ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสอินทรีย์อคุตตทวารตาทุกะ ข้อ ๑๓๕๒ อธิบายในนิทเทสแห่งความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีข้อความว่า
คำว่า เป็นผู้ถือนิมิต คือ ย่อมถือนิมิตว่า หญิง ชาย
ใช้คำว่า นิมิต (รูปร่าง สัณฐาน) ในขณะที่ถือว่าเป็นหญิงชาย แสดงว่าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ขณะใดที่รู้ว่าเห็นหญิงเห็นชาย ขณะนั้นถือนิมิต หรือบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่รู้แต่ปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่มีบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต คือ ย่อมถือนิมิตว่าหญิงชาย หรือนิมิตอันเป็นวัตถุแห่งกิเลส มีสุภนิมิต เป็นต้น ด้วยอำนาจฉันทราคะ ถ้าชอบบัญญัติ คือ เข็มขัด ก็หมายความว่าเข็มขัดนั้นมีสุภนิมิต จึงเกิดความชอบด้วยอำนาจฉันทราคะ ถ้าเข็มขัดไม่สวย ไม่ใช่สุภนิมิตก็ไม่ชอบ ฉะนั้น สีที่ปรากฏทางตาจึงมีบัญญัติต่างๆ คือ สุภนิมิต และอสุภนิมิต
ข้อความต่อไปมีว่า คำว่า เป็นผู้ถืออนุพยัญชนะ คือถืออาการอันต่างด้วยมือ เท้า การยิ้ม การหัวเราะ การเจรจา การมองไป และการเหลียวซ้ายแลขวา เป็นต้น (อนุพยัญชนะเป็นส่วนละเอียดปลีกย่อย) ซึ่งได้โวหารว่า "อนุพยัญชนะ" เพราะเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือกระทำกิเลสให้ปรากฏ
ที่ได้โวหารว่า "อนุพยัญชนะ" เพราะเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือกระทำกิเลสให้ปรากฏ ฉะนั้น จึงเข้าใจอนุพยัญชนะได้ไม่ยาก
ที่ว่าชอบเข็มขัดนั้น เพราะนิมิตและอนุพยัญชนะด้วย ถ้าเข็มขัดเหมือนกันหมด ไม่ทำให้วิจิตรต่างๆ กัน อนุพยัญชนะก็ไม่ต่างกัน แต่เข็มขัดก็มีมากมายหลายแบบ ต่างกันด้วยอนุพยัญชนะ ฉะนั้น อนุพยัญชนะจึงเป็นเครื่องปรากฏของกิเลส คือ ทำให้กิเลสประเภทต่างๆ เกิดขึ้น
ถ. ถ้าไม่ให้ติดในบัญญัติ ก็เกรงว่า ก็เลยไม่ทราบว่านี่คือปากกา
สุ. นั่นผิด เพราะไม่ใช่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้วดับไป แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้บัญญัติต่อ ปัญญาต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารเป็นอย่างไร ต่างกับขณะที่จิตรู้บัญญัติอย่างไร จึงสามารถที่จะะละคลายการยึดถือรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุที่ตั้งของความพอใจ และรู้ว่าในขณะที่เห็นเป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ นั้น เป็นการรู้นิมิตหรือบัญญัติทางมโนทวาร ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานและยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เมื่อยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ. อาจารย์บอกว่า บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ชนิดหนึ่งใช่ไหม
สุ. บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจทางเดียวเท่านั้น
ถ. แล้วธัมมารมณ์นี้ถ้าจะเป็นปรมัตถอารมณ์
สุ. ธัมมารมณ์มี ๖ ประเภท เป็นปรมัตถธรรม ๕ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ๑ ฉะนั้น จะรู้ได้ว่าขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ก็คือขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ