ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..
เรื่อง สัทธาสูตร ... ว่าด้วยศรัทธา
ข้อความเตือนสติจาก
ชั่วโมงสนทนาพระสูตร
ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน
สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร
1. อรรถของศรัทธา
ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ในกรรม และผลของกรรมในคุณความดี ปรุงแต่ง ให้จิตตุปาท คือ จิต เจตสิกขณะนั้นผ่องใส
2. ลักษณะของศรัทธา
แก้วมณีไล่มลทินฉันใด ศรัทธานั้นข่มนิวรณ์ ระงับกิเลส ทำจิตให้ผ่องใส เมื่อศรัทธาเกิดต้องผ่องใสด้วยโสภณธรรมขณะที่ให้ของหรือช่วยเหลือ ปราศจากความขุ่นใจในผู้รับ เห็นแก่ประโยชน์คนรับไม่เห็นแก่ตัว ไม่ติดข้องในสิ่งของหรือผลได้ มีเมตตา กรุณา สภาพของจิตที่ปราศจากอกุศลนั้น สะอาด ผ่องใส เพราะศรัทธาเจตสิก เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมอย่างหนึ่งเกิดดับ เร็วมาก ไม่ต้องเรียกชื่อ
3. ความเจริญขึ้นของศรัทธา
ศรัทธา ความผ่องใสมีหลายระดับ ถึงความเป็นอินทรีย์ เมื่อรู้ลักษณะธรรมตามความเป็นจริง เพราะกระทบสัมผัสทั้งวัน เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรา ไม่ใช่สัทธินทรีย์ จนถึงขั้นเห็นถูกตามความเป็นจริง ผ่องใสจากความไม่รู้ จนกว่าจะเป็นโลกุตตรศรัทธา ผ่องใสอย่างยิ่ง เพราะมีธาตุไม่เกิดดับเป็นอารมณ์ ที่ความเห็นผิดเป็นเรา สงสัยคุณพระรัตนตรัยตลอดสังสารวัฏฏ์จะถึงความหมดเชื้อ สิ้นสุด
4. ความเกี่ยวข้องของ ศรัทธาเป็นเพื่อนสอง และ ความไม่ประมาท
ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของคน
ขณะนี้เป็นธรรม มีอะไรเป็นเพื่อนสอง ถ้าโสภณธรรมเกิด ศรัทธาเป็นเพื่อนสอง มาโลกนี้ก็ด้วยศรัทธา เพราะเป็นผลของกามาวจรกุศล แต่ยากที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นศรัทธา เพราะลึกซึ้ง หลายนัย เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อละคลายความเป็นเรา โดยรู้ว่าเป็นธรรม และถ้าเพื่อนไม่อยู่ โลภะก็เป็นเพื่อนแทน
อรรถของความไม่ประมาท
ทุกอย่างที่ไม่ดี เกิดจากความประมาททั้งหมด ไม่ประมาท คือ ฟังแล้ว ฟังอีก ว่าขณะนี้เป็นธรรม ละความไม่เข้าใจ ที่มีแต่ชื่อปิดบังไว้ เข้าใจมั่นคงขึ้นด้วยความละเอียด พิจารณารู้ความจริงของธรรมซึ่งเกิดดับ หลากหลาย ทุกนัย ทั้งขันธ์ ธาตุ อายตนะโดยประการทั้งปวง เมื่อปัญญามีกำลัง จึงสามารถละเยื่อใยความติดข้องได้
ความไม่ประมาท เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ของธรรมในขณะนี้ คือ ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะความประมาท คือ ฟังว่ามีจิต เจตสิก แต่ไม่รู้ว่ามี
เหตุของศรัทธา
คบสัตบุรุษ ฟังธรรมด้วยความเคารพ แม้เหตุของการฟังธรรม คือ ไม่ประมาท เพราะเห็นประโยชน์ของการฟัง จึงมีศรัทธาฟัง เหตุเสื่อม คือ ไม่คบสัตบุรุษ ไม่ฟังธรรม
“บุคคลอย่าตามประกอบความประมาท และอย่าตามประกอบความสนิทสนมด้วยอำนาจความยินดีในกาม”
กุศลใดไม่ขัดเกลาอวิชชา กุศลนั้นไม่อาจออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ กุศลขั้นสูงแม้ทำให้เกิดในสวรรค์ แต่ยังเป็นสังสารวัฏฏ์ จุติจากสวรรค์ อุบัติในนรกทันทีแล้วประมาทได้หรือไม่ ไม่ใช่พระอริยบุคคล ถึงเวลาใครก็ช่วยไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ที่ทำความดี เป็นคนดี ไม่ประมาท
5.อรรถของ “รักษาความไม่ประมาท เหมือนบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐ”
คือ เห็นคุณค่าพระธรรม มีศรัทธาฟัง ไตร่ตรองด้วยด้วยความละเอียด รอบคอบเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อทำ ไม่เจาะจงรู้ เป็นผู้รับมรดกของพระธรรม ผู้มีโอกาสได้ ยินได้ฟัง ต้องรักษามรดกนี้ไว้ คือ ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะยากที่จะเข้าใจธรรมนี้ได้ต้องฟังมานาน ไม่เฉพาะชาตินี้
6. สติไม่เจาะจงรู้
อบรมความเข้าใจถูก ขณะนี้มีเห็น มีได้ยิน สติสัมปชัญญะเกิดก็รู้สิ่งที่เกิดในขณะนั้นไม่ใช่ให้รู้สิ่งที่ยังไม่เกิด หรือเจาะจงรู้ เช่น สัทธินทรีย์ หรือ สัทธาพละ แม้ขณะนี้เป็นธรรม ยังยากที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อกุศลจิตเกิด คิดทำประโยชน์แก่ผู้อื่นๆ มีศรัทธา แต่ไม่รู้ว่าศรัทธาเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องรู้ความเป็นธรรมที่มีในขณะนี้ ไม่ใช่พยายามไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะอนัตตา คือ คาดหวังไม่ได้ว่าอะไรปรากฏ
7. ตลอดชีวิต เป็นธรรม
ธรรมก็เป็นอย่างนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เมื่อมีผู้ที่สามารถแสดงให้เริ่มเข้าใจได้ จะทอดทิ้งหรือไม่ เพราะตลอดชีวิตก็คือธรรมทั้งหมด ย่อยลงไปแต่ละขณะ จะไม่พ้นจากธรรม แต่ละประเภทเลย ทรงแสดงความจริงของธรรม เพื่อให้เกิดศรัทธา รู้คุณค่าและประโยชน์ของการฟังเข้าใจ เมื่อเข้าใจจึงสามารถเห็นพระคุณของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
8. ชอบเพื่อนคนไหน
ชอบเพื่อนที่เป็นโลภะ เพราะชอบ คือ โลภะ เป็นเพื่อนตามไปตลอด
9. กิเลสเป็นเครื่องข้อง
กิเลสเป็นเครื่องข้อง โดยนัย ๕ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ (มิจฉาทิฏฐิ) กิเลสเป็นเครื่องข้อง โดยนัย ๗ รวม กิเลส และ ทุจริต ความเกี่ยวข้องย่อมมีอยู่เรื่อยๆ ด้วยความไม่รู้
10. ความหมายของอุปนิชฌาน ๒
อุปนิชฌาน คือ การเพ่ง การเผา การเข้าไปเผา
อะไรเพ่งอะไร อะไรเผาอะไร
ปัญญาเพ่งเผากิเลส กุศลฌานเผาธรรมฝ่ายอกุศล
เพ่งคืออะไร เพ่งเมื่อไร เพ่งอย่างไร เพ่งทำไม
เพ่งเพื่อเห็นความจริง อยู่ดีๆ คงไม่เพ่ง คงผ่านไป เช่น ภาพเสือขนเหมือนจริง เป็นภาพปัก หรือ ภาพเขียน ต้องเพ่งจึงรู้ความจริง
อารัมมณูปนิชฌาน คือ อารมณ์ที่สามารถทำให้ จิตเป็นกุศล ไม่ติดข้อง ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยระดับของปัญญาที่ รู้ว่ากุศลจิตจะเกิดได้เพราะอะไร
ลักขณูปนิชฌาน คือ พิจารณาเข้าใจลักษณะที่มีจริงในขณะนั้น เป็นการเผาปฏิปักษ์ธรรมโดยการเห็นถูกว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ
11. การเจริญอุปนิชฌานที่เผาผลาญธรรมฝ่ายอกุศล
ปัญญาสำเร็จจากการฟังเจริญขึ้น วันหนึ่งจะถึงการประจักษ์แจ้งความจริงตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง ไม่คาดเคลื่อน
ฝ่ายอารัมมณูปนิชฌาน เผาอกุศลด้วยการรู้อารมณ์ ที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะกุศลเกิดเพราะเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง ผู้มีปัญญารู้หนทางที่จะละ หรือเผาความติดข้องที่ทำให้เกิดอกุศลจิต ด้วยโสภณสมาธิมีกำลังมั่นคง เป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิต ที่ทำให้ไม่รู้อารมณ์ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชั่วคราว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด
ฝ่ายลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปนิชฌาน เผากิเลสด้วยความรู้ลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่อกุศลไม่เกิด รู้ความจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสติปัฏฐานอบรมถึงเฉพาะลักษณะตามความเป็นจริง จนกระทั่งรู้ชัดวิเสสลักษณะ และสามัญลักษณะที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับ
เผาทำไม
ทรงสอนให้เผากิเลส กิเลสถ้าไม่ถูกเผา เผาไม่หมด ตัดก็ไม่หมด ก็งอกขึ้นมาอวิชชาละยาก ถ้าไม่ถึงการเผาก็ไม่มีทาง แค่ระงับ ก็เกิดอีกได้
ไฟที่แท้จริง
ฌานระงับกิเลสชั่วคราวตามกำลัง แต่ปัญญาเห็นถูกตามเป็นจริงเหมือนไฟ ไฟแม้เล็กน้อยไม่อาจเผาบ้านเมืองได้ แต่อวิชชาที่สั่งสมมาในสังสารวัฏฏ์ประมาณไม่ได้ หนาแน่นกว่าบ้านเมือง ที่จะหมดด้วยการเผา ต้องเป็นปัญญาระดับขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
เริ่มต้นเผาอย่างไร // อุปถัมภ์การเผา
กุศลภาวนา คือ อบรมกุศล มั่นคงที่จะดำเนินชีวิตด้วยคุณความดี เพราะทุกอย่างที่เกิดสั้นชั่วคราว แต่คุณความดีเท่านั้นตามไปได้ และเป็นอุปนิสสยปัจจัยอุปการะที่จะเผากิเลส ซึ่งยิ่งกิเลสมากยิ่งเผายาก เริ่มแต่ตอนนี้คือเผาและจากโลกนี้ไปเป็นคนดี มีค่าที่สุด
12. ความเกี่ยวข้องของชีวิต และ ปัญญา
ใครไปเกิดในสวรรค์ // การพ้นสภาพบุคคลนี้
ไม่ใช่เราที่อยู่ตรงนี้ ไม่มีทาง เพราะสิ้นสุดจากบุคคลนี้ ไม่เหลือเลย หายไปเลย ถ้าเกิดอีกก็ไม่ใช่คนนี้ แต่กัมมชรูปและวิบากจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ เป็นบุคคลนี้ได้เพียงเท่าที่กรรมยังทำให้เป็นบุคคลนี้อยู่ แล้วก็จะหายไปจากโลกนี้ รวมทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ทุกข์ สุข ญาติพี่น้อง วงศาคณาญาติไม่เหลือเลย
ความเล็กน้อยของความสุข
ความรู้สึกสุขที่ได้มา สั้นเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบกับทุกข์ อุปมาเหมือน “เห็นการร่ายรำด้วยแสงฟ้าแลบ” สั้นแสนสั้น อกุศลจิตที่เกิดดับร่ายรำไปถึงไหนสารพัดทิศ สารพัดเรื่อง แสนสั้น จากโลกนี้ ลืมทุกอย่าง ไม่เป็นคนนี้อีกเลย
ประโยชน์ของความรู้
มีศรัทธาเห็นประโยชน์ คือ คุณค่าของการที่ชีวิตอยู่เพียงชั่วคราว ถ้าจากไปโดยไม่รู้อะไร ก็เหมือนหลงในความมืด
13. อรรถของ “วัฏฏะของสัตว์ผู้ประมาทแล้วกำหนดไม่ได้ แล้วก็วัฏฏะของผู้ไม่ประมาท กำหนดได้ [1]”
ตั้งแต่เกิดจนตายเต็มไปด้วยคำที่ไม่รู้ เช่น จิต คนใช้พูดกันทั้งวัน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร มาและไปด้วยความประมาท ผู้ไม่ประมาทคือฟังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่คิดเอง ความเข้าใจถูกเหมือนเชื้อไฟ ทำให้เกิดไฟกองใหญ่เผาผลาญอวิชชาที่มีในสังสารวัฏฏ์ได้
14. ตอนนี้เกิดใหม่หรือยัง
จิตเกิด ดับ ใหม่หมด ไม่มีจิตเก่ากลับมาเกิดเลย จิตเก่าๆ ที่เต็มไปด้วยความไม่รู้และติดข้อง จิตใหม่ฟังธรรมแล้วเข้าใจขึ้น เกิดใหม่โดยนัยของบรรพชาอุปสมบท ละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิต ในฐานะที่ไม่ใช่บรรพชิต คือ จากอวิชชา เริ่มเกิดเป็นวิชชา จนกว่าจะเติบโตขึ้น ละเยื่อใยความไม่รู้
15. วิบากที่มีศรัทธาเกิดร่วมด้วย
วิบาก คือ นามธาตุเป็นผลที่สุกงอมแล้ว เกิดเพราะนานักขณิกกัมมปัจจัย ซึ่งสัทธาเจตสิกจะเกิดกับวิบากที่ดีเท่านั้น
วิบากที่ดี คือ โสภณวิบาก เพราะชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ พร้อมด้วยโสภณเจตสิก มีภวังคจิตดำรงภพชาติ จนกว่าจะถึงจุติจิตในภพนั้น ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกประเภทเดียวกัน
วิบากที่ไม่ดี คือ อกุศลวิบาก เพราะชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ วิบากอื่นๆ ที่เป็น ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมพณจิต
ประโยชน์ของการรู้อย่างนี้ คือ ความจริงเป็นอนัตตา ไม่ต้องทำอะไร ธรรมก็เป็นธรรม เป็นอย่างนี้ ตถลักษณะ [2]
ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร
16. ความทึกทัก สรุปว่ารู้ตรงลักษณะสภาพธรรม
ตรงคืออะไร
ทำไมต้องทึกทักในเมื่อขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น แสดงให้เห็นว่าเพื่อนสองมาแล้ว เข้าใจก็คือเข้าใจ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ
ตัวตนหรือสติปัฏฐาน
ฟังแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่มีจริงเป็นรูปธรรมเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ ธรรมอื่นแม้ทั้งหมดไม่สามารถปรากฏให้เห็นได้ สิ่งที่ปรากฏต้องเกิดดับแล้ว ทันทีที่เห็นจำสิ่งที่ปรากฏอย่างเร็ว เข้าใจเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จนรู้ว่าเป็นคน ความต่างของคน ชื่อ เร็วแค่ไหน ถ้าเป็นปัญญา สามารถรู้จริงโดยไม่ทึกทัก แทนที่จะเป็นดินสอ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา แข็ง และความคิดนึก
ปัญญาที่เจริญขึ้น
เมื่อปัญญาคมประจักษ์แจ้งลักษณะเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ ถอนการยึดติดความเป็นเรา หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือความต่างกันของวิชชา และ อวิชชา จากอัตตสัญญา ก็เป็น อนัตตสัญญา จนกระทั่งปัญญามีกำลังยิ่งถึงขั้นประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ตรงตามวาระจิตที่ทรงแสดง
17. ความต่างระหว่างมีสติ และไม่มีสติ
เดี๋ยวนี้จับสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา หรือว่า แข็งกำลังปรากฏความจริง คือ แข็งปรากฏแล้วไม่กลับมาอีก
18. เหตุปัจจัยให้เลิกหวัง
เลิกหวังเป็นคำพูดง่าย ต้องรู้ก่อนว่าหวังอะไร รู้ว่าหวังคืออะไร ถ้าหวังไม่มีกิเลสกำลังพูด กำลังทำ เป็นกิเลสหรือไม่ ทุกอย่างต้องรู้ด้วยประการทั้งปวงเข้าใจกับอยากรู้มากๆ ต่างกันหรือไม่ ค่อยๆ เข้าใจเป็นหนทางเดียวที่ละความหวัง
19. ความต่างของสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา
เพราะกำลังฟังจึงสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เป็นปัญญาสำเร็จจากการฟัง ไม่ใช่คิดเอง เมื่อพูดถึงสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเข้าใจ เช่น จิต เป็น นามธรรม เป็นธาตุที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม ต้องอาศัยการคิดเวลาพูด เป็นจินตามยปัญญา ขณะที่กำลังเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น อบรมทีละเล็ก ทีละน้อย เป็น ภาวนามยปัญญาเกื้อกูลกัน ถึงมีภาวนามยปัญญา ก็ต้องอาศัยการฟัง แม้พระอรหันต์ดับกิเลสแล้วยังฟังพระธรรม
[1] ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
[2] ตถลักษณะ หมายถึง สัจจะ๔ คือ ทุกขสัจจ์ สมุทยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุญาตเรียนถามท่านวิทยากรเพิ่มเติม ดังนี้ค่ะ.
๑. "ศรัทธา" มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วความเชื่อ และความเลื่อมใสในศาสนาอื่นนั้น คือ "ธรรม" อะไร
๒. จากบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา มาเป็นบุคคลผู้มีศรัทธา เกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ
๑. ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ศรัทธา เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ไม่ได้จำกัด ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลงคือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา เช่น ผู้มีศรัทธาเป็นผู้ปรารถนาพบผู้มีศีล ยินดีในการฟังธรรม และกำจัดความตระหนี่ ยินดีในการให้ทานด้วย อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ ศรัทธา มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ เมื่อมีความเลื่อมใส ก็จะต้องมีที่ตั้งให้เกิดความเลื่อมใส สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดีงาม เช่น เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระอริยสงฆ์ แต่ถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ดี เลื่อมใสในสิ่งที่ผิด ในลัทธิอื่น เช่น เลื่อมใสในบุคคลที่เห็นผิดมีความประพฤติปฏิบัติผิด เลื่อมใสในความเชื่อความเห็นที่ผิด เป็นต้น อย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะของศรัทธา การเลื่อมใสในสิ่งที่ผิด เป็นอกุศลไม่ใช่กุศล ดังนั้น จึงไม่ใช่ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา เพราะศรัทธาจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล
๒. สำหรับเหตุให้เกิดศรัทธา นั้น ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้หลายนัย เช่น การคบสัตบุรุษ การฟังธรรมของสัตบุรุษ ย่อมทำให้เกิดศรัทธา หรือ การเว้นจากบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา การคบบุคคลผู้มีศรัทธาและการพิจารณาธรรมที่เป็นพระธรรมที่ทำให้เกิดศรัทธา ก็เป็นปัจจัยให้ศรัทธาเจริญขึ้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่พ้นจากการฟังพระธรรมเลย เพราะการฟังพระธรรมนี้เองจะนำมาซึ่งการเจริญขึ้นแห่งศรัทธา จากที่ไม่มีศรัทธาแล้ว เป็นผู้มีศรัทธา กล่าวได้ว่าเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ เพราะเป็นไปในทางที่เป็นกุศล ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น