//www.konmeungbua.com/webboard/aspboard_Question.asp?GID=12476
ได้อ่านเจอกระทู้นี้เข้า แล้วเห็นว่าเกี่ยวข้องกับทางเว็บบ้านธัมมะที่ได้ตอบคำถามไป และคนอีกเว็บนึงที่ได้ทราบคำตอบ ได้ขัดแย้งบางสิ่งขึ้นมา ไม่ทราบว่า การที่เค้าบอกว่า การปฏิบัติเองจะดีกว่าเชื่อตามตำราที่ทางบ้านธัมมะได้ศึกษา อย่างนี้จะอธิบายให้พวกเขารับทราบอย่างไรคะ
ในสมัยใกล้ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้แสดงมหาปเทศ ๔ คือ ข้ออ้างใหญ่ หรือที่กล่าวอ้างคนใหญ่ๆ เช่นอ้างว่าได้ฟังมาจากพระพุทธองค์ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย ก็ไม่ควรเห็นด้วยหรือคัดค้าน แต่ให้ตรวจสอบเทียบเคียงในพระธรรมวินัยก่อน จึงควรถือเอา หรืออ้างว่าได้ฟังมาจากสงฆ์หมู่ใหญ่ที่น่าเชื่อถือก็เช่นกันต้องตรวจสอบก่อนทั้งสิ้น ฉะนั้น ผู้ที่เป็นชาวพุทธทั้งหลายเมื่อต้องการพ้นทุกข์แต่ไม่ทราบว่าข้อปฏิบัติของอาจารย์ไหนถูกผิดอย่างไร ควรเทียบเคียงกับคำสอนก่อนจึงควรถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ มิฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ปฏิบัติผิดโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นคำสอนที่ว่าให้ปฏิบัติเองแล้วจะรู้ ขอถามว่าการปฏิบัติหมายถึงอะไร เป็นสัมมาปฏิปทาหรือเป็นมิจฉาปฏิปทา ปฏิบัติแล้วรู้อะไร ตรงกับหลักธรรมคำสอนหรือนอกหลักธรรมคำสอน
เชิญคลิกอ่าน....
มหาปเทสสูตร ว่าด้วยมหาประเทศ ๔ ..ตอนที่ ๑
มหาปเทสสูตร ว่าด้วยมหาประเทศ ๔ ..ตอนที่ ๒
สงสัยว่า มโนมยิทธิของคนสมัยนี้ กับมโนมยิทธิที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกน่าจะไม่เหมือนกัน ถ้าตามพระไตรปิฎกแล้วยุดนี้ไม่มีแน่นอน แม้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ได้มโน-มยิทธิก็ไม่ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นของปลอมมากกว่า
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 86
[จิตฺตปริทมนวิธิ - วิธีฝึกฝนจิต]
ในโลกิยอภิญญา ๕ นั้น พระโยคีผู้เป็นอาทิกัมมิกะ (แรกทำ) ใคร่จะทำอิทธิวิกุพพนะ (การทำฤทธิ์ต่างๆ ) มีฤทธิ์คือ เป็นคนเดียว (อธิษฐาน) เป็นหลายคนก็ได้ เป็นต้น ๒ พึงยังสมาบัติ ๘ ในกสิณมีโอทาตกสิณเป็นข้อสุดท้ายให้เกิด๑ ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ นี้ คือ กสิณานุโลมโต โดยตามลำดับกสิณ กสิณปฏิโลมโต โดยย้อนลำดับกสิณ กสิณานุโลมปฏิโลมโต โดยทั้งตามลำดับทั้งย้อนลำดับกสิณ ฌานานุโลมโต โดยตามลำดับฌาน ฌานปฏิโลมโต โดยย้อนลำดับฌาน ฌานานุโลมปฏิโลมโต โดยทั้งตามลำดับ ทั้งย้อนลำดับฌาน ฌานุกฺกนฺตกโต๒ โดยข้ามฌาน กสิณุกฺกนฺตกโต โดยข้ามกสิณ ฌานกสิณุกฺกนฺตาโต โดยข้ามทั้งฌานทั้งกสิณ องฺคสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนองค์ฌาน อารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนอารมณ์ องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์ องฺคววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดดูองค์ อารมฺมณววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดดูอารมณ์ ฯลฯ
[การทำฤทธิ์เป็นงานหนัก]
ข้อที่ว่ายังมิได้ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ อย่าง ดังกล่าวมานี้แล้วพระอาทิกัมมิกโยคาวจรผู้ไม่เคยบำเพ็ญภาวนามาแต่ปางก่อน จักยังการทำฤทธิ์ต่างๆ ให้สำเร็จได้นั้น มิใช่ฐานะจะมีได้ เพราะว่า แม้แต่การบริกรรมกสิณก็เป็นงานหนักแก่พระอาทิกัมมิกะ (เสียแล้ว) หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (บริกรรมได้) สำหรับผู้ทำบริกรรมกสิณได้แล้ว การทำ (ปฏิภาค) นิมิตให้เกิดก็เป็นงานหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (บรรลุอัปปนาได้) สำหรับผู้ได้อัปปนาแล้ว การฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ ก็เป็นงานหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ ได้) สำหรับผู้มีจิตอันได้ฝึกฝนโดยอาการ ๑๔ แล้วเล่า อันกระทำฤทธิ์ได้ต่างๆ ก็ยังเป็นการหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (ทำฤทธิ์ได้ต่างๆ ) แม้ผู้ทำฤทธิ์ต่างๆ ได้แล้ว อันความเป็นขิปปนิสันติ (รวมจิตเข้าฌานได้ฉับพลัน) ก็เป็นการหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะขิปปนิสันติได้
เห็นด้วยกับคุณ prachern.s ครับ ...มโนมยิทธิ สมัยนี้ไม่มีหรอกครับ แอบอ้างกันไปตามเรื่องตามราว ผู้ที่ไปฝึกกัน ต่างก็มีจิตใจไม่บริสุทธิ์ คืออยากได้ฤทธิ์เพื่อความโก้เก๋บ้างอยากโชว์สาวๆ บ้าง หลอกลวงทั้งนั้น...
การปฏิบัติธรรมเป็นการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคด้วยเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่สำหรับอ่าน หรือว่า ไม่ใช่เพียงสำหรับพิจารณา ทุกท่านควรจะประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่เข้าใจด้วย ถ้าไม่ศึกษาด้วยการพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด ก็ยากที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนั้นลึกซึ้งและละเอียดจริงๆ ฉะนั้น ส่วนใหญ่ของพุทธศาสนิกชนจึงปฏิบัติธรรมขั้นทาน และ ขั้นศีล แต่การปฏิบัติธรรมขั้นอบรมเจริญปัญญานั้น ต้องศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียด จึงจะอบรมเจริญได้ ทุกท่านควรเอาเวลาที่เหลือน้อยมากมาศึกษาธรรมให้เกิดความเข้าใจ ดีกว่าไปสนใจเรื่องอื่นๆ
อนุโมทนาครับ
ถ้าไม่มีวสีในสมาบัติ 8 กสิณ 10 และฝึกฝนจิตให้ชำนาญในอาการ 14 อย่าง การได้ มโนมยิทธิ ก็เป็นอฐานะ มโนมยิทธิ เกิดจากการทำฌานจนได้ถึง เนวสัญญา-นาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นฌานขั้นสูงสุด และคนทำฌานได้ต้องเป็นติเหตุกบุคคลปฏิสนธิพร้อมปัญญา ดิฉันคิดว่าการได้ มโนมยิทธิ ของคนในสมัยนี้ไม่ใช่ของจริงค่ะคนสมัยนี้ความเข้าใจในการเจริญสมถะยังไม่มี การเจริญสมถะที่ถูกต้องจึงเป็นอฐานะเมื่อเหตุไม่สมควรแก่ผล การได้ มโนมยิทธิ จึงเป็นไปไม่ได้ มีแต่คิดไปเองว่าตัวเองได้เท่านั้น และคนได้ฌานต้องเป็นคนที่มีกิเลสเบาบาง ส่วนมากจะชอบความสงบออกบวชเป็นฤาษีชีไพรหรือภิกษุอยู่ในป่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครมากกว่า ฆราวาสที่ยังบูชากามเป็นสรณะ กิเลสหนาถึงกับโอ้อวดลาภกับสาธารณชน จึงไม่น่าจะเป็นผู้ได้ มโนมยิทธิ
ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาทุกท่านที่ช่วยชี้แนะค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิต และกุศลเจตนาของทุกท่านครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาสาธุค่ะ