๑๔. ทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
โดย บ้านธัมมะ  6 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 37637

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 81

๑๔. ทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 81

๑๔. ทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค

[๑๔๕] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความเกิดแห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมแห่งความกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.

[๑๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.

จบทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑๔

จบสุริยเปยยาลที่ ๖


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 82

อรรถกถาสุริยเปยยาล

พึงทราบวินิจฉัยใน สุริยเปยยาล.

พึงทราบเนื้อความในที่ทั้งปวงอย่างนี้ว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี ดุจการขึ้นไปแห่งอรุณ อริยมรรคพร้อมกับวิปัสสนาอันดำรงอยู่ เพราะความเป็นผู้มีมิตรดีแล้วทำให้เกิดขึ้น ดุจความปรากฏแห่งพระอาทิตย์. บทว่า สีลสมฺปทา ได้แก่ จตุปาริสุทธศีล. บทว่า ฉนฺทสมฺปทา ได้แก่ กัตตุกามยตาฉันทะ อันเป็นกุศล. บทว่า อตฺตสมฺปทา คือความเป็นผู้มีจิตสมบูรณ์แล้ว. บทว่า ทิฏฺิสมฺปทา ได้แก่ ความถึงพร้อมแห่งญาณ. บทว่า อปฺปมาทสมฺปทา ได้แก่ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาทอันเป็นตัวการ. บทว่า โยนิโสมนสิการสมฺปทา ได้แก่ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยอุบาย. ท่านกล่าวบทว่า กลฺยาณมิตฺตตา เป็นต้นอีก เพื่อแสดงภาวะโดยอาการแม้อื่นแห่งสัมมาทิฏฐิเป็นต้น. พระสูตรเหล่านี้ทั้งหมดท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอัธยาศัยของบุคคลโดยเฉพาะ.

จบอรรถกถาสุริยเปยยาลที่ ๖

รวมพระสูตรที่มีในเปยยาลนี้

๑. ปฐมกัลยาณมิตตสูตร ๒. ปฐมสีลสัมปทาสูตร ๓. ปฐมฉันทสัมปทาสูตร ๔. ปฐมอัตตสัมปทาสูตร ๕. ปฐมทิฏฐิสัมปทาสูตร ๖. ปฐมอัปปมาทสัมปทาสูตร ๗. ปฐมโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร ๘. ทุติยกัลยาณมิตตสูตร ๙. ทุติยสีลสัมปทาสูตร ๑๐. ทุติยฉันทสัมปทาสูตร ๑๑. ทุติยอัตตสัมปทาสูตร ๑๒. ทุติยทิฏฐิสัมปทาสูตร ๑๓. ทุติยอัปปมาทสัมปทาสูตร. ๑๔. ทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา