ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง เบื่อหน่าย
โดย natpe  26 มิ.ย. 2549
หัวข้อหมายเลข 1433

การที่เรามีความรู้สึกเหงา อ้างว้าง เบื่อหน่าย เป็นผลของกรรมที่เราเคยได้ทำมาในอดีต แล้วทำยังไงถึงจะปราศจากความรู้สึกแบบนี้ครับ หรือ ต้องฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา ควรฟังธรรมเรื่องใดดีครับ โปรดแนะนำด้วยครับผม



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

ขณะที่มีความรู้สึกเหงา อ้างว้าง เบื่อหน่าย เป็นจิตชาติอกุศล ไม่ใช่วิบาก ขณะที่จิตเป็นกุศลจะไม่มีความรู้สึกเช่นนั้น ควรศึกษาอบรมปัญญาด้วยการฟัง การพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะฟังพระธรรมเรื่องใดก็ได้ที่ทำให้เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏ ทั้งเรื่องพระสูตรทั้งหลายที่เป็นตัวอย่างในการทำความดีทุกระดับของผู้คนในยุคนั้น ทำให้จิตใจของเราอ่อนโยน


ความคิดเห็น 2    โดย Niranya  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

ตั้งแต่ดิฉันเริ่มอ่าน และศึกษา พระไตรปิฎก ความรู้สึกเหงา หายไปอย่างไม่รู้ตัวเลยค่ะ เพราะรู้สึกอยู่เสมอว่า พระพุทธองค์อยู่กับดิฉัน เปรียบประดุจ บิดา ที่อยู่กับบุตรความรู้สึกที่มีคือ พระองค์ทรงเมตตา ต่อดิฉันมาก และพระธรรม คำสอนของพระองค์เป็นไปเพื่อ ดิฉันจะได้รู้จัก อริยสัจจ์สี่ และได้เห็นธรรมะ ความรู้สึกเบื่อหน่ายก็แตกต่างกันมาก แต่ก่อนจะเบื่อที่ชีวิตมันวุ่นวายไม่รู้จบ ไม่สงบซะที และพอมันสงบคือไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จะเบื่ออีกเพราะมันเซ็งเนื่องจาก ไม่มีอะไร แต่หลังจากที่ได้อ่านพระไตรปิฎกไประยะหนึ่ง ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นคือ เบื่อในสังสารวัฏฏ์ มันเป็นสมมติจริงๆ คล้ายฟองสบู่กลมๆ ที่เด็กเป่าเล่น คือ ฟองสบู่ลอยไปตามลม แล้วก็แตก เด็กก็เป่าใหม่แล้วก็ลอยไป แล้วก็แตกอีก ไม่มีอะไรเหลือเลย จนถึงเวลานึงที่เด็กเกิดเบื่อ ก็เลยหยุดเป่า ก็เลยไม่มีฟองสบู่และการแตกสลายของฟองสบู่

การศึกษาพระไตรปิฎก จะทำให้คุณรู้ว่าพระพุทธเจ้า ทรงพระปัญญาอย่างที่ไม่มีมนุษย์ที่ไหนจะเทียมได้ เวลามีบุคคลใดถามปัญหาของพระองค์ พระองค์ทรงรู้วิธีที่จะตอบแล้ว ผู้นั้นเกิดปัญญาและเห็นธรรมะได้

การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ยากค่ะ ค่อยๆ อ่านที่ละเรื่อง ทำความพิจารณาในเรื่องนั้น ทำความเข้าใจในเรื่องนั้น แล้วค่อยอ่านต่อเรื่องอื่น ถ้าเกิดความสงสัยก็เขียนมาถามที่บ้านธรรมะได้ค่ะ

การศึกษาธรรมะ ก็คือการศึกษาเพื่อที่จะเห็น การเกิด-ดับ เห็นการตั้งอยู่และเสื่อมไป ที่สุดก็จะเห็นความเบื่อหน่าย และคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความพอใจ-ไม่พอใจ และจิตก็จะหลุดพ้น หลุดพ้น จากการเห็นว่าเป็นเรา ของเรา พ้นจากอกุศลธรรมก่อน และที่สุดก็พ้นแม้แต่กุศลธรรม คือ ละชั่วก่อน และที่สุดก็ละดีด้วย จิตก็มีแต่ความบริสุทธิ์ (ชั่วก็ไม่มี ดีก็วางได้)

ศึกษาพระไตรปิฎก แล้วจะไม่มีเวลาสำหรับ ความเหงา อ้างว้าง หรือ เบื่อหน่ายเลยค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย pornchai.s  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

ผลของกรรมเก่าได้แก่ วิบากจิต วิบากเจตสิก และกัมมชรูป กรรมใหม่หรือเหตุใหม่ได้แก่กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ที่เป็นในทางกาย วาจา และใจ วิบากจิตในชีวิตประจำวันคือ ทางตา จิตเห็น ทางหู จิตได้ยิน เมื่อเห็นแล้วเกิดความพอใจหรือไม่พอใจไม่ใช่วิบาก เป็นจิตชาติกุศล หรือ อกุศล ถ้าเป็นเพียงอกุศลจิตไม่ถึงการก้าวล่วงกาย วาจาเป็นการสะสมเป็นอุปนิสัยเท่านั้น ไม่ใช่เหตุใหม่ที่เป็นกรรมใหม่


ความคิดเห็น 4    โดย pornchai.s  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ที่เราได้กระทำไว้แล้ว ในอดีตชาติ หรือในปัจจุบันชาติ เป็นเหตุให้ผลของกรรม คือวิบากจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดีทางตา (จักขุวิญญาณกุศลวิบาก) ได้ยินเสียงที่ไพเราะทางหู (โสตวิญญาณกุศลวิบาก) ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน โดยนัยตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่สวยงามทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ก็เช่นเดียวกัน จิตที่เป็นผลของกรรม คือ วิบากจิต ซึ่งได้แก่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่นจิตลิ้มรส จิตที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ทางกาย จะเห็นได้ว่า เป็นเพียงนามธรรม ที่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้นกาย เท่านั้นไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลเลย ใช่ไหมครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

เรียนคุณ Niranya การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญบารมีถึง 4 อสงไขยิ่งด้วยแสนกัป เป็นเวลายาวนานที่ประมาณไม่ได้ การที่จะเห็น การเกิด ดับ เห็นการตั้งอยู่และเสื่อมไป ที่สุดก็จะเห็นความเบื่อหน่ายและคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความพอใจ ไม่พอใจ และจิตก็จะหลุดพ้น หลุดพ้นจากการเห็นว่าเป็นเรา ของเรา เรื่องที่ท่านกล่าวถึงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ คงยังไม่เร็วขนาดนั้น มีผู้อ่านพระไตรปิฎกท่านหนึ่ง เมื่ออ่านข้อความที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงกับภิกษุรูปหนึ่งเรื่องการอยู่โคนไม้หรือเรื่อนว่าง ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ก็คิดว่าจะต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน


ความคิดเห็น 6    โดย anu  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

ที่เราเหงาเพราะเรากำลังเสาะแสวงหาบางสิ่งบางอย่าง และบางครั้งบางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร บางครั้งเราก็จับมันได้ แต่เราแก้ไขมันไม่ได้ หรือไม่สามารถแก้ไขได้เพราะเหตุนี้เราจึงทุกข์ทรมานมาก ถ้าเราไม่ต้องการอะไรแม้แต่มิตรภาพ มันจะหายเหงา พูดได้นะ แต่ปฏิบัติจริงมันยากมากเลย

ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ไม่หายใช่ไหม ตีลังกาก็แล้ว นั่งก็แล้ว นอนก็แล้ว มันก็ไม่หายไปกับเพื่อนก็ไม่หาย จนปัญญากับปัญหานี้จริงๆ แต่ไม่ต้องกังวลใจหรือคิดมาก คนในโลกเหงากันทั้งนั้นแหละ แต่จะกล้าบอกใครหรือไม่เท่านั้น กล้าที่จะยอมรับว่าเราอ้างว้างเหมือนตัวคนเดียวในโลก

อันที่จริงเราก็อยู่ตัวคนเดียวในโลกจริงๆ เราอยู่กับความคิดของเรา อยู่กับตัวเราเอง หมกมุ่นครุ่นคิดแต่ตัวเราเท่านั้นเอง

ทางแก้ควรจะหากัลยาณมิตร ผู้ที่จะเกื้อกูลเราให้เข้าสู่วิถีที่ถูกต้องดีงาม เข้าสู่หนทางที่มีตนเป็นกัลยาณมิตรแห่งตน เข้าใจตัวเราเองอย่างแท้จริง แล้วเราจะไม่เหงาเราจะอยู่กับตัวเราเองได้


ความคิดเห็น 7    โดย seri  วันที่ 26 มิ.ย. 2549

คุณ natpe ได้สะสมกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญามาแล้วในอดีต มิฉะนั้นชาตินี้คงไม่สนใจธรรม และก็ยังได้ฟังธรรมที่ถูกต้อง ได้เจอรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา คุณ natpe ยังโชคดีกว่าคนอีกหลายล้านคนในชมพูทวีปนี้ ที่เขาต้องทุกข์ทรมานกับการสูญเสียที่อยู่อาศัย สูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก หรือต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางร่างกายซึ่งเป็นผลมาจากอกุศลกรรมในอดีตที่เขาทำมา เพราะความเหงาความอ้างว้าง ความเบื่อหน่าย เป็นเพียงโทสะ ที่เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ขั้นเบาบาง เทียบไม่ได้เลยกับความเจ็บป่วยทางกาย และความเจ็บป่วยทางกาย ซึ่งเป็นทุกขเวทนา ในภูมิมนุษย์ ถ้าเทียบกับในนรก ก็เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด กับภูเขาสิเนรุ จึงขอให้สบายใจได้ครับ ความเหงา อ้างว้าง เบื่อหน่าย ก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ต้องดับไป ขณะเหงา ก็มีเห็น มีได้ยิน ขณะที่เห็น ได้ยิน ขณะนั้นก็ไม่เหงา เพราะเป็นจิตคนละประเภท จะให้ความเหงาอยู่กับเรานานๆ ทั้งวัน ก็ไม่ได้เพราะเราก็ต้องมีกิจการงาน อย่างอื่น ซักผ้า กินข้าว อาบน้ำ ล้างชาม ฯลฯ ขณะนั้นก็ไม่เหงา ก็มีรสปรากฏที่ลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปรากฏที่กาย สภาพธรรมเหล่านี้ สติก็สามารถเกิดระลึกได้ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย wirat.k  วันที่ 27 มิ.ย. 2549

แล้วใครไม่เหงาล่ะครับคุณ Natpe?? ขณะเหงา เป็นอกุศลจิต ผู้ที่จะมีแต่กิริยาจิตก็คือพระอรหันต์นะครับ ดังนั้นโปรดสบายใจได้ว่าผู้คนในโลกนี้โดยมากย่อมมีโอกาส "เหงา" แน่นอน จะมากน้อยก็อยู่ที่ "การสะสม" (เพื่อนเยอะมากครับ) หนทางเดียวคือเจริญปัญญา แล้วปัญญาจะเจริญได้อย่างไรถ้าไม่ศึกษา ไม่อ่าน ไม่ฟังไม่พิจารณา ไม่สนทนา ไม่อบรม คุณ Natpe ก็คงสะสมบุญบารมีมามากจึงมีความสนใจใคร่รู้ "เรื่องจริงของชีวิต" จนมาพบเข้ากับกัลยาณมิตรหลายๆ ท่านที่ Web นี้
ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย พีระศักดิ์  วันที่ 27 มิ.ย. 2549

อนุโมทนา


ความคิดเห็น 10    โดย saowanee.n  วันที่ 27 มิ.ย. 2549

ผู้มีปัญญาย่อมไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ก็ควรน้อมพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นเข้ามาพิจารณาบ่อยๆ ดีกว่าไปคิดเรื่องอื่นค่ะ เพราะการพิจารณาจะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้นแล้วจะสั่งสมจนเป็นอุปนิสสยปัจจัยพร้อมให้สติเกิด ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฎตรงตามความเป็นจริงได้


ความคิดเห็น 11    โดย natpe  วันที่ 28 มิ.ย. 2549

ตอนนี้ผมก็ใช้เวลาว่างฟังบรรยายธรรมและวีซีดีที่ได้รับจากบ้านธัมมะ เมื่อผมได้ฟังความรู้สึกเหงา อ้างว้างก็หมดไปครับ


ความคิดเห็น 12    โดย prapas.p  วันที่ 29 มิ.ย. 2549

การฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาเป็นเรื่องถูก แต่ลักษณะของปัญญามีหลายระดับๆ ที่สำคัญคือปัญญาที่เกิดกับสติปัฏฐาน หมายถึง การฟังธรรมจนเข้าใจ ที่นำไปสู่การคลายความไม่รู้ และความเข้าใจผิด ว่าสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรวมกันเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นโลกต่างๆ จนกิเลส ความต้องการในอารมณ์ที่ดีก็เจริญ เมื่อไม่ได้อีกก็เป็นทุกข์เดือดร้อนใจ ขวนขวายหาไปเรื่อยๆ ตามกิเลสอวิชชาความไม่รู้ก็เจริญ สังสารวัฏฏ์ก็เป็นไป อย่างที่ได้กล่าวว่า เหงา เบื่อหน่ายอ้างว้างทำอย่างไรจึงจะปราศจากหมดไป สิ่งเหล่านี้คือกิเลส จะปราศจากไปได้โดยไม่กลับมาอีก ก็ต้องฟังธรรมจนเข้าใจว่า ไม่ใช่เพียงกุศลขั้นฟัง คิดไตร่ตรองธรรมด้วยความเป็นตัวตน ก็เป็นการเจริญปัญญา (สติปัฏฐาน) แล้ว อย่างที่กล่าวว่าเมื่อฟังธรรม ความรู้สึกเหงา อ้างว้างก็หมดไป ความรู้เช่นนี้ยังไม่ใช่ความเข้าใจในเรื่องให้เกิดปัญญา (สติปัฏฐาน) คงต้องอดทนฟังจนรู้ว่า กุศลขั้นฟังธรรมเป็นประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อมีเหตุปัจจัยกุศลก็เกิดได้อีก เป็นธรรมดาและกิเลส เช่น ความเหงา ก็ไม่ใช่ตัวตนเช่นเดียวกัน ทุกอย่างเป็นธรรมะ ตราบใดยังมีความเข้าใจผิดและกิเลสอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดับ ตามลำดับขั้นจนไม่เกิดขึ้นอีกเลย นั้นหมายถึงฟังธรรมจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า เรายังมีความไม่รู้ ในสภาพธรรมตามเป็นจริงอยู่มากเพราะเราไม่ใช่พระอริยบุคคล ขั้นต้นที่ดับกิเลสที่เห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา (คลายความไม่รู้ในสภาพธรรมว่าเป็นเราเป็นตัวตน) จึงจะเป็นหนทางที่ถูก อนุโมทนาบ้านธัมมะที่ได้เผยแพร่พระธรรมให้ และอนุโมทนาคุณ natpe ที่ฟังพระธรรม


ความคิดเห็น 13    โดย dhamma_072  วันที่ 30 มิ.ย. 2549

ผมขอแนะนำว่า ให้เวลากับการพักจิตใจ โดยการหาเวลานั่งสมาธินะครับ...สาธุ


ความคิดเห็น 14    โดย chatchai.k  วันที่ 30 มิ.ย. 2549

สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงเมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิดังนั้นสมาธิที่ถูกต้องคือสัมมาสมาธิ ผู้ที่สามารถอบรมสัมมาสมาธิ ต้องเป็นผู้ที่รู้ความต่างกันของโลภมูลจิตกับกุศลจิต แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในสมัยนี้จะทำสมาธิเพื่อให้จิตไม่วุ่นวาย เดือดร้อนกังวลใจในเรื่องต่างๆ หรือไม่ก็ต้องการให้จิตว่างสบายๆ ไม่ต้องคิดอะไร เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา คือไม่รู้ความต่างของกุศลจิตและอกุศลจิตก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ควรใช้เวลาศึกษาพระธรรมให้เกิดความเข้าใจ จะดีกว่าไปทำอย่างอื่น


ความคิดเห็น 15    โดย prapas.p  วันที่ 1 ก.ค. 2549

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก
การข้ามโอฆะ [โอฆตรณสูตร]


ความคิดเห็น 16    โดย อิสระ  วันที่ 2 ส.ค. 2549
สาธุครับ

ความคิดเห็น 17    โดย Komsan  วันที่ 16 พ.ย. 2550
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 18    โดย เซจาน้อย  วันที่ 23 ม.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 19    โดย นิตยา  วันที่ 23 ก.ย. 2558

เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น ความไม่รู้ก็ลดลงความรู้คือปัญญาที่รู้ความจริงจึงละกิเลสอกุศลในขณะนั้นได้จริง


ความคิดเห็น 20    โดย peem  วันที่ 17 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 21    โดย ก.ไก่  วันที่ 21 ธ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ศึกษาความจริงตามการตรัสรู้ของ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จนกว่า ปั ญ ญ า ปรากฏ

สาธุ สาธุ สาธุ