[คำที่ ๔๓๙] อปฺปมตฺต
โดย Sudhipong.U  23 ม.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32559

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อปฺปมตฺต”

คำว่า อปฺปมตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อับ - ปะ - มัด - ตะ] มาจากคำว่า (ไม่) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า ปมตฺต (ผู้ประมาท) ซ้อน ปฺ จึงรวมกันเป็น อปฺปมตฺต แปลว่า บุคคลผู้ไม่ประมาท เมื่อกล่าวถึงความเป็นธรรม แล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่าเป็นใครหรือเป็นอะไร ความไม่ประมาทเกิดขึ้นกับผู้ใด ก็เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้ไม่ประมาท คำว่า ไม่ประมาท นั้น ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงความเป็นจริงไว้ ว่า

“บทว่า ความไม่ประมาท คือ ความไม่อยู่ปราศจากสติ” ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นบุคคลผู้ไม่ประมาทไว้ดังนี้ ว่า “ผู้ประกอบ ด้วยสติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในความดีประการต่างๆ) ชื่อว่า ผู้ไม่ประมาทแล้ว”


ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปในแต่ละขณะนั้น เป็นธรรม ไม้พ้นไปจากธรรมเลย เพราะทุกขณะของชีวิตมีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่รู้จักสภาพธรรมในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏได้ ชีวิตที่ได้เกิดมาในแต่ละชาติก็สั้นมาก แม้ว่าจะมีชื่อเสียง มีชาติตระกูล มีมิตรสหาย และมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า ขณะที่เป็นกุศล มีมากกว่าขณะที่เป็นกุศล ซึ่งในที่สุดแล้วชาตินี้ก็จะต้องหมดไปแน่นอน ผ่านไปโดยไม่มีสิ่งใดเหลือในความเป็นบุคคลนี้อีก เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้ แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตไม่สูญหายไปไหน เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ควรที่จะเป็นผู้ประมาทในชีวิต ไม่ควรย่อหย่อนต่อการเจริญกุศลประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลกับชีวิตอย่างแท้จริง

ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้น ประมาทแล้ว เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ประมาทอยู่ แม้จะมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปีก็ตาม ก็เป็นเหมือนกับคนที่ตายแล้ว เพราะคนที่ตายแล้วไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ ไม่สามารถเจริญกุศลประการต่างๆ ได้ เช่นเดียวกันกับบุคคลผู้ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้ทำความดีอะไรๆ เลย ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ผู้ประมาท จึงไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะมีการเกิด การตาย จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่งอยู่ แต่โอกาสของการดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีการเกิดการตายอีกเลยนั้น ย่อมมีได้ สังสารวัฏฏ์ มีโอกาสจบสิ้นได้ เพราะความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท จึงได้ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย เพราะในที่สุดแล้วก็จะไม่มีการเกิดการตายอีก ไม่เหมือนกับผู้ที่ประมาทอยู่เนืองๆ ซึ่งโอกาสของการหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่มีเลย ไม่สามารถพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด จะเป็นผู้ที่ประมาท ไม่ได้เลย บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ชาตินี้มีกิเลสมาก ก็ยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ขัดเกลาให้เบาบางด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ชาตินี้ปัญญายังน้อย ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง อดทน และ จริงใจในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอย่างแท้จริง การได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ได้อย่างยากแสนยาก เพราะต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว สุดท้ายก็จะต้องละจากโลกนี้ไปทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน คือ ไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ ชาติก่อนเกิดเป็นอะไรมา ต่อจากนั้น จะไปไหน ก็ยังไม่ทราบ คือ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในที่ใด ภพภูมิใด ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด เป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ที่แน่ๆ ย่อมทราบว่า จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบอีก ว่า จะตายตอนไหน กล่าวคือ จะตายตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนค่ำ หรือตอนกลางคืน ก็ไม่สามารถจะทราบได้ นี้คือ ความจริง

ในแต่ละวัน กุศลจิตเกิดน้อยมากเทียบส่วนกับกุศลจิตไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามีความประมาทในชีวิตแล้ว ก็ยิ่งจะเกื้อหนุนต่อการที่จะทำให้กุศลเกิดพอกพูนทับถมมากขึ้นไปอีก เป็นโทษเป็นภัยโดยส่วนเดียวเท่านั้น แต่ละคนเหลือเวลากันอีกไม่มากแล้วที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะชีวิตสั้นมากจริงๆ ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ คือ ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติตามพระธรรม ไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน แม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ตรัสเตือนให้พุทธบริษัทตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะความไม่ประมาทนำมาซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง คำพร่ำสอนที่ทรงประทานมาตลอด ๔๕ พรรษา แห่งการประกาศพระศาสนาของพระองค์ รวมลงในบท คือ ความไม่ประมาท จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม โดยเฉพาะไม่ประมาทในการที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 27 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ