[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๖๔
ชื่อว่า อิฏฐารมณ์ (น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (ที่ไม่น่าปรารถนา) ที่แยกกันในโลก ไม่มีเลย แต่ก็พึงจำแนกแสดง. แต่เมื่อจะจำแนก ก็จำต้องยกพระเจ้ามหาสมมติปฐมกษัตริย์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะและพระเจ้าธรรมาโศกราช เป็นต้น จำแนกแยกแยะ จริงอยู่ อารมณ์แม้สำเร็จจากทิพย์ ก็ปรากฏว่า ไม่สมพระทัยของกษัตริย์เหล่านั้น แต่ไม่พึงจำแนกโดยยกเอาข้าวน้ำที่หายากสำหรับคนเข็ญใจอย่างยิ่ง. จริงอยู่คนเข็ญใจอย่างยิ่งเหล่านั้น เมล็ดข้าวสวยปลายเกวียนก็ดี รสเนื้อเน่าก็ดี ก็มีรสอร่อยเหลือเกินเสมือนอมฤตรส.แต่พึงจำแนกโดยยกคนปานกลางเช่นหัวหน้าหมู่มหาอำมาตย์เศรษฐีกุฎุมพีและพ่อค้าเป็นต้น ซึ่งบางคราวก็ได้สิ่งที่น่าปรารถนา บางคราวก็ได้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ก็แต่ว่าสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนานั้น ก็ไม่อาจกำหนดชวนจิตในอารมณ์ได้. จริงอยู่ชวนจิต ย่อมยินดีในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี ยินร้ายในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี. ด้วยว่า วิบากจิตย่อมกำหนดอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา โดยอารมณ์อันเดียวกัน. จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิ เห็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อารมณ์อันโอฬารมีมหาเจดีย์เป็นต้นก็ดี ย่อมปิดตาประสบความเสียใจ ได้ยินเสียงแสดงธรรมก็ปิดหูทั้งสอง แต่จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณก็เป็นกุศลวิบากของพวกเขา. สุกรกินคูถเป็นต้น ได้กลิ่นคูถก็เกิดความดีใจว่าเราจักกินคูถดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นจักขุวิญญาณของมันในการเห็นคูถ ฆานวิญญาณในการดมกลิ่นคูถนั้น และชิวหาวิญญาณในการลิ้มรส ย่อมเป็นอกุศลวิบากโดยแท้.
ขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนา ครับ.