พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 41
อธิบายคำว่า กายานุปสฺสี (มีปกติตามเห็นกาย)
คำว่า กายานุปสฺสี ได้แก่ มีปกติตามเห็นกายหรือว่า เห็นกายอยู่เนืองๆ ก็คำนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสคำว่า กาเย ดังนี้ แล้วทรงทำศัพท์กายที่ ๒ ว่า กายานุปสฺสี ดังนี้อีก เพื่อจะแสดงการกำหนดและการแยกฆนะ เป็นต้น ไม่ให้ปะปนกัน. ด้วยเหตุนั้น จึงมิได้ตรัสว่ามีปกติตามเห็นเวทนาในกาย หรือว่า มีปกติตามเห็นจิต มีปกติตามเห็นธรรมในกายเลย โดยที่แท้ทรงแสดงการกำหนดมิให้ปะปนกัน โดยการแสดงอาการคือ การตามเห็นกายในวัตถุกล่าวคือกาย ในคำว่า กาเยกายานุปสฺสีเยว (มีปกติตามเห็นกายในกายเท่านั้น) ดังนี้.
โดยทำนองเดียวกันก็ไม่ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่งนอกจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งไม่ตรัสว่า มีปกติตามเห็นผู้หญิง ผู้ชาย นอกจากผม ขน เป็นต้น.
ก็กายแม้ใดกล่าวคือที่ประชุมแห่งภูตรูป และอุปาทารูปมีผมขน เป็นต้น มีอยู่ในกายนี้ จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมสักอย่างหนึ่งนอกจากภูตรูป และอุปาทารูปในกายแม้นั้น.
อันที่จริง ทรงแสดงการแยกฆนะ โดยการแสดงวัตถุกล่าวคือ กาย ด้วยอำนาจแห่งกายคือ ที่ประชุมนั่นแหละ โดยประการต่างๆ ว่า เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบแห่งรถด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมขนเป็นต้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบน้อยใหญ่ของเมืองด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมของภูตรูปอุปาทารูปทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลแยกใบกล้วยหยวกกล้วยออกจากลำต้นกล้วย และเปรียบเหมือนผู้แบกำมืออันเปล่าด้วย ฉะนั้น.
จริงอยู่ ในอธิการนี้จะเป็นกายที่นอกจากกายคือ ที่ประชุมตามที่กล่าวแล้วก็ตาม จะเป็นหญิง เป็นชายหรือว่าเป็นธรรมอะไรๆ อื่นก็ตาม ย่อมไม่ปรากฏ. แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำการยึดมั่นเพราะความเห็นผิด ในเหตุสักว่าการประชุมแห่งธรรมตามที่กล่าวแล้วโดยประการนั้นๆ มีอยู่
ด้วยเหตุนั้นโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฺฐํ ยํ ทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ อปสฺสํ พชฺฌเต มุฬฺโห พชฺฌมาโน น มุจฺจติ. แปลว่า บุคคลเห็นอยู่ซึ่งสิ่งใด สิ่งนั้น ชื่อว่า อันเขาเห็นแล้วก็หาไม่ สิ่งใด อันเขาเห็นแล้ว เขาชื่อว่าย่อมไม่เห็นซึ่งสิ่งนั้น บุคคลผู้หลง เมื่อไม่เห็นย่อมติด เมื่อติด ก็ย่อมไม่หลุดพ้น.
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ