[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 639
๔. จุลลสุวกราชชาดก
ว่าด้วยผู้รักษาไมตรี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 639
๔. จุลลสุวกราชชาดก
ว่าด้วยผู้รักษาไมตรี
[๑๒๓๖] ต้นไม้ทั้งหลาย ที่มีใบเขียว มีผลดก มีอยู่เป็นอันมาก เหตุไรพญานกแขกเต้า จึงมีใจยินดี ในต้นไม้แห้งผุเล่า.
[๑๒๓๗] เราเคยบริโภคผล แห่งต้นไม้นี้ นับได้หลายปีมาแล้ว ถึงเราจะรู้ว่า ต้นไม้นี้ไม่มีผลแล้ว ก็ต้องรักษาความไมตรีไว้ ให้เหมือนดังก่อน.
[๑๒๓๘] นกทั้งหลาย ย่อมละทิ้งต้นไม้แห้งผุ ขาด ใบไร้ผล ไปในที่อื่น ดูก่อนพญานกแขกเค้า ท่านเห็นโทษอะไรหรือ?
[๑๒๓๙] นกเหล่าใด คบหาฉัน เพราะต้องการผลไม้ ครั้นรู้ว่าต้นไม้นั้น ไม่มีผล ก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไปเสีย นกเหล่านั้นโง่เขลา มีปัญญาที่เห็นแก่ตัว มักทำฝักใฝ่แห่งมิตรภาพ ให้ตกไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 640
[๑๒๔๐] ความเป็นเพื่อน ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านได้ทำไว้เป็นพยานดีแล้ว ถ้าท่านชอบใจธรรมนั้น ท่านก็เป็นผู้ควร ที่วิญญูชนทั้งหลาย พึงสรรเสริญ.
[๑๒๔๑] ดูก่อนพญานกแขกเต้า ผู้ชาติวิหค มีปีกเป็นยานพาหนะ มีคอโค้งเป็นสง่า เรานั้นจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพร ตามที่ใจปรารถนาเถิด.
[๑๒๔๒] ไฉนข้าพเจ้าจะพึงได้เห็น ต้นไม้นั้น กลับมีใบ มีผลอีกเล่า ข้าพเจ้าจะยินดีอย่างยิ่งเหมือนคนจน ได้ขุมทรัพย์ ฉะนั้น.
[๑๒๔๓] ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช ทรงวักอมตวารี มาประพรมต้นไม้ กิ่งก้านของต้นไม้ นั้น ก็งอกงาม มีเงาร่มเย็น เป็นที่น่ารื่นรมย์.
[๑๒๔๔] ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญสุข พร้อมด้วยพระญาติทั้งปวง เหมือนดังข้าพระบาท มีความสุข เพราะได้เห็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 641
ต้นไม้ผลิตผล ในวันนี้ ฉะนั้นเถิด.
[๑๒๔๕] ท้าวสักกเทวราช ประทานพรแก่พญานกแขกเต้า ทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว พาพระมเหสี เสด็จกลับเทพนันทวัน.
จบ จุลลสุวกราชชาดกที่ ๔
อรรถกถาจุลลสุวกราชชาดกที่ ๔
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถี ทรงปรารภ เวรัญชกัณฑ์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สนฺติ รุกฺขา ดังนี้.
เมื่อพระศาสดา เสด็จจำพรรษา ณ เมืองเวรัญชา แล้วเสด็จถึงพระนครสาวัตถี โดยลำดับ ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ เป็นพุทธสุขุมาลชาติ ประกอบด้วยอิทธานุภาพ อันยิ่งใหญ่ เวรัญชพราหมณ์ นิมนต์ไป ได้จำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน ไม่ได้ภิกษาจากสำนัก เวรัญชพรหมณ์ แม้สักวันเดียว เพราะถูกมารดลใจเสีย ทรงละความโลภอาหารเสียได้ ดำรงพระชนม์ด้วยข้าว สำหรับเลี้ยงม้า ที่พ่อค้าม้าถวาย วันละแล่ง มิได้เสด็จไปที่อื่น ความที่พระตถาคต ทรงมักน้อยสันโดษนี้ น่าสรรเสริญเหลือเกิน พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ ประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 642
เหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การละความโลภ ในอาหารของตถาคต ในบัดนี้ ยังไม่น่าอัศจรรย์ แม้ในกาลก่อน ตถาคตเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้ละความโลภอาหารมาแล้วดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
เนื้อเรื่องทั้งหมด พึงทราบโดยพิสดาร ตามทำนองที่ที่กล่าวมาแล้ว ในหนหลัง ในตอนนี้มีใจความว่า ท้าวสักกเทวราช ทรงแปลงพระองค์ เป็นพญาหงส์ สนทนากันพญานกแขกเต้า จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า :-
ต้นไม้ทั้งหลาย ที่มีใบเขียว มีผลดก มีอยู่เป็นอันมาก เหตุไรพญานกแขกเต้า จึงมีใจยินดีในต้นไม้แห้งผุเล่า.
เราเคยบริโภคผลแห่งต้นไม้นี้ นับได้หลายปีมาแล้ว ถึงเราจะรู้ว่า ต้นไม้นี้ ไม่มีผลแล้ว ก็ต้องรักษาความไมตรีไว้ ให้เหมือนดังก่อน.
นกทั้งหลาย ย่อมละทิ้งต้นไม้แห้งผุ ขาด ใบไร้ผล ไปในที่อื่น ดูก่อนพญานกแขกเต้า ท่านเห็นโทษอะไรหรือ?
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 643
นกเหล่าใดคบหากัน เพราะต้องการผลไม้ ครั้นรู้ว่า ต้นไม้นั้น ไม่มีผล ก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไปเสีย นกเหล่านั้นโง่เขลา มีปัญญาที่เห็นแก่ตัว มักทำฝักใฝ่แห่งมิตรภาพ ให้ตกไป.
ความเป็นเพื่อน ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านได้ทำไว้เป็นพยานดีแล้ว ถ้าท่านชอบใจธรรมนั้น ท่านก็เป็นผู้ควร ที่วิญญูชนทั้งหลาย พึงสรรเสริญ.
ดูก่อนพญานกแขกเต้า ผู้ชาติวิหค มีปีก เป็นยานพาหนะ มีคอโค้งเป็นสง่า เรานั้นจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพร ตามที่ใจปรารถนาเถิด.
ไฉนข้าพเจ้า จะพึงได้เห็นต้นไม้นั้น กลับมีใบ มีผลอีกเล่า ข้าพเจ้าจะยินดีอย่างยิ่ง เหมือน คนจนได้ขุมทรัพย์ ฉะนั้น.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช ทรงวักอมตวารี มาประพรมต้นไม้ กิ่งก้านของต้นไม้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 644
นั้นก็งอกงาม มีเงาร่มเย็น เป็นที่น่ารื่นรมย์.
ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญสุข พร้อมด้วยพระญาติทั้งปวง เหมือนดังข้าพระบาท มีความสุข เพราะได้เห็น ต้นไม้ผลิตผล ในวันนี้ ฉะนั้นเถิด.
ท้าวสักกเทวราช ประทานพรแก่ พญานกแขกเต้า ทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว พาพระมเหสี เสด็จกลับเทพนันทวัน.
พึงทราบความ ด้วยสามารถแห่งคำ ที่มีในก่อนนั้น ก็ข้าพเจ้าทั้งหลาย จักพรรณนา เฉพาะบทที่ยากเท่านั้น.
บทว่า หริตปตฺตา ได้แก่ ที่สะพรั่งไปด้วยใบสีเขียว. บทว่า โกฬาเป ได้แก่ ที่ไม่มีแก่น ซึ่งเมื่อลมพัด ก็ส่งเสียง เหมือนมีใครมาตีให้ดัง ฉะนั้น. บทว่า สุวสฺส ความว่า เหตุไรท่านพญานกแขกเต้า จึงมีใจยินดี ในต้นไม้เห็นปานนี้เล่า? บทว่า ผลสฺส แปลว่า ผลของต้นไม้นั้น. บทว่า เนกวสฺสคเณ เท่ากับ อเนกวสฺสคเณ แปลว่า นับได้หลายปีมาแล้ว. บทว่า พหู ความว่า แม้เมื่อหลายร้อยก็มิใช่ ๒ ปี มิใช่ ๓ ปี โดยที่แท้คือหลายปีมาแล้ว. บทว่า วิทิตฺวาน เป็นต้น ความว่า พญานกแขกเต้า เมื่อจะประกาศว่า ข้าแต่พญาหงส์ บัดนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 645
พวกเราแม้จะรู้ว่า ต้นไม้นี้ไม่มีผล ก็ต้องรักษาไมตรีไว้ ให้เหมือนดังแต่ก่อน ไมตรียังมีอยู่ตราบใด พวกเราก็จะไม่ทำลายไมตรีนั้น ตราบนั้น เพราะผู้ทำลายไมตรี ไม่ใช่คนดี ไม่ชื่อว่า สัตบุรุษ. บทว่า โอปตฺตํ ความว่า หมดไป คือ ไม่มีใบ ได้แก่ มีใบร่วงแล้ว. บทว่า กึ โทสํ ปสฺสเส ความว่า นกเหล่าอื่น พากันละต้นไม้นั้น ไปในที่อื่น ท่านเห็นโทษอะไร ในการไปอย่างนี้. บทว่า เย ผลตฺถา ความว่า นกเหล่าใด คบหา คือ เข้าไปหา เพราะต้องการผลไม้ คือ เพราะผลไม้เป็นเหตุ ครั้นรู้ว่าต้นไม้นั้น ไม่มีผล ก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไป. บทว่า อตฺตตฺถปญฺา ความว่า นกเหล่านั้นชื่อว่า มีปัญญา ที่เห็นแก่ตัว เพราะมีปัญญา เพื่อประโยชน์ของตน คือ มีปัญญา ที่ตั้งอยู่ในตนเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น บทว่า ปกฺขปาติโน ความว่า นกเหล่านั้น เมื่อหวังแต่ความเจริญ เพื่อตนเท่านั้น ย่อมยังฝักใฝ่แห่งมิตรภาพ ให้ตกไป คือ ให้พินาศไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มักทำฝักใฝ่แห่งมิตรภาพ ให้ตกไป อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เป็นผู้ทำฝักใฝ่แห่งมิตรภาพ ให้ตกไป เพราะอรรถว่า ตกไปในฝักใฝ่ของตนเท่านั้น ดังนี้ก็ได้. บทว่า อปิ นาม นํ ความว่า ข้าแต่พญาหงส์ ถ้ามโนรถของข้าพเจ้า พึงสำเร็จ และพรที่ท่านให้แล้ว พึงสำเร็จไซร้ ทำไฉนข้าพเจ้า จะพึงเห็นต้นไม้นี้ กลับมีใบมีผลได้อีก แต่นั้น ข้าพเจ้าจะยินดี กะต้นไม้นั้น คือ พอเห็นต้นไม้นั้นเท่านั้น ก็จะปลื้มใจอย่างที่สุด เหมือนคนจนได้ขุมทรัพย์ ฉะนั้น. บทว่า อมตมาทาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 646
คือ ทรงดำรงอยู่แล้ว ด้วยอานุภาพของพระองค์ ทรงวักน้ำจากแม่น้ำคงคา มาประพรมแล้ว.
ในชาดกนี้ มีอภิสัมพุทธคาถา ๒ คาถา กับคาถานี้
พระศาสดา ครั้นทรงนำ พระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกเทวราช ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้ พญานกแขกเต้าในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนั้นแล.
จบอรรถกถา จุลลสุวกราชชาดกที่ ๔