พระปัจฉิมวาจา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
โดย สารธรรม  12 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43814

ข้อสำคัญก็คือพระปัจฉิมวาจา ที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

รวมพุทธดำรัสทั้งหมดในความไม่ประมาท เพราะว่าไม่มีใครทราบจริงๆ ในเรื่องของภพภูมิต่อไป การที่มีโอกาสได้อยู่ในภพภูมินี้ และมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าจะยิ่งประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วยความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น ควรจะพิจารณาความหมายของคำว่า ไม่ประมาทในที่นี้ เพราะบางท่านที่ยังเป็นผู้ที่หมกมุ่นในชีวิต ในลาภ ก็จะเข้าใจว่าเป็นความไม่ประมาทในการแสวงหาลาภ การแสวงหาปัจจัย แต่ว่าความไม่ประมาทนั้นควรจะเป็นในการเจริญกุศล ไม่ใช่ในอกุศล

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส มีข้อความกล่าวถึง ความหมายของความไม่ประมาทไว้ว่า

พึงกล่าวความประมาทในคำ ปมตฺตํ ดังต่อไปนี้ ความปล่อยจิตไป ความตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือทำโดยไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่ทำเนืองๆ ความทำหยุดๆ ความประพฤติย่อหย่อน ความปลงฉันทะ ความทอดธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล ความประมาท กิริยาที่ประมาท ความเป็นผู้ประมาท เห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า ความประมาท

เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทก็ตรงกันข้าม คือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ปล่อยจิตไป หรือไม่ตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต เหล่านั้นเป็นต้น

ข้อนี้คงจะเป็นเครื่องเตือนท่านที่ยังรีรอในการเจริญสติปัฏฐาน คิดที่จะผัดผ่อน ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

พระอริยสาวกรู้แจ้งธรรมใด มีผู้หวั่นไหว คิดว่าจะรู้ไม่ได้บ้างไหม มีการรู้สึกตัวขณะหนึ่ง พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เย็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น อ่อนบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น เห็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น ได้ยินบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น

ในตอนต้นๆ ท่านเกือบจะมองไม่เห็นประโยชน์เลย บางท่านถึงกับถามว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เป็นความหวั่นไหวไหม เป็นความสงสัยหรือไม่ เป็นความเคลือบแคลงไม่มั่นใจหรือไม่

ที่จริงแล้วที่ท่านจะรู้ความจริง ก็เป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง คิดนึกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งแต่ละลักษณะนี้ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะให้ท่านพิจารณา ให้ท่านเพิ่มความรู้ขึ้นเพื่อละคลายการยึดถือ หรือความเห็นผิดที่เคยมี

นี่ก็ควรพิจารณาเทียบเคียงว่า ท่านหวั่นไหวไหมเวลาที่ท่านคิดว่า รู้นามรู้รูปในขณะนี้ไม่ได้ ซึ่งมิใช่ว่าพระผู้มีพระภาคจะมิได้ทรงตรัสรู้ความจริงข้อนี้ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน อินทขีลสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย เป็นของเบา คอยจะลอยไปตามลม บุคคลวางไว้ที่ภาคพื้นอันราบเรียบแล้ว ลมทิศบูรพาพึงพัดปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปทางทิศปราจีนได้ ลมทิศปราจีนพึงพัดเอาไปทางทิศบูรพาได้ ลมทิศอุดรพึงพัดเอาไปทางทิศทักษิณได้ ลมทิศทักษิณพึงพัดเอาไปทางทิศอุดรได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นเป็นของเบา ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่

ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน

นี่คือความเป็นผู้ที่รวนเรตามวิสัยของปุถุชน ซึ่งไม่รู้แจ้งในสภาพของทุกข์ซึ่งมีอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่รู้แจ้งในเหตุของทุกข์ คือ ทุกขสมุทัย ไม่รู้แจ้งในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อความต่อไปมีว่า

ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนเสาเหล็ก เสาหิน มีรากลึก เขาฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ถ้าไม่เจริญสติ ไม่พิจารณาสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ จะทำให้รู้แจ้งในความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติได้ไหม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม หรือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องในเหตุในผลของอริยสัจธรรม ก็ไม่ต้องมองหน้าสมณะเหล่าอื่นหรือพราหมณ์เหล่าอื่น เพราะเหตุว่า ดูข้อประพฤติปฏิบัติก็รู้ได้ว่า ข้อประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นจะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือว่าไม่สามารถจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในเหตุ ในผล ในข้อประพฤติปฏิบัติ และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หวั่นไหว รวนเร


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา 58

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

อัทธานปลิโพธ คือ การเดินทางไกล ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย