บัญญัติ ปิด บังปรมัตถ์
โดย pirmsombat  18 ต.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 17386

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฎฐานที่จะใช้คำ ก็ควรจะใช้ให้ถูกต้องเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนี้ไม่คลาดเคลื่อน เช่นไม่สมควรใช้คำว่า ใช้สติ ซึ่งบางคนอาจจะได้ยินบ่อยๆ และบางท่านก็บอกว่า เป็นคำพูดที่ติดปากเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วการที่จะใช้คำพูดใดๆ ก็ตาม ย่อมแสดงถึงความเข้าใจว่า ยังมีข้อที่คลาดเคลื่อนหรือเปล่าเพราะว่าไม่มีใครที่จะใช้สติได้ เพียงแต่ว่าสามารถที่จะเกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นขณะที่มีสติ ส่วนขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็หลงลืมสติ แม้ว่าเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมามาก และกำลังเป็นผู้ที่เรี่มอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ตาม แต่การที่จะได้ฟังเรื่่องของการเจริญสติปัฏฐานบ่อยขึ้น ก็เป็นทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมพร้อมกับขณะที่สติระลึกได้ละเอียดขึ้น เช่นถ้าสังเกตจะรู้ได้ว่าในขณะที่สติเกิด ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นเป็นขณะที่เริ่มรู้ว่า ขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวันนั้น ไม่ใช่ขณะที่มีสภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

นี่ค่ะเป็นสิ่งที่จะต้องพูดถึงบ่อยๆ เพราะว่าทุกคนคิดมากทีเดียวทุกวัน แต่ว่าในขณะใดก็ตามที่กำลังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะตรวจสอบรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่ามีการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าขณะที่กำลังคิดขณะนั้นไม่มีปรมัตถอารมณ์ แล้ววันหนึ่งๆ ก็คิดมาก แม้ในขณะนี้เอง ก็เป็นการที่จะพิสูจน์ได้ว่าในขณะนี้ กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังคิดเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง
วันหนึ่งๆ บางเรื่องก็คิดสั้น บางเรื่องที่คิดก็ยาว และคิดวันก่อนก็ยังไม่จบ ก็ยังต่ออีกนะคะ วันรุ่งขึ้นก็ยังคิดอีก แล้วก็วันต่อๆ ไปเรื่องเดียวกันนั้น ก็ยังไม่จบอีก ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ยาวแต่เฉพาะในวันหนึ่งๆ แต่ว่ายาวต่อไปทั้งอาทิตย์หรือว่า ยาวต่อไปทั้งปี ทั้งชาติ ก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นความคิดนึกจะปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วย และกำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานย่อมจะมีโอกาส มีปัจจัยที่สติจะเกิด ระลึกได้ในขณะที่กำลังฟังนี้เอง ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมสลับกับความคิดนึกก็ได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อย ก็รู้ว่าปรมัตถธรรมกำลังสลับกับความคิดนึก เช่น ทางตาที่กำลังเห็น เป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่เกิดระลึกศึกษา ว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น บางคนอาจจะรู้สึกว่า หลับตาแล้วก็สบายดีเหมือนกันเวลาที่ฟังพระธรรม เพราะว่าไม่จำเป็นจะต้องลืมตาและมองดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ใช่ให้มีเจตนาที่ให้หลับ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมชัดเจน ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ แต่ว่าใครจะพักสายตาแล้วก็ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อาจจะลืมแล้วอาจจะหลับสลับกัน เพราะว่าขณะใดที่เห็น ขณะนั้นระลึกว่าเป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วขณะที่ได้ยินก็เปลี่ยนจากลักษณะที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง อีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังนี้เอง สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เกิดแล้วก็หมดไป ในขณะที่ได้ยินเสียงเป็นอีกขณะหนึ่ง อีกสภาพธรรมหนึ่ง เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ก็มีทั้งเห็นและก็มีทั้งได้ยิน ก็พิจารณาได้ สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สลับกันในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง

แต่ทุกคนก็ต้องรู้ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ว่าเป็นขณะที่ต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติ จะไม่มีการที่จะสังเกตรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ที่กำลังเป็นโลภะ ความไวจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังสังเกตศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่เป็นโลภะ ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ เป็นปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์หรือว่าเป็นบัญญัติอารมณ์ ขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็พอที่จะสังเกตได้ เพื่อที่จะคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏ ด้วยการรู้แจ้งว่าอารมณ์ในขณะนั้นเป็นอะไร ที่กำลังชอบกำลังพอใจ หรือว่าขณะที่กำลังโกรธ ขุ่นเคืองใจไม่ชอบ ขณะนั้นกำลังโกรธบัญญัติ เพียงแต่นึกถึงชื่อของบางคนก็อาจจะหงุดหงิด ขณะนั้นไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีคนจริงๆ ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงเรื่องราว ที่คิดขึ้นเกี่ยวกับความทรงจำเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ไม่ได้รู้ตัวเลยว่าโกรธบัญญัติ ไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ขณะที่ทำทานกุศล ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่วิรัติทุจริต หรือขณะที่สงบก็ตาม ขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้นะคะว่า บัญญัติในวันหนึ่งๆ ปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิดเท่านั้นที่จะค่อยๆ เริ่มศึกษา รู้ลักษณะของปรมัตถถธรรมว่าไม่ใช่บัญญัติ ที่เคยคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะ ที่จะต้องศึกษาสังเกตพิจารณา จนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น นามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง.....กาย บ้าง ใจบ้าง



ความคิดเห็น 1    โดย วิริยะ  วันที่ 19 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 2    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 19 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 19 ต.ค. 2553

"...เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อย ก็รู้ว่าปรมัตถธรรมกำลังสลับกับความคิดนึก..."


"...ขณะที่หลงลืมสติ จะไม่มีการที่จะสังเกตรู้ลักษณะของสี่งที่กำลังปรากฏ..."

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย pirmsombat  วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและอนุโมทนา ทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 5    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 20 ต.ค. 2553

อนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 6    โดย pamali  วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ สาธุ สาธุ......


ความคิดเห็น 7    โดย สุภาพร  วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 9 ต.ค. 2559

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย ประสาน  วันที่ 17 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด


ความคิดเห็น 11    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ