อวิชชากับสมมติบัญญัติ
โดย Kuat639  12 ก.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48120

อวิชชา เหมือน กับสมมติบัญญัติในแง่ไหน?

อวิชชา แตกต่าง กับสมมติบัญญัติในแง่ไหน?

มนุษย์ถูกอวิชชาและยึดติดในสมมติบัญญัติมานับชาติไม่ถ้วนหรือไม่อย่างไร? คำที่กล่าวว่าหาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้คือสิ่งนี้ใช่หรือไม่อย่างไร? และคำกล่าวว่า มนุษย์ได้รับบทละครที่แตกต่างกันไปคือสมมุติหรือไม่?เพราะความเป็นจริงไม่มีมนุษย์ คน สัตว์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย มีแต่ปรมัตถ์ธรรม..คนสัตว์สิ่งหนึ่งสิ่งใดคือ คิดนึกมโนไปเองแล้วจำต่อๆ กันมาใช่หรือไม่ ... ขอความกระจ่างด้วยครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อวิชชากับสมมติบัญญัติ ต่างกัน
อวิชชา เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพที่ไม่รู้ความจริง เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นผลที่มาจากเหตุ ไม่รู้โดยประการทั้งปวง ความเป็นจริงของอวิชชา ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมทำกิจหน้าที่ไม่รู้ความจริง เมื่อนั้น
ส่วนสมมติบัญญัติไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ เป็นเพียงสิ่งที่จิตคิดนึกถึงเท่านั้น
เมื่อไม่รู้ความจริงก็หลงผิดคิดว่ามีคน สัตว์ สิ่งของจริงๆ หลงติดในสมมติบัญญัติ เพราะไม่ได้เข้าใจความเป็นจริงของธรรมแต่ละหนึ่งๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสะสมอวิชชามาอย่างมากและยาวนาน


ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรมเท่านั้น เมื่อเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ เป็นใครได้อย่างไร เพราะเป็นธรรม ธรรมที่เป็นสภาพรู้ธาตุรู้นั้น มี ๒ ประะภท คือ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น (พร้อมด้วยเจตสิก) ก็ย่อมรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ โดยที่จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป ชีวิตประจำวัน จิต (และเจตสิก) จึงรู้ได้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เช่น สี เสียง เสียง กลิ่น รส กุศล อกุศล เป็นต้น ส่วนสมมติบัญญัติ ไม่มีมีจริง จิตรู้สมมติบัญญัติได้โดยจิตคิดถึง ชื่อสัณฐาน เรื่องราวของปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม จึงไม่ใช่การทิ้งสมมติบัญญัติ แต่เข้าใจความเป็นจริง ในความเป็นสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงๆ เพราะมีสภาพธรรมเท่านั้น จึงมีการหมายรู้กันว่าเป็นอะไร เช่น ที่กล่าวว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ก็เพราะมีธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ Kuat639 และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ