การเจริญสมถภาวนาที่จะให้มหากุศลญานสัมปยุตตจิตเจริญขึ้นๆ จนเป็นบาทให้เกิดปฐมฌานกุศลจิตซึ่งเป็นรูปาวจรกุศลนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากเพราะจะต้องไม่เป็น อภัพพบุคคล คือ ผู้ที่แม้เจริญสมถะหรือวิปัสสนา ก็ไม่อาจบรรลุฌานจิตหรือโลกกุตตรจิตได้ ผู้ที่เป็นภัพพบุคคล คือ ผู้ที่เมื่อเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ก็อาจจะบรรลุฌานจิตหรือโลกุตตรจิตได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ ....
๑. ไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น (๑) คือ ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น คือ ไม่ได้กระทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในอนันตริยกรรม ๕ ซึ่งเป็นเครื่องกั้นสวรรค์ มรรค ผล
อนันตริยกรรม ๕ คือ
ฆ่ามารดา ๑
ฆ่าบิดา ๑
ฆ่าพระอรหันต์ ๑
ทำร้ายพระผู้มีพระภาคให้ห้อพระโลหิต ๑
ทำสังฆเภท คือทำลายสงฆ์ให้แตกกันโดยไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน ๑
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น คือ ไม่มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่ นัตถิกทิฏฐิอเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ แม้ว่าปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้ายินดีเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยไม่เห็นโทษ ก็ย่อมจะไม่คิดจะบรรเทาความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา
ฉะนั้น การอบรมสมถภาวนาให้ถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิจึงไม่ง่ายเลย ไม่ใช่เพียงการจดจ้องที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ต้องการก็จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่จะทำให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิได้ ถ้าเข้าใจผิดว่าโลภมูลจิตขณะนั้นเป็นมหากุศลก็จะทำให้คิดว่า นิมิตต่างๆ ที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเห็นเป็นนรก สวรรค์ สถานที่ เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ
ฉะนั้น สมถภาวนาจึงเป็นเรื่องละเอียด ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ
(๑) อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗และอาวรณตาสูตร ข้อ ๓๕๘
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ