ถ . (ไม่ได้ยิน)
สุ . ทำไมจะสับสนปะปน สิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ก็เลยไม่เข้าใจ เหมือนอย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ทีแรกท่านก็เจริญสมาธิ ท่านไม่สนใจเรื่องวิปัสสนา ท่านไม่สนใจเรื่องสติปัฏฐานเลย ท่านกล่าวว่ายากนัก ขอเลื่อนไปชาติหน้าหรือว่าภพหลังๆ คือ มีการผลัดว่า สมาธิที่ท่านได้เจริญมาแล้ว ท่านถนัดมากกว่าเจริญสติปัฏ-ฐาน แต่เนื่องจากการฟังทำให้ท่านเกิดความสนใจขึ้นในเรื่องวิปัสสนา แต่การฟังของท่านก็ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ซึ่งท่านอาจจะไม่ได้มนสิการพิจารณาถึงความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังอะไรท่านก็รับมาทั้งหมด พอท่านเริ่มที่จะสนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็มาสนทนาด้วย ทำให้ท่านเกิดความสนใจยิ่งขึ้นในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และมีความเข้าใจขึ้นด้วย แต่คำถามของท่านข้อหนึ่ง ท่านกลับถามว่า เวลาที่กำลังได้ยิน ก็ให้รู้ที่หูใช่ไหม
นี่เป็นเรื่องของการจะทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสติที่ระลึกและรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นเสียงกำลังปรากฏ ที่จะทิ้งความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล คือ สติระลึกลักษณะของเสียงเพื่อปัญญาจะได้รู้ในความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่เป็นสัตว์เป็นบุคคลของเสียง เสียงปรากฏ ไม่ต้องคิดถึงหู หรือจะรู้ว่าขณะนั้นที่กำลังรู้เสียง ที่กำลังได้ยินนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น อบรมให้ปัญญารู้ชัด และรู้ทั่วจริงๆ จึงจะละการที่เคยยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนได้
สติ คือ สภาพที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดแล้ว ก่อนที่จะเตรียมตัวเตรียมใจ ถ้ามีการฟัง มนสิการ พิจารณาเหตุผล สติก็สามารถเกิดในขณะไหนก็ได้ ในเมื่อสติเป็นอนัตตา
ขอเชิญรับฟัง
นี่เป็นเรื่องของการจะทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสติที่ระลึก