พระบวชใหม่
โดย ที่พึ่งที่ระลึก  30 พ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18454

พระบวชใหม่ เมื่อเสร็จพิธีการบวชในพระอุโบสถแล้ว หลังจากนั้นมีญาติโยมนำ

ปัจจัย (เงิน) ใส่ซองมาร่วมทำบุญโดยใส่ในย่ามของพระที่บวชใหม่ จึงขอเรียนถามว่า

ปัจจัย (เงิน) ที่อยู่ในย่ามของพระที่บวชใหม่ พระที่บวชใหม่สามารถเทออกจากย่าม แล้วให้

กับผู้ที่จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในงานบวชได้หรือไม่ ทั้งนี้หากการทำดังกล่าวไม่ถูกต้องพระที่

บวชใหม่ควรทำอย่างไรกับปัจจัย (เงิน) ดังกล่าวครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระบวชใหม่ถ้ารู้พระวินัยแล้ว เมื่อใครจะถวายปัจจัย มีเงินและทองอันเป็นของที่ไม่สมควรกับพระภิกษุ พึงปฏิเสธ แต่เมื่อรับเงินทองมาแล้ว การจะสละ ไม่ใช่การเทเงินออกจากย่ามแล้วให้ผู้จัดการหรือไวยาวัจรกรจัดการครับ ที่ถูกในการสละเงินทองเมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว การรับเงินและทอง การยินดีในเงินและทองที่มีตัวเองมีอยู่ เป็นอาบัติ เมื่ออาบัติแล้วจะต้องไปแสดงอาบัติกับสงฆ์ มีพระภิกษุที่แก่พรรษากว่าและเมื่อแสดงอาบัติแล้ว จึงสละเงินทองที่ได้มาท่ามกลางสงฆ์ครับ ถ้ามีผู้ที่เป็นไวยาวัจกรเดินผ่านมาแล้วถามว่าท่านจะให้นำเงินและทองสิ่งนี้นำอะไรมา ไม่ควรบอกว่าให้นำอะไรมา แต่บอกของที่เหมาะสม คือให้นำ น้ำออ้ย น้ำผึ้ง เป็นต้น ถ้าไมได้ก็ให้ไวยาวัจกรนั้นทิ้งเงินนั้นไปแต่ถ้าไม่มีผู้เดินผ่านมาที่เป็นไวยาวัจกร เป็นต้น ท้ายสุด ก็ให้สมมติภิษุ 5 รูป ทิ้ง เงินและทองนั้นครับ แต่ไม่ใช่ว่าไปพาไวยาวัจกรมาก่อนนะครับ ต้องเดินผ่านมาพบเท่านั้นครับ

การบวชเป็นเพศบรรพชิตแล้วก็ควรขัดเกลากิเลสและประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วยความเคารพศึกษาพระธรรมด้วยครับ ต่อไปก็ไม่ควรรับเงินและทองอีกครับ ปฏิเสธได้ครับและศึกษาพระธรรมวินัย ขออนุโมทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... วิธีการสละเงินทองของพระภิกษุ [มหาวิภังค์]

ทองและเงิน ไม่ควรแก่สมณศากยบุตร [มณิจูฬกสูตร]

พระบัญญัติเกี่ยวกับเงินและทอง [มหาวิภังค์ ]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 2    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ 1. ในกรณีที่ญาติโยมจะนำเงินใส่ซองมาร่วมทำบุญให้พระบวชใหม่ แล้วพระบวชบวชใหม่ไม่รับ แต่พระบวชใหม่สามารถบอกญาติโยมว่า ถ้าประสงค์จะร่วมทำบุญในการบวชครั้งนี้สามารถนำปัจจัยไปร่วมทำบุญกับผู้ที่จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการบวชนี้ได้หรือไม่ครับ 2. การบวชพระปัจจุบันถ้ามีอัฐบริขารไม่ครบได้หรือไม่ เช่น ไม่มีเครื่องกรองน้ำ ไม่มีเข็มและด้าย เป็นต้น เพราะบวชไม่ถึง 1 เดือน เพราะพระทีวัดบอกว่าอัฐบริขารไม่ต้องครบก็ได้เพราะของบางอย่างก็ไม่ได้ใช้แล้ว / อนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอน้อมน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ ๑. จากความคิดเห็นที่ ๑ ได้อธิบายแล้วว่า พระภิกษุ ไม่พึงรับเงินและทอง ถ้าหากรับแล้ว เป็นอาบัติ ต้องปลงอาบัติด้วยการสละตามพระวินัย แล้วไม่พึงรับเงินและทองอีก พร้อมทั้งต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจด้วย จากประเด็นคำถามที่ ๑ นั้น เมื่อมีคหัสถ์นำเงินมาถวาย อย่างแรกที่สุด คือ พึงปฏิเสธ คือ ไม่รับ ไม่รับอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าคฤหัสถ์ถามว่า ควรทำอย่างไร? ก็สามารถแนะนำในแนวทางที่ถูกต้องได้ในทางที่เป็นกุศล ๒. บริขารที่ำสำคัญจริงๆ ในการบวช คือ บาตร และ ไตรจีวร (ซึ่งเป็นผ้า ๓ ผืน ได้แก่ ผ้าอันตราวาสก-ผ้านุ่ง,ผ้าอุตราสงค์ -ผ้าห่มหรือที่รู้จักกันว่าผ้าจีวร และผ้าสังฆาฎิ-ผ้าห่มซ้อน) ถ้ามีพร้อมแล้ว ก็สามารถบวชได้ ที่สำคัญ คือ บวชเพื่ออะไร?เพราะในสมัยครั้งพุทธกาล กุลบุตรผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน มีความประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์ อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต เพื่อความเป็นพระอรหันต์ จึงออกบวช ด้วยการสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน เป็นต้น ไม่มีการกำหนดว่าจะบวชกี่วัน แล้วจะลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ (ขอขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญ ที่ได้ให้ความเข้าใจเพิ่มเิติม ครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิิติมได้ที่นี่ ครับ

พระบวชใหม่

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 30 พ.ค. 2554

ตามคำถามในความคิดเห็นที่ ๒ เรื่องบริขารไม่ครบ บวชได้หรือไม่ กระผมมีความคิดเห็นว่า ควรจะยึดหลักเดิมของพระธรรมวินัยไว้ก่อน คือแสวงหาหรือจัดหาให้ครบตามที่พระวินัยกำหนด

ถ้าผ่อนลงมาว่ามีแค่ผ้าไตรจีวรก็บวชได้ ต่อไปก็คงมีคนผ่อนลงไปเรื่อยๆ เช่นอ้างว่าผ้าสังฆาฏิใช้พาดบ่าเท่านั้น พาดทำไมไม่เห็นมีความจำเป็นเลย มีแค่สบงกับจีวรก็พอแล้ว และต่อไปก็จะมีข้ออ้างทำนองนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ ตามความเห็นหรือความต้องการของแต่ละสำนักหรือแต่ละอาจารย์ โดยอ้างว่าสภาพของสังคมเปลี่ยนไป จนในที่สุดก็จะไม่เหลือหลักเดิมของท่าน ดังที่ปรากฏอยู่แล้วในนิกายมหายาน

การแสวงหาบริขารให้ครบ ไม่ใช่กิจที่เกินวิสัยสามัญของมนุษย์หรอกครับ

กระผมเห็นว่า ถ้าเราเลื่อมใสในหลักการของเถรวาท ก็ควรจะต้องคงของเดิมไว้ให้ถึงที่สุด ขอได้โปรดระลึกถึงพระพุทธานุญาตที่ให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แล้วระลึกต่อไปอีกด้วยว่า พระเถระอรหันต์ ๕๐๐ ที่เป็นบรรพบุรุษของเถรวาทท่านลงมติในพระพุทธานุญาตไว้แล้วว่า "ไม่ถอน" ขอความกรุณาช่วยกันศึกษาเหตุผลที่ท่านไม่ถอนกันให้ลึกซึ้ง จะเห็นแสงสว่างว่าทำไมจึงสมควรที่จะต้องดำรงหลักการเดิมไว้

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านถวายเงินกับพระตรงๆ เลยนั้น กระผมมีความเห็นว่า เป็นการฟ้องระบบการศึกษาพระพุทธศาสนาในบ้านเราว่าย่อหย่อนอ่อนแออย่างยิ่ง ถ้าเราสอนคนของเราให้รู้หลักการทางพระวินัยของพระสงฆ์กันเป็นอย่างดี การถวายเงินตรงๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้พระพระสงฆ์ออกบิณฑบาตเงินเหมือนกับบิณฑบาตอาหารกันแล้ว ก็เพราะมีคนใส่ คนใส่ก็เพราะไม่รู้ว่าผิดวินัย ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้รับการศึกษาเรื่องวินัยของสงฆ์ และไม่ได้รับการศึกษาเรื่องทำบุญให้ถูกวิธี

กรณีมีผู้ถวายเงิน ที่ท่านผู้รู้แนะให้ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดนั้น ดีมากๆ ครับ ต้องยืนหยัดในหลักการของพระธรรมวินัย และจะดีมากยิ่งขึ้นถ้าเราช่วยกันอบรมสั่งสอนคนที่ชอบเอาเงินถวายพระตรงๆ ให้เข้าใจวินัยของพระ และให้เข้าใจว่าการทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ว่าจะต้องเอาเงินถวายพระจึงจะได้บุญ มีอีกตั้งหลายวิธีที่ได้บุญด้วยและไม่ผิดพระธรรมวินัยด้วย

มาช่วยกันสอนชาวบ้านให้รู้จักวินัยของพระ โดยเฉพาะเรื่องที่ชาวบ้านจะต้องเกี่ยวข้องด้วยกันเถอะครับ เริ่มจากตัวเราเองก่อน แล้วก็คนใกล้ตัว แล้วก็มิตรสหาย ขยายไปเรื่อยๆ วิธีนี้ทำได้ทันทีเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอจัดทำเป็นหลักสูตร หรือมัวคิดในสิ่งที่ยังทำไม่ได้ (ส่วนที่คิดแล้วทำได้ด้วยก็ช่วยกันคิดไป)

กระผมว่า ช่วยกันตั้งกระทู้เรื่องแบบนี้กันมากๆ ก็เป็นการศึกษาอบรมอีกวิธีหนึ่งนะครับ ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง


ความคิดเห็น 5    โดย ที่พึ่งที่ระลึก  วันที่ 31 พ.ค. 2554
ขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกท่านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 31 พ.ค. 2554

การบวชเป็นเพศบรรพชิตทำได้ยาก บวชแล้วยินดีในเพศบรรพชิตทำได้ยากกว่า เช่น พระจิตหัตถิสารีบุตร ท่านบวชแล้วก็สึกบ่อย ๆ 7 ครั้ง ภายหลังท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านได้สะสมบารมีมาและเหตุปัจจัยพร้อมค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย lovedhamma  วันที่ 15 มิ.ย. 2554

การครองเพศบรรพชิตนั้น ย่อมยากกว่าการอยู่เป็นคฤหัสถ์ เพราะแม้แต่คิดว่า "เมื่อไหร่จะได้ลาสิกขาๆ " ก็ถือเป็นบาปหนักแล้ว เพราะฉะนั้น การบวชที่ดี ควรเป็นผลมาจากการสะสมบารมีและเหตุปัจจัยให้พร้อม แล้วจึงบวช เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ นะครับ