นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙
คือ
กุหสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๘๑
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๘๑
กุหสูตร
(ว่าด้วยภิกษุผู้นับถือและไม่นับถือพระตถาคต)
[๒๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด หลอกลวง ดื้อรั้น พล่ามเพ้อ ไว้ตัว เย่อหยิ่ง ใจไม่มั่น ภิกษุเหล่านั้นนับว่าไม่นับถือเรา และชื่อว่าออกไปนอก พระธรรมวินัยนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ไม่หลอกลวง ไม่พล่ามเพ้อ ฉลาด ไม่ดื้อรั้น ใจมั่นคงดี ภิกษุเหล่านั้น นับว่านับถือเรา และไม่ออกไปนอกพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
พระคาถา
ภิกษุเหล่าใด หลอกลวง ดื้อรั้น พล่ามเพ้อ ไว้ตัว เย่อหยิ่ง และใจไม่มั่น ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่งอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ภิกษุเหล่าใด ไม่หลอกลวง ไม่พล่ามเพ้อ ฉลาด ไม่ดื้อรั้น ใจมั่นคงดี ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.
จบกุหสูตรที่ ๖
อรรถกถากุหสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในกุหสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :
บทว่า กุหา แปลว่า ผู้หลอกลวง. บทว่า ถทฺธา ได้แก่ ดื้อรั้น ด้วยความโกรธ และมานะ. บทว่า ลปา ได้แก่ พูดพล่าม. บทว่า สิงฺคี ความว่า ผู้ประกอบด้วยกิเลสที่ปรากฏเสมือนเขาสัตว์ ที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่าบรรดากิเลสเหล่านั้น การไว้ตัวเป็นไฉน? คือ การไว้ตัว ภาวะคือการไว้ตัว ภาวะ คือการไว้ตัวในอิริยาบถ ๔ กิริยาวางท่าในอิริยาบถ ๔ ภาวะคือความมีคนแวดล้อม กิริยาวางท่ากับคนแวดล้อม. บทว่า อุนฺนฬา ความว่า เป็นดุจไม้อ้อที่ชูขึ้น คือยกมานะเปล่าๆ ขึ้นตั้ง.
บทว่า อสมาหิตา ความว่าไม่ได้แม้เพียงเอกัคคตาจิต. บทว่า น เม เต ภิกฺขเว ภิกฺขู มามกา ความว่า ภิกษุเหล่านั้นของเรา ไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา. ก็บทนี้ว่า เต มยฺหํ ตรัสเพราะบวชอุทิศพระศาสดา. บทว่า เต โข เม ภิกฺขเว ภิกฺขู มามกา ความว่า พระผู้มีพระภาค ตรัส ก็เพราะภิกษุเหล่านั้นบวชอุทิศตนในพระศาสนาแม้นี้ และตรัสว่า "มามกา" เพราะภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติชอบ.
บทว่า วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชนฺติ ความว่าภิกษุเหล่านั้น ย่อมถึงความเจริญ เพราะเจริญด้วยศีลาทิคุณ ความงอกงาม เพราะไม่หวั่นไหว ความไพบูลย์ เพราะแผ่ไปในที่ทุกสถาน. ก็ภิกษุเหล่านี้นั้น ย่อมงอกงามจนถึงอรหัตตมรรค เมื่อบรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ชื่อว่า งอกงาม. ทั้งในพระสูตรนี้ ทั้งในคาถา ตรัสทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะ ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถากุหสูตรที่ ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
กุหสูตร
(ว่าด้วยภิกษุผู้นับถือและไม่นับถือพระตถาคต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ที่ไม่เจริญ และ ผู้เจริญในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว คือ
ผู้ที่หลอกลวง ดื้อรั้น พล่ามเพ้อ ไว้ตัว เย่อหยิ่ง ใจไม่มั่น ย่อมชื่อว่าไม่นับถือพระองค์ เป็นผู้ออกไปนอกพระธรรมวินัย และเป็นผู้ไม่เจริญในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่หลอกลวง ไม่พล่ามเพ้อ ฉลาด ไม่ดื้อรั้น ใจมั่นคงดี ย่อมเป็นผู้นับถือพระองค์ ไม่ออกไปจาก พระธรรมวินัย และเป็นผู้เจริญในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว. (ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร) .
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ฟังด้วยความเคารพ
มานะและธรรมที่จะละ
ถอดคำบรรยายธรรม 04567 ปัญญา รู้ สิ่งที่มีจริง ที่ กำลังปรากฏ (03.41น.)
ปัญญา
ฟังจนกว่าจะรู้ความจริง
มานะกับผ้าเช็ดธุลี ๑
เสมือนเขาสัตว์
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
สาธุ
สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ