มุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เป็นเท็จ เจตนาหลอกลวงให้ผู้อื่นรู้ในคำไม่จริงนั้น
เชิญคลิกอ่าน...มุสาวาทและองค์ของมุสาวาท
เชิญคลิกอ่าน...มุสาวาทมีด้วยอาการ ๓ อย่าง
พระผู้มีพระภาคฯ ได้ตรัสกับท่านพระราหุลว่า "ไม่ควรกล่าวมุสา แม้เพียงเพื่อหัวเราะกัน
เล่น"แสดงว่าอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเลยนั้น เป็นอันไม่มี ย่อมสะสม
สืบต่อเป็นอุปนิสสยปัจจัย และพร้อมที่จะแสดงตนเมื่อประสบโอกาส
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ มีประโยชน์มากจริงๆ
อนุโมทนาค่ะ กำลังตามหาอ่านเรื่ององค์ของกรรมบถอยู่ค่ะ เมื่อสักครู่เพิ่งอ่านเรื่องผิดศีลแล้วทำอย่างไร ได้ตามหน้ากระดานสนทนาเก่าไปพบองค์ของการพูดเพ้อเจอ และอยากทราบทุกองค์ของกรรมบถค่ะ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ ขอบคุณค่ะ
มุสาวาทา เวรมณี คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ ความมุ่งหมายในการทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ คือ เพื่อป้องกันการทำลายประโยชน์ของตนและผู้อื่นด้วยการพูดเท็จ และให้เป็นคนมีสัจจวาจา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายสิกขาบทข้อนี้ว่ามีข้อห้ามและขอบเขตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องเว้นเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ
๑. มุสาวาท ๗ วิธี (การแสดงเท็จ หรือลักษณะแห่งมุสาวาท) ท่านประมวลไว้มี ๗ วิธี คือ
๑. ปด ได้แก่การโกหกชัดๆ ไม่รู้ว่ารู้ ไม่เห็นว่าเห็น ไม่มีว่ามี เป็นต้น
๒. ทนสาบาน คือ ทนสาบานเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าตนไม่เป็นเช่นนั้น จะด้วยวิธีแช่งตัวเองหรือด้วยวิธีนั่งนิ่งเมื่อถูกถามก็จัดเป็นทนสาบาน
๓. ทำเล่ห์กะเท่ห์ ได้แก่การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินความจริง เช่น อวดวิเศษเรื่องใบ้หวยโดยไม่รู้จริงเห็นจริงเป็นต้น
๔. มายา แสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น ไม่เจ็บทำเป็นเจ็บ เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมากเป็นต้น
๕. ทำเลศ คือไม่อยากจะพูดเท็จ แต่พูดเล่นสำนวน พูดคลุมเครือให้ผู้ฝังคิดผิดไปเอง เช่น เห็นขโมยวิ่งผ่านหน้าไปไม่อยากบอกให้ผู้อื่นทราบว่าตนเห็น จึงย้ายที่ยืน หรือที่นั่งไป เมื่อถูกถามพูดเล่นสำนานว่าอยู่ที่นี่ไม่เห็น อย่างนี้เรียกว่าทำเลศ
๖. เสริมความ เรื่องเล็ก แต่พูดให้คนฟังเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เช่นเห็นไฟไหม้หญ้าแห้งก็ตะโกนเสียงดังว่าไฟๆ เพื่อให้คนแตกตื่นตกใจ หรือโฆษณาสินค้าพรรณนาสรรพคุณจนเกินความจริง
๗. อำความ ตรงกันข้ามกับเสริมความ คือเรื่องใหญ่แต่พูดให้เป็นเรื่องเล็ก หรือปิดบังอำพรางไว้ไม่พูดไม่รายงานต่อผู้มีหน้าที่ให้รับทราบ
ข้อห้ามหรือขอบเขตของสิกขาบทนี้ มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้อง
เว้นเพื่อรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ
๑. มุสา
๒. อนุโลมมุสา
๓. ปฏิสสวะ
๑. มุสา แปลว่าเท็จ หรือไม่จริง การกล่าวคำเท็จหรือคำไม่จริง เรียกว่ามุสาวาทหรือพูดโกหก ส่วนมากใช้วาจา แต่การแสดงเท็จหรือโกหกอาจแสดงได้ทั้ง ๒ ทาง คือ ทางวาจากับทางกาย ทางวาจา คือ พูดคำเท็จออกมา ทางกาย คือ แสดงทางกาย เช่น การเขียนจดหมายโกหก รายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม ตีพิมพ์ข่าวเท็จ เผยแผ่ทำเครื่องหมายให้คนอื่นหลงเชื่อ ตลอดจนการใช้ใบ้ให้คนอื่นเข้าใจผิดเช่น สั่นศีรษะหรือโบกมือปฏิเสธในเรื่องควรรับหรือพยักหน้ารับในเรื่องที่ควรปฏิเสธ เป็นต้น
๒. อนุโลมมุสา คือ การไม่แสดงเรื่องเท็จทั้ง ๗ อย่าง แต่พูดเรื่องไม่จริงซึ่งไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ แต่เจตนาจะให้เขาเจ็บใจหรือแตกร้าวกัน เป็นต้น เรียกว่า อนุโลมมุสา เช่น
-พูดเสียดแทง กระทบกระแทก แดกดัน
-พูดประชด ยกให้เกินความจริง
-พูดด่ากดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง
-พูดสับปลับ ด้วยความคะนองวาจา แต่ไม่ตั้งใจให้เข้าใจผิด
-พูดคำหยาบ คำต่ำทราม
ไม่จัดเป็นมุสาวาทแต่ศีลด่างพร้อย
๓. ปฏิสสวะ ได้แก่ การรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจไม่ทำตามที่รับคำนั้นโดยที่ตนยังพอทำตามคำนั้นได้อยู่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. ผิดสัญญา ว่าจะทำด้วยความสุจริตใจ แต่กลับไม่ทำในภายหลัง
๒. เสียสัตย์ ให้สัตย์ปฏิญาณไว้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม
๓. คืนคำ รับปากว่าจะไป แต่กลับใจภายหลังไม่ไป
ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่เป็นมุสาวาท ศีลไม่ขาดแต่ทำให้ศีลด่างพร้อยได้ ในอัฏฐสาลีนี ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของมุสาวาท ว่าต้องพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ
๑. เรื่องไม่จริง
๒. เจตนาจะพูดเรื่องนั้น
๓. พูดหรือแสดงออกไป
๔. ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น
ในการพิจารณาว่ามุสาวาทอย่างไรมีโทษมากหรือมีโทษน้อยท่านได้อธิบายไว้ว่า
มุสาวาทที่ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมาก คือเขาได้รับความเสียหายมากมีโทษมาก ได้รับความเสียหายน้อยก็มีโทษน้อย ส่วนการกำหนดโดยวัตถุเจตนาและปโยค เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ยังมีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคำไม่จริงแต่พูดแล้วไม่เป็นมุสาวาท คือคำพูดที่พูดตามที่ได้ยินได้ฟังมาหรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เรียกว่า ยถาสัญญา คำพูดประเภทนี้มี ๔ อย่าง คือ
๑. โวหาร พูดตามสำนวนโลก ที่ใช้กันจนเป็นแบบธรรมเนียม เช่น คำลงท้ายจดหมายว่า ด้วยความเคารพอย่างสูงหรืออย่างยิ่ง เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ไม่เป็นมุสาวาท
๒. นิยาม การเล่านิยายหรือแสดงลิเก ละคร เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็ไม่เป็นมุสาวาท
๓. สำคัญผิด พูดด้วยเข้าใจว่าถูกต้อง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ถูกไม่เป็นความจริง เช่น จำวันผิดบอกไปโดยเข้าใจว่าถูก ไม่เป็นมุสาวาท
๔. พลั้ง พูดด้วยความพลั้งเผลอ โดยไม่ได้ตั้งใจให้ผิดพลาด ไม่เป็นมุสาวาท
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ