไม่ต้องคิดมาก" ความคิดเบื้องต้นเป็นความจริง แต่เป็นความจริงของปุถุชนผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส เพราะเหตุว่า ตนยังชื่นชอบในการคลุกคลีในหมู่คณะด้วย "อกุศล" พึงพอใจที่จะมี เยื่อใยต่อกันด้วย "อกุศล" ด้วยความไม่รู้ว่า "อวิชชา" ปิดบังไว้ ครอบงำไว้ ไม่ให้เห็นโทษของ "ฉันทราคะ" คือ โลภะ ที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นในความสุข แต่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ความทุกข์ยากเข็ญใจมากประการเกิดขึ้นในภายหลัง ความคิดเห็นส่วนตัวต่อ คุณแม่หมู นะครับ (อาจจะยาวไปสักหน่อย)

เหตุการณ์ที่หนึ่ง

"แม่รักใคร่ลูกมาก ทุกๆ วันก็แสวงหา "สุข" จากความรักใคร่ในตัวลูกไม่เคยขาด มีความยึดมั่นในสุขทีเกิดจากความรักใคร่ และไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากสุขที่เกิดจากความรักใคร่นั้น แต่สุขตามที่ปรารถนาไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวัง เพราะลูกไม่อาจทำตามความต้องการของตนได้ทุกประการ จึงหนีไม่พ้นความทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจ ในตัวลูก"

ความจริง คือ

ขันธ์ ๕ หนึ่ง โลภะเป็นเหตุให้เกิดอุปาทานในขันธ์ ๕ นั้นขึ้น ชักนำให้จิต คิดกระทำอกุศลกรรมทั้งทางกาย และ วาจา เพื่อโสมนัสเวทนาในขันธ์ ๕ อื่นที่ยึดไว้ว่าเป็น "ลูกของตน" เมื่อโสมนัสเวทนาไม่เกิดตามที่จิตคิดปรารถนา โลภะนั้นเองจึงเป็นเหตุให้เกิดโทสะในภายหลัง เมื่อหลงลืมสติ โมหะก็ปิดบังความจริงไว้เสียมิด จึงเบียดเบียนขันธ์ ๕ อื่นที่ยึดถือเป็น "ลูกของตน" ด้วยความประทุษร้ายทางกาย วาจา ตามกำลังแห่งโทสมูลจิตนั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่ง

"ลูกก็รักใคร่แม่มาก ทุกๆ วันก็แสวงหา "สุข" จากความรักใคร่ในผู้เป็นแม่ไม่เคยขาดมีความยึดมั่นในสุขที่เกิดจากความรักใคร่ และไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากสุขที่เกิดจากความรักใคร่นั้น แต่สุขตามที่ปรารถนาไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวัง เพราะผู้เป็นแม่ไม่อาจทำตามความต้องการของตนได้ทุกประการ จึงหนีไม่พ้นความทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจ ในผู้เป็นแม่"

ความจริง คือ

อีกขันธ์ ๕ หนึ่ง เมื่อรูปต่างๆ ที่มากระทบกับปสาท เช่น เสียงด่า หากขณะนั้นหลงลืมสติไป ไม่ทันคิดว่าเป็นผลแห่งอกุศลวิบากที่จิตจะต้องได้รับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ กิเลสจึงมีช่องทางเกิด เมื่อโมหะปิดบังความจริงไว้ โทสะก็เกิดกับจิต ชักนำให้กระทำอกุศลกรรมทางกาย หรือวาจา เพื่อตอบโต้ เพราะเกิดความขุ่นเคืองใจต่ออีกขันธ์ ๕ หนึ่ง ซึ่งก็ยึดมั่นไว้ว่าเป็น "แม่ของตน" ถ้ายังไม่เห็นโทษของโทสะ ก็จะสั่งสมความเห็นผิดมากขึ้น เมื่อโทสะเกิด ครั้งต่อไปก็จะมีกำลังแรงกว่าเดิม จนอาจถึงขั้นอาฆาตจองเวรกันไม่จบสิ้น เพราะกายวาจา ที่เป็นไปตามกำลังของโทสมูลจิต ยิ่งรุนแรงมากก็ยิ่งไม่เป็นที่น่าปรารถนามาก ความจริงแล้ว เมื่อมี "ตน" ขณะนั้นหลงลืมไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น"ธรรมะ" ธรรมะ อันได้แก่ "สังขารธรรม" ต่างหาก ที่ปรุงแต่งทำให้กรรมนั้นๆ เกิดไม่มีบุคคลใด สัตว์ใด และตัวตนของใคร สร้างให้กรรมต่างๆ เกิดขึ้นได้ เหตุนี้การอบรมเจริญปัญญา จนมั่นคงในความเห็นถูก และมั่นคงในธรรมเพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรขาด เพราะเพียงลืมตาตื่นในแต่ละวัน ธรรมะก็มีให้พิสูจน์แล้ว จึงไม่ใช่เพียงเรื่องราวที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ แต่เป็นทุกขณะจิตที่ประสบกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจครับ


ความคิดเห็น 16    โดย wannee.s  วันที่ 30 ส.ค. 2550

ทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุด คือทดแทนบุญท่าน และที่สำคัญรักษาจิตของตัวเองให้เป็นกุศลค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย พุทธรักษา  วันที่ 1 ก.ย. 2550

กุศลทุกอย่างควรเจริญทันทีที่เหตุปัจจัยถึงพร้อม ไม่เช่นนั้นจะเป็นโอกาสของอกุศล. สติ ปัญญามีหลายระดับ แม้สติขั้นวิรัติทุจริต ก็ไม่ใช่จะเกิดง่าย เช่น โกรธใครแล้วอยากต่อว่าแต่สติเกิด เห็นว่าเป็นอกุศล ไม่ควรเจริญ แล้วไม่ต่อว่า เป็นต้น. การฟังธรรม (ที่ถูกต้อง) ให้เข้าใจฟังสม่ำเสมอ สอบถามข้อสงสัย ด้วยการสนทนาธรรม พิจารณาธรรมว่าตรงหรือไม่ พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ในชีวิตประจำวัน อย่าดูหมิ่นแม้กุศลเพียงเล็กน้อย.


ความคิดเห็น 18    โดย Komsan  วันที่ 2 ก.ย. 2550
เพียรฟังธรรมมะ และสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตร บ่อยๆ นะครับ

ความคิดเห็น 19    โดย Komsan  วันที่ 2 ก.ย. 2550

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 18 โดย Komsan

เพียรฟังธรรมมะ และสนทนาธรรมกับสหายธรรม (ขอแก้ไข จากคำว่า กัลยาณมิตรครับ เพราะในพระไตรปิฎก หมายถึง เพื่อนที่ดีมีคุณธรรมประกอบด้วย ศรัทธา ศีลและ ปัญญาเป็นต้น สามารถแนะนำประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งได้ ดังนั้นในพระไตรปิฎกเมื่อท่านยกตัวอย่าง บุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุดคือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาคือพระอัครสาวก และมหาสาวกผู้อรหันต์ เป็นต้น บุคคลทั่วไปไม่เรียกว่ากัลยาณมิตร ... link ข้อมูลจาก มูลนิธิศึกษา และเผยแพร่พระพุทธศาสนา 04-05/10/2549 เรื่องกัลยาณมิตร หมายถึงเพื่อนที่ดี ไม่เกี่ยวกับทางธรรมได้หรือไม่)

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 20    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 14 ก.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ