ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อสาธุ --- การกระทำที่ไม่ดี”
คำว่า อสาธุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - สา - ทุ] มาจากคำว่า น (ไม่) กับคำว่า สาธุ (ดี,ประโยชน์) แปลง น เป็น อ จึงรวมกันเป็น อสาธุ แปลว่า การกระทำที่ไม่ดี มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะมุ่งหมายถึงสภาพธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลธรรม เท่านั้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัย ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลใดๆ เลยทั้งสิ้น
ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงการกระทำที่ไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีโทษ นั้น ทำได้ง่าย ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง จะประมาทไม่ได้เลย ดังนี้ ว่า
“กรรม (การกระทำ) เหล่าใด ไม่ดี คือ มีโทษ และเป็นไปเพื่ออบาย ชื่อว่า ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เพราะทำ นั่นแล กรรมเหล่านั้น ทำง่าย, ฝ่ายกรรมใด ชื่อว่า เป็นประโยชน์แก่ตน เพราะทำ และชื่อว่าดี ด้วยอรรถว่า หาโทษมิได้ คือ เป็นไปเพื่อสุคติ และเป็นไปเพื่อพระนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ) กรรม นั้น ทำแสนยาก ราวกับทดน้ำแม่คงคาอันไหลไปทิศตะวันออก ทำให้ไหลกลับ ฉะนั้น”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งโดยนัยของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ก็เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม และเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรม มีความจริงใจที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่ให้ผลเป็นทุกข์ แล้วน้อมประพฤติตามในสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกว่าจะถึงการดับจนหมดสิ้นในที่สุด โดยมีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ที่จะไม่ทำให้ชีวิตตกไปในทางต่ำ ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไป เป็นความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้น เมื่อกล่าวถึงการกระทำที่ไม่ดี หรือ ความชั่วประการต่างๆ นั้น เป็นเครื่องเตือนตนเองให้เกิดสติ (การระลึกได้) เป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาท ได้หรือไม่? เพราะถ้าได้ศึกษาพระธรรมมีความเข้าใจไปตามลำดับแล้ว ก็จะทราบว่าขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ประกอบด้วยความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ทุกครั้ง รวมถึงอกุศลเจตสิก อื่นๆ ตามสมควรแก่ประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ ด้วย ควรหรือไม่ที่จะเป็นผู้ที่ไม่รู้ต่อไปด้วยการสะสมอกุศลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน? เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมากขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลังมากขึ้น ย่อมสามารถล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นได้เดือดร้อนได้ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ซึ่งเป็นโทษทันทีที่ทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น อกุศล เป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม กุศลเมื่อเกิดกับคนที่ตนเองรักใคร่ พอใจ หรือ เกิดกับคนที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นกุศล และ เมื่อถึงคราวที่กุศลให้ผล ก็ทำให้ได้รับแต่สิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เท่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่กุศลจะให้ผลในทางที่ไม่ดี ส่วนในทางตรงกันข้าม เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงคราวให้ผลก็ย่อมทำให้ได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจประการต่างๆ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ถ้าหากว่าไม่ได้กระทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ผลที่ไม่ดี ก็ย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อตายแล้วก็ยังต้องเกิด ถึงแม้อาจจะมีบางคนบอกว่าไม่อยากเกิดก็ตาม แต่ก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ขึ้นอยู่กับว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งเป็นการยากอย่างยิ่งกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าผู้ที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ รวมถึงสุคติภูมิอื่นๆ คือ สวรรค์ ด้วย นั้น มีเป็นส่วนน้อย แต่ที่เกิดได้โดยง่าย คือ เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น สำหรับบุคคลผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ได้ศึกษาพระธรรม กับ ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ตามความเป็นจริงแล้วบุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม ก็จะไม่ละเลยโอกาสของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตนเองมีความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงเพิ่มขึ้น จะทำให้เป็นผู้ได้สะสมปัญญาต่อไป เป็นผู้ไม่ตายไปพร้อมกับความไม่รู้ เพราะได้สะสมปัญญา นั่นเอง ส่วนผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม นั้น มีมากทีเดียว ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ประการที่สำคัญแม้บุคคลผู้ที่จะได้ฟังพระธรรม บ้าง กิเลสอกุศลก็เกิดขึ้นมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย คงไม่ต้องพูดถึงเลยว่าถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมแล้ว กิเลสอกุศลจะมากสักแค่ไหน และจะสะสมต่อไปอีกมากมายสักเท่าใด ชีวิตเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ควรที่จะได้เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นคำที่หวังดี เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้ฟัง ถ้าได้เริ่มที่การฟังการศึกษาในครั้งแรกๆ ก็จะมีการฟัง การศึกษาในครั้งต่อๆ ไป อย่างแน่นอน ทำให้ได้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต และ กว่าที่อกุศลนานาประการ ความชั่ว การกระทำที่ไม่ดีประการต่างๆ จะค่อยๆ ละคลายลงไปได้ ก็ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ