จดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง คือ คุณพุทธบุตร
โดย chatchai.k  7 พ.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 45067

มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งมีข้อความที่ควรจะได้เรียนชี้แจง

ที่บ้าน ๘ ก.ย. ๑๔

เรียนคุณสุจินต์ทราบ

กระผมพยายามติดตามผลงานของคุณทางเทปวิทยุมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จำได้ว่าประมาณ ๔ ปี ในเรื่องแนวทางการเจริญวิปัสสนา ยังจับประเด็นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมพยายามจับประเด็นเหลือเกิน ก็จับไม่ได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าผมปัญญาน้อย ก็อาจจะเป็นได้ รู้สึกว่าวกวนเหลือเกิน จับต้นชนปลายไม่ถูก คุณพูดว่า คุณไม่อ.จ. (เขียนอย่างนี้) แต่คุณพูดเหมือนกับว่ากำลังโต้วาทีกับท่านผู้ฟัง หรือแม้กระทั่งศิษย์ของคุณเท่านั้น คุณมุ่งหมายที่จะเอาชนะในประเด็นที่คุณพูด ทั้งๆ ที่บางครั้งผมฟังแล้ว ผมว่าคุณผิดทั้งเพ แต่คุณก็ยังตะเบ็งที่จะเอาชนะ ไม่สมกับคุณเป็นเมธีชนเลย ในบางครั้งคุณยกพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นมาอ่านและอ้างอิง คุณก็เอาความคิดเห็นของคุณไปผสมปนเปอยู่ด้วยเสมอทุกๆ ครั้ง หรือทุกกรณี หรือทุกๆ สูตรที่คุณยกมาอ้างอิง ผมไม่เคยได้ยินว่า คุณเอาอรรถกถา ฎีกา หรือ อนุฎีกามาอ่านบ้างเลย อย่างน้อยคุณควรเอาฎีกามาอ่าน และเปรียบเทียบกับสูตรบางสูตรในพระไตรปิฎกที่คุณยกขึ้นมาอ้างบ้างก็ยังดี ผมเชื่อแน่ว่า ในฎีกานั้นอธิบายสูตรที่คุณยกขึ้นมา ไม่เหมือนอย่างที่คุณอธิบายเป็นแน่

เคยตั้งปัญหาถามคุณหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ประเด็นนั้นยังไม่กระจ่าง คุณก็เปลี่ยนประเด็นเสีย ซึ่งผิดกับหลักวิชาครู หลักวิชาครูนั้น เมื่อยกประเด็นขึ้นมาแล้ว ควรให้คำอธิบายในประเด็นนั้นเสียก่อน แล้วค่อยอธิบายเพื่อให้ประเด็นนั้นขาวกระจ่าง แต่ทุกครั้งผมไม่เคยพบอย่างนี้เลย มีแต่ความเป็นไปของชนผู้เต็มไปด้วยกิเลส คือ ตัวมานะ ทิฏฐิตัวเบ้อเร้อ โดยการที่จะเอาชนะตะบัน โดยไม่คำนึงถึงว่า ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เป็นธรรมที่ละเอียดอ่อน สุขุม คัมภีรภาพ ไม่อยู่ในวิสัยของผู้ที่มีกิเลส ขออภัยที่จะใช้คำว่าปุถุชน ซึ่งแปลว่าอะไร คุณก็คงรู้ซึมทราบดีแล้ว

ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ผมจึงใคร่ติงคุณไว้สักหน่อย เพื่อความเจริญของคุณและของศาสนา ในฐานะที่เราเป็นพุทธบุตรเหมือนกัน ขอคุณจงอย่าได้พิฆาตศิษย์ด้วยตรรกโวหารเลย ผมสงสารศิษย์ของคุณเหลือเกิน ที่ติดตามอาจารย์มาตั้ง ๔ ปีแล้ว ยังไม่ไปถึงไหนเลย แม้แต่การเริ่มต้นของคำว่าวิปัสสนา ศิษย์ของคุณก็ยังไม่รู้เลย เพราะว่าอาจารย์ผู้กลัวอัตตาเสียจริง ไม่ว่าอะไร จะตั้งต้นที่ไหน คุณก็อ้างว่า สิ่งนั้นเป็นอนัตตา อย่าไปทำอย่างนั้นเลย มันเป็นอัตตา ลูกศิษย์ก็เลยลาน ทำอะไรก็ไม่ถูก ตั้งต้นก็ไม่ได้ คุณเอ๋ย การทำงานทุกอย่าง ถ้าไม่มีการเริ่มต้น คำว่า ความสำเร็จจะมีมาได้อย่างไร ทั้งนี้โดยสามัญสำนึกทั่วๆ ไป การขึ้นต้นไม้ ก็ต้องขึ้นทางโคนต้นก่อน เป็นการเริ่มต้น จึงจะถึงจุดหมายที่ต้องการ จริงไหม อย่างเช่น รูปนามของคุณ ผมฟังๆ ดูแล้ว เปรอะไปหมด บางครั้งก็ให้รู้รูป ทั้ง ๒๘ รูป นามอะไรๆ ก็ให้รู้ให้หมด นามมีตั้ง ๑๒๑ โดยพิสดาร และโดยย่อ ๘๙ จะให้รู้ทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นแล้วล่ะก็ นามอีกส่วนหนึ่ง อันเป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะคุณไม่ยอมให้ตั้งต้นเลย เพราะอะไร เพราะคุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหม ที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่นเข้า ได้โปรดเถิดอย่าตะบึงตะบอนเลย โปรดจงละทิฏฐิของคำว่าอาจารย์ลงเสียเถิด เดินไปหาความรู้ใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับท่านพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพประ-สิทธิมุนี กราบเรียนถามท่านในเรื่องของวิปัสสนากัมมัฏฐาน และสูตรต่างๆ ที่คุณข้องใจและอาจหาญใช้อัตโนมัติ เรียนถามท่านเถิด ขออภัย ยี่ห้อ ป.ธ ๙ คงไม่ทำให้คุณผิดหวังได้ อีกอย่างหนึ่ง ได้โปรดย้อนไปศึกษาพระอภิธรรมในส่วนที่เป็นสูตรต่างๆ หนึ่งสูตรนั้นเรียกว่า มทาปัฏฐาน (ในที่นี้เขียนว่า มทา) จงเปิดดูในบทว่าด้วยกรรม ที่ท่านบอกว่าได้แก่เจตนา และเจตนานี้มี ๒ เกิดขึ้นได้กับจิตทุกๆ ประเภท โปรดไปศึกษาให้ละเอียด แล้วคุณจะได้พบจุดเริ่มต้นเสียที

สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเป็นอย่างมากที่ไม่สามารถจะนับถือคุณเป็นอาจารย์ได้ เพราะคุณความรู้น้อยกว่าผมเหลือเกิน ตอนจบขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย จงช่วยบันดาลให้คุณเป็นนักปฏิบัติที่สมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้ไม่พูดโดยอาศัย จินตามยปัญญาของคุณเสียที คุณจะได้พูดอย่างนักปฏิบัติที่แท้จริง โดยไม่เอาชนะกันด้วยโวหาร หากแต่ว่าจะพิจารณากันโดยนัยอารมณ์ของนักปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นโดยสุขุมลึกซึ้งกว่าจินตาปัญญาของคุณเสียอีกเป็นไหนๆ ขอสวัสดีเพียงเท่านี้ ไม่ให้พรกันล่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นอัตตา อโหสิ

เคารพ

พุทธบุตร

วันนี้ต้องขออภัยท่านผู้ฟังที่จะขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังที่ใช้นามว่า พุทธบุตร

ข้อ ๑ ที่คุณพุทธบุตรเขียนมาว่า ยังจับประเด็นไม่ได้

ประเด็นของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง การที่ปัญญาจะรู้ชัดอย่างนั้นได้ ก็จะต้องอาศัยสติ การระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดข้ามการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้นั้นก็จะฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาไม่เข้าใจ และสติก็ไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อ ๒ ที่ว่าผมไม่เคยได้ยินว่า คุณเอาอรรถกถา ฎีกา หรืออนุฎีกามาอ่านบ้างเลย

ไม่ใช่ว่าข้อความในอรรถกถาจะขัดแย้งกับข้อความในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าที่ท่านอรรถกถาจารย์นำข้อความต่างๆ มาประมวลไว้ได้ เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ศึกษาธรรมรุ่นหลังนั้น ท่านต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจอรรถในพระไตรปิฎก และประมวลข้อความในพระไตรปิฎกนั่นเองมาเป็นอรรถกถา เพราะฉะนั้น ข้อความก็ตรงกัน ซึ่งส่วนมากท่านผู้ฟังจะเคยผ่านเคยฟังแต่ข้อความในอรรถกถา ไม่ค่อยจะได้มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อความเต็มโดยตรงจากพระไตรปิฎก

เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ เมื่อท่านมีความสนใจในธรรม ท่านก็ควรที่จะได้รับทราบข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพื่อที่จะได้พิจารณาให้ละเอียด และ กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนมากจึงได้นำข้อความในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา มาประกอบชี้แจงความหมาย เพื่อให้ท่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพุทธบุตรได้ติดตามฟัง คุณพุทธบุตรคงไม่กล่าวหาว่าดิฉันไม่ได้นำเอาอรรถกถา ฎีกา หรืออนุฎีกามาอ่านบ้างเลย

สำหรับเรื่องฎีกา หรือว่าอนุฎีกานั้น เป็นคำอธิบาย เพียงพยัญชนะบางพยัญชนะเท่านั้น แต่ว่าข้อความที่อธิบายมาก ก็จะมีครบถ้วนในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ส่วนในคัมภีร์รุ่นหลังต่อไปนั้น ก็เป็นข้อความที่อธิบายคำเป็นส่วนมาก ซึ่งข้อความก็ตรงกัน

สำหรับอรรถกถาที่ได้เคยนำมาอ่าน ก็มีทั้งอรรถกถาของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เช่น

สมันตปาสาทิกา เป็นอรรถกถาพระวินัยปิฎก

สุมังคลวิลาสินี เป็นอรรถกถาของทีฆนิกาย

ปปัญจสูทนี เป็นอรรถกถามัชฌิมนิกาย

สารัตถปกาสินี เป็นอรรถกถาสังยุตตนิกาย

มโนรถปูรนี เป็นอรรถกถาอังคุตตรนิกาย

ปรมัตถโชติกา เป็นอรรถกถาขุททกนิกาย เป็นต้น

ถ้าท่านผู้ฟังรับฟังรายการนี้โดยตลอด จะได้ฟังข้อความจากอรรถกถาเหล่านี้ ไม่ใช่ว่า ไม่ได้เคยนำมาอ่านเลย

อีกประการหนึ่งที่คุณพุทธบุตรคิดว่า ข้อความในอรรถกถานั้นคงจะไม่ตรงกับคำบรรยายที่ดิฉันบรรยาย ก็เป็นที่น่าเสียดายที่คุณพุทธบุตรไม่ได้ยกข้อความประการหนึ่งประการใดขึ้นมาประกอบให้ชัดเจนว่า ที่ว่าไม่ตรงนั้น คือเรื่องอะไร และข้อความในอรรถกถา ฎีกามีว่าอย่างไร และดิฉันบรรยายคลาดเคลื่อนอย่างไร ซึ่งถ้าคุณพุทธบุตรเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะได้กล่าวถึงข้อนั้น และยกอรรถกถาฎีกาขึ้นมาประกอบชี้แจงให้เห็นว่าผิดอย่างไร หรือว่าคลาดเคลื่อนอย่างไร

ข้อที่ว่า เคยตั้งปัญหาถามคุณหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ประเด็นนั้นยังไม่กระจ่าง คุณก็เปลี่ยนประเด็นเสีย

ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน คือ ถ้าคุณพุทธบุตรจะกรุณายกประเด็นที่ยังสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า ยังสงสัยข้องใจเรื่องอะไร และที่ว่าเปลี่ยนประเด็นนั้น เปลี่ยนอย่างไร ก็คงจะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นว่า เป็นประเด็นที่ประกอบด้วยเหตุผลและหลักฐานหรือไม่ หรือว่าที่จำเป็นต้องเปลี่ยนประเด็น หรือว่าจำเป็นต้องตัดประเด็นนั้นออกไป เพราะไม่ประกอบด้วยหลักฐาน และไม่ประกอบด้วยเหตุผล

สำหรับข้อที่ว่า พิฆาตศิษย์ ส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังจากท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังก็ อนุโมทนาที่ทำให้ท่านเข้าใจสภาพธรรม ทำให้เข้าใจธรรมวินัยชัดเจนขึ้น และทำให้ท่านเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นประโยชน์ในชีวิตด้วย เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับประโยชน์จากธรรม มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยมากขึ้น และเจริญสติปัฏฐานด้วยนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นการพิฆาตผู้นั้น

ที่ว่า บางครั้งก็ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป รูปนามอะไรๆ ก็ให้รู้ให้หมด นามมีตั้ง ๑๒๑ โดยพิสดาร และโดยย่อ ๘๙ จะให้รู้ทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นแล้วละก็ นามอีกส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย นี่เป็นข้อความจากจดหมายของคุณพุทธบุตร

ถ้าคุณพุทธบุตรเป็นผู้ที่ฟังรายการนี้โดยตลอด คงจะไม่เข้าใจผิดอย่างนี้ เพราะเหตุว่าคุณพุทธบุตรกล่าวว่า บางครั้งก็ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะให้ท่านผู้ฟังรู้รูปรวมๆ กันทั้ง ๒๘ รูป ในการบรรยายแต่ละครั้ง ก็ได้เรียนชี้แจงว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามทีละ ๑ นาม รูปทีละ ๑ รูป หรือว่าทีละลักษณะ จึงจะชื่อว่าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือลักษณะของรูป ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และในการบรรยายตลอดมา ไม่เคยให้ท่านผู้ฟังรู้รูปที่ไม่สามารถจะรู้ได้

ใน ๒๘ รูป รูปใดปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น เป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องขวนขวายไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ ไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ ที่ไม่มีลักษณะปรากฏ หรือว่าจะไปรู้นามที่ไม่ปรากฏ ไม่มีลักษณะปรากฏ และไม่เคยบรรยายว่าให้ไปรู้ทั้งหมด คือ ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป ให้รู้นามทั้ง ๑๒๑ ดวง หรือ ๘๙ ดวง

ถ้าท่านผู้ฟังจะฟังทบทวนอีก ท่านก็จะทราบว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามที่ปรากฏ ลักษณะของรูปที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่มีนามปรากฏ มีรูปปรากฏ แต่ไม่รู้ จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ

อย่างทางตา ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบว่า ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเพราะรูปารมณ์ คือ สีกระทบจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบนั้น ซึ่งจิตในขณะนั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ทางตา ก็เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดและดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ชื่อว่า ทำกิจสันตีรณะ ซึ่งจิตนั้นคือสันตีรณจิต เมื่อดับไป มีจิตที่มนสิการ คือ ทำกิจโวฏฐัพพนะ ได้แก่ มโนทวาราวัช-ชนจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิดต่อ

แต่ในการบรรยาย ไม่เคยบรรยายให้ท่านผู้ฟังไปรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต ไปรู้สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตอะไรเลย เพียงแต่ว่าทางตาเห็นมี แต่ไม่เคยระลึกรู้ว่าที่เห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะสูง จะต่ำ จะดำ จะขาว จะเป็นอย่างไร รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่ว่ารู้ขณะที่กำลังเห็น รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นนามธรรม สภาพที่เห็นก็เป็นนามธรรม ชอบใจหรือไม่ชอบใจเกิดจากการเห็น สภาพที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้นก็เป็นนามธรรม เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีปรากฏให้รู้ได้ สติก็ระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้าท่านจะฟังการบรรยาย และประมวลสิ่งที่ท่านได้ฟัง ท่านก็จะได้ฟังข้อความที่ว่า ไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ และสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา ความเห็นถูกตามความเป็นจริงนั้น ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนตตา ไม่ใช่ว่าให้ท่านไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ ไปรู้นามที่ไม่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพุทธบุตรฟังโดยตลอดก็จะทราบว่า ไม่มีข้อความว่าให้ไปรู้สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะอะไร แต่ว่าที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้น ก็เพื่อที่จะให้ท่านที่ได้ศึกษา มนสิการสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อละคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว สิ่งใดปรากฏ สติก็จะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ส่วนที่ท่านผู้ใดจะรู้ความละเอียด ประณีตของนามธรรม รูปธรรม ได้มากน้อยต่างกันเท่าไรนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะต้องมีปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร แต่ว่าถึงแม้จะไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ชัดเจนถูกต้อง จึงจะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

สำหรับข้อที่คุณพุทธบุตรเขียนมาว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วละก็ นามอีกส่วนหนึ่งอัน เป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย

เรื่องของการศึกษาธรรม เป็นเรื่องตามลำดับขั้น บางทีท่านที่ศึกษาปริยัติธรรมจะติดอยู่ที่ชื่อ แต่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่างคำว่า นามธรรม รูปธรรม มีหลายท่านที่บอกได้ว่า เห็นเป็นนาม สีที่ปรากฏเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เสียงที่ปรากฏเป็นรูป แต่ไม่ทราบว่า ที่ว่าเป็นนามนั้น ทำไมว่าเป็นนาม มีลักษณะอย่างไร จึงใช้คำบัญญัติว่านาม (นามะ) หรือนามธรรม ส่วนที่เป็นรูปนั้นมีลักษณะแตกต่างกับนามธรรมอย่างไร จึงใช้คำบัญญัติว่ารูป (รูปะ) หรือรูปธรรม แต่ผู้ที่เจริญสติรู้ถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ไม่ได้ติดอยู่ที่ชื่อว่านาม แต่รู้ว่า สภาพธรรมนี้เป็นสภาพรู้ ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นของที่มีจริง

สภาพที่เป็นสุข เพราะรู้อารมณ์อะไร สุขเพราะเห็น หรือว่าสุขเพราะได้ยิน หรือว่าสุขเพราะได้กลิ่น หรือว่าสุขเพราะรู้รส หรือว่าสุขเพราะกระทบสัมผัส หรือว่าสุขเพราะคิดนึก สภาพที่เป็นสุข เป็นสุขในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนื่องมาจากสิ่งที่ปรากฏ เนื่องมาจากสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ความหมายของคำว่า นาม (นามะ) หรือ นามธรรม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ที่ว่าเป็นนามธรรมนั้น ก็เพราะมีลักษณะน้อมไปสู่ อารมณ์ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ลักษณะต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะไม่ติดอยู่ที่ชื่อ จะไม่บอกว่าอะไรเป็นนามเป็นรูปโดยชื่อ แต่เพราะสติระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือว่าลักษณะที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง

ขอกล่าวถึงภวังคจิต ซึ่งความจริงในตอนนี้เป็นเรื่องของวีตราคจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยความโลภ ส่วนเรื่องของวิบากจิตที่เป็นภวังคจิตก็ยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะเหตุว่าวีตราคจิตนั้น ได้แก่ จิตที่เป็นกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ซึ่งในขณะนี้กำลังบรรยายถึงกุศลจิตขั้นทาน ยังไม่ถึงขั้นศีล ขั้นภาวนา และก็ยังไม่ถึงวิบากจิต กิริยาจิตด้วย แต่เมื่อคุณพุทธบุตรมีความสงสัยอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องส่องถึงความข้องใจในการปฏิบัติ และคงจะติดอยู่ที่คำว่าภวังคจิต เพราะว่านี่เป็นชื่อโดยปริยัติ สภาพของภวังคจิตเป็นจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต ขณะจิตที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพนี้ที่ทำกิจปฏิสนธิ เป็นจิตชาติวิบาก ไม่ใช่กุศลจิต อกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าท่านจะศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด ท่านก็จะทราบว่าจิตมี ๔ ชาติ โดยการเกิด คือ

จิตบางประเภทเป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงาม

จิตบางประเภทเป็นอกุศล เป็นจิตที่ไม่ดี

ทั้ง ๒ อย่างนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า คือ เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด กุศลจิตเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิด

เพราะฉะนั้น ขณะจิตที่เกิด ไม่ใช่เป็นขณะที่ทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมใดๆ แต่การที่จะเกิดที่ใด เมื่อไร เป็นภพใด ชาติใด ภูมิใดนั้น ต้องแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิด ทำกิจปฏิสนธิขึ้นเป็นขณะแรกในชาตินั้น ในภพนั้น

ธรรมดาของสังขารธรรมนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ไม่ใช่หมดเพียงแค่นั้น มีปัจจัยแล้วในอดีตที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดต่อ ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นต่อไปจนกว่าจะถึงจุติ ไม่ว่าจะปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์พิการตั้งแต่กำเนิด หรือว่าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติปัญญาสมบูรณ์พร้อม ก็เป็นเรื่องที่ว่า แล้วแต่กรรมในอดีตเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทใดเกิดขึ้น เมื่อทำกิจปฏิสนธิจิตแล้ว ดับไปแล้ว ก็ยังมีปัจจัย คือ กรรมในอดีตทำให้จิตเกิดต่อ ซึ่งจิตที่เกิดต่อนั้นต้องเป็นประเภทวิบาก เป็นผลของกรรม ทำภวังคกิจ

ในขณะที่เป็นภวังคกิจนี้ ก็นับไม่ถ้วนว่ากี่ขณะ และก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการคิดนึก มีการรู้รส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เกิดสลับตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัจจัยที่จะให้การเห็นเกิดขึ้น การเห็นก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว

วิถีจิตที่เห็น ไม่ใช่ภวังคจิต แต่เมื่อการเห็น วิถีจิตที่เห็นสีนั้นดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อไว้ก่อนที่จะได้ยิน เมื่อมีการได้ยินแล้ว วิถีจิตที่ได้ยินดับไปหมดแล้ว ก็มีภวังคจิตเกิดสืบต่อไว้ ไม่ให้สิ้นสุดภพชาติลงไปได้

เพราะฉะนั้น ขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ก็มีจิตทั้งกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง เกิดดับสืบต่อกัน แล้วแต่ประเภท แล้วแต่วิถีของจิต แต่ให้ทราบว่า ภวังคจิตในขณะนี้ ถึงแม้ว่ามีจริง เกิดขึ้นคั่นในระหว่างวิถีจิตทางตากับวิถีจิตทางหู เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ภวังคจิตเกิด ท่านไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้กำลังเห็น และก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็มีภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะแล้ว

แต่ท่านสามารถที่จะรู้ลักษณะของภวังคจิตได้โดยขั้นปริยัติ เวลาที่หลับสนิท ขณะนั้นไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีความฝันเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นภวังคจิต ทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ มีลักษณะที่ต่างกับคนที่สิ้นชีวิตแล้ว คนที่สิ้นชีวิตแล้วยังมีรูป แต่ว่าไม่มีจิต ไม่มีภวังคจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติสามารถที่จะรู้ภวังคจิตได้บ้างไหม ในขณะไหน ท่านที่เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ เวลาที่ตื่น รู้ไหมว่าไม่เหมือนกับที่หลับ เวลาตื่นใครบ้างไม่รู้ว่าตื่นแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติทันทีที่ตื่นขึ้น ก็ระลึกถึงขณะก่อนนั้นซึ่งเป็นขณะที่ต่างกันกับขณะที่ตื่นได้ไหม ถ้าท่านเป็นผู้ที่ละเอียด ถ้าสติเจริญเนืองๆ บ่อยๆ และเป็นผู้ที่ระลึกรู้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรม ลักษณะของรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่ตื่นนี้อะไรตื่น นามหรือรูป ขณะที่หลับอะไรหลับ นามหรือรูป รู้ได้ไหมถึงลักษณะ สภาพที่ต่างกันเมื่อสักครู่นี้ชั่วขณะหนึ่งว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ แต่ว่าพอถึงชื่อว่าภวังคจิต ทำให้ท่านคิดว่า ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของภวังคจิตได้

ภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อ คั่นระหว่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยากแก่การที่จะรู้ได้ เพราะเกิดน้อยขณะกว่าขณะที่ท่านหลับสนิท

เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ละเอียดมากน้อยต่างกัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และเป็นเรื่องที่สามารถจะรู้สภาพความจริงได้ ไม่ใช่ว่า สภาพความจริงปรากฏแล้วรู้ไม่ได้

สภาพที่ตื่น และรู้ความต่างกันของขณะที่ตื่นกับขณะที่หลับ ลักษณะที่หลับในขณะนั้น ที่สติระลึกรู้โดยชื่อ คือ ภวังคจิต

สำหรับท่านที่เจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ฝัน สติสามารถที่จะระลึก ปรากฏเหมือนกับว่า เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะที่ฝัน แล้วก็ฝันต่อไป และก็ตื่นขึ้นก็ได้ เป็นเรื่องสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่พ้นกำลัง พละของสติและปัญญาไปได้

ผู้ที่เจริญสติแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสติพละ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญญาพละเจริญ จนกว่าจะสมบูรณ์ จนกว่าความรู้จะชัด จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้จริง และสติปัญญาของแต่ละท่านนั้น จะรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไรละเอียดขึ้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่า ท่านจะต้องรู้เท่าท่านพระสารีบุตร หรือว่าเท่าพระมหาสาวกองค์อื่นๆ

การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้จะละเอียดอย่างไร ท่านก็จะต้องเจริญปัญญาให้คมกล้าขึ้น เพื่อที่จะละการยึดถือนามธรรม รูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมอย่างละเอียดขึ้น อย่างที่คนอื่นอาจจะรู้ไม่ได้ เยื่อใยการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่รู้ก็ย่อมมี ถ้าปัญญาไม่คมกล้าพอที่จะละว่า ถึงแม้ว่าสิ่งที่ระลึกรู้นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดประณีตสักเท่าไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการเจริญความรู้เพื่อละ ไม่ใช่ว่า เพื่อยังมีเยื่อใยยึดถืออยู่

ข้อต่อไป คุณพุทธบุตรเขียนว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าคุณไม่ยอมให้ตั้งต้นเลย เพราะอะไร เพราะคุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหม ที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น

ไม่ทราบว่าเพราะอะไร คุณพุทธบุตรถึงได้กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนา-สติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ผู้ที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานและเข้าใจถูก ก็เกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ทำไมถึงจะกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย

ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่กายได้ไหม ไม่ใช่ เวทนาได้ไหม ไม่ใช่จิตได้ไหม ไม่ใช่ธรรมได้ไหม ถ้าไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธรรม แล้วเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะพ้นไปจากการรู้กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น ไม่มี

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า จะไม่รู้นั้น เป็นไปไม่ได้ และข้อที่ว่า คุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหมที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น ไม่ทราบว่า คุณพุทธบุตรต้องการให้สอนอย่างไร หรือว่าสอนเหมือนใคร และที่ไม่เหมือนคนอื่นนั้น ไม่เหมือนใคร ที่ถูกแล้วจะเหมือน ใครหรือไม่เหมือนใคร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญเลย ขอให้สอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยว่า ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ และตรงกับสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว ก็จะตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทุกประการ

เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะให้ตรงกับท่านผู้หนึ่งผู้ใด หรือไม่ตรงกับท่านผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ว่าเรื่องสำคัญนั้น คือ ตรงกับพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ-ภาคได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ และตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือไม่ ไม่ควรจะคิดว่า กลัวจะไม่ดังใช่ไหมที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น เพราะเหตุว่าถ้าแสดงธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว อะไรจะแพร่หลาย พระธรรมย่อมแพร่หลาย ผู้ที่ได้ฟังธรรมมีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรมโดยตรงมากยิ่งขึ้น มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เองมากขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้จะแพร่หลาย จะใช้คำว่า จะกึกก้อง หรือว่าจะโด่งดัง ก็แล้วแต่ท่านจะใช้พยัญชนะใด แต่ไม่ใช่ว่า บุคคลที่กล่าวธรรมตามธรรมวินัยจะแพร่หลายหรือจะโด่งดัง เพราะเหตุว่าผู้นั้นแสดงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ไม่ใช่ธรรมที่คิดขึ้นมาเอง จะได้เป็นผู้ที่โด่งดังอีกผู้หนึ่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว พระธรรมนั้นเองจะแพร่หลาย

สำหรับข้อที่คุณพุทธบุตรกล่าวว่า โปรดจงละทิฏฐิของคำว่าอาจารย์ลงเสียเถิด เดินไปหาความรู้ใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับท่านพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณเทพประสิทธิมุนี กราบเรียนถามท่านในเรื่องของวิปัสสนากัมมัฏฐานและสูตรต่างๆ ที่คุณข้องใจ และอาจหาญใช้อัตโนมัติ

ต้องขอขอบคุณคุณพุทธบุตรที่มีความหวังดี ที่จะให้ดิฉันศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่คุณพุทธบุตรคงไม่ทราบว่า ปกติดิฉันไม่ได้หยุดการศึกษาพระธรรมวินัยเลย ศึกษาเพิ่มเติมและปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา และการรับฟังการบรรยายของท่านผู้รู้ทุกท่านนั้น ก็รับฟังเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ และเมื่อรับฟังแล้วก็เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษาด้วย ถ้าสิ่งที่ศึกษานั้นเป็นภาษาบาลีก็ไม่ได้เคยนึกเดาตามใจชอบ แต่ได้กราบเรียนนมัสการถามท่านผู้ที่มีความรู้ในทางภาษาบาลีอย่างสูงเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ที่คุณพุทธบุตรมีความหวังดีเพราะอาจจะคิดว่า ตลอดเวลานี้ดิฉันไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรเลย ก็ขอเรียนให้ทราบตามความเป็นจริงด้วย

ประการต่อไปคุณพุทธบุตรเขียนมาว่า และอีกอย่างหนึ่งได้โปรดย้อนไปศึกษาพระอภิธรรมในส่วนที่เป็นสูตรต่างๆ หนึ่งสูตรนั้น เรียกว่า มหาปัฏฐาน จงเปิดดูในบทว่าด้วยกรรมที่ท่านบอกว่า ได้แก่ เจตนา และเจตนานี้มี ๒ เกิดขึ้นได้กับจิตทุกๆ ประเภท โปรดศึกษาให้ละเอียด แล้วคุณจะได้พบจุดเริ่มต้นเสียที

สำหรับในเรื่องนี้ ก็ใคร่ที่จะเรียนชี้แจงท่านผู้ฟังให้เข้าใจเรื่องของเจตนาเพื่อท่านจะได้เข้าใจข้อปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อนด้วย

บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เจตนาเป็นองค์ของมรรคในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก ๑ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ๑

มีเจตนาในมรรคมีองค์ ๘ ไหม ไม่มี

เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก

คำว่า “เจตสิก” เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต ถ้าในภูมิที่มีรูปเป็นที่เกิด ก็เกิดที่เดียวกับจิต เวลาที่จิตเกิดขึ้น เพราะจิตเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น จะมีแต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นโดยไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยไม่ได้

สังขารธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย สำหรับจิตขณะหนึ่งๆ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง อย่างมาก ๓๐ กว่าดวง แล้วแต่ประเภทของจิต แล้วแต่กิจของจิต

สำหรับเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงมี ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรมก็คุ้นหู ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริย มนสิการ เป็นเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่ากำลังนอนหลับ ก็จะต้องมีผัสสเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีเจตนาเจตสิก มีเอกัคคตาเจตสิก มีชีวิตินทริยเจตสิก มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ในขณะปฏิสนธิจะมีความต้องการหรือไม่ต้องการจะเกิดก็ตาม จะมีความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไรก็ตาม ปฏิสนธิจิตนั้นก็จะต้องมีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ว่าที่กล่าวถึงนี้ กล่าวถึงเฉพาะเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เว้นเลย

สำหรับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นของที่มีจริง ถ้าท่านศึกษาโดยปริยัติ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

อย่างผัสสเจตสิกเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ถ้าไม่กระทบอารมณ์ที่ปรากฏ จิต เจตสิกจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้ การที่จะรู้อารมณ์นั้นได้จะต้องมีนามธรรมกระทบกับอารมณ์นั้น จึงรู้อารมณ์นั้นได้ อย่างขณะที่กำลังเห็น ก็จะต้องมีจักขุสัมผัส มีผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ จักขุวิญญาณจึงเห็น จึงเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่มีการเห็น ทราบได้ว่ามีผัสสะ กระทบแล้วจึงได้เห็น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบ การเห็นก็มีไม่ได้ นี่เป็นเจตสิกดวงหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง

นอกจากนั้นเวทนาเจตสิก ความรู้สึกจะเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตที่กำลังหลับ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ จิตที่ทำกิจภวังค์ใดๆ จะมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้สึก มีทั้งเป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ อทุกขมสุขก็ได้ ใครจะไปยับยั้งกีดกัน ไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ไม่ให้ผัสสะเกิดกับจิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น จะไปยับยั้งว่า ขณะหลับไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ก็ยับยั้งไม่ได้

สำหรับสัญญาเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จำ หมายสิ่งที่เห็นและเมื่อเห็นอีก ก็ทราบว่าเคยเห็น หรือสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร

ถ้าเป็นทางหู เวลาที่ได้ยิน ก็มีสภาพที่จำ หมายลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ทำให้รู้ว่าเป็นเสียงใคร เป็นเสียงอะไร หรือว่าเสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร นี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพนามธรรมที่จำ เป็นสิ่งที่มีจริงที่สติจะต้องระลึกได้รู้ว่า แม้ขณะที่รู้เรื่อง แม้ขณะที่จำได้ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่จำ มีกิจที่จะจำ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเท่านั้น

สำหรับเจตสิกประเภทต่อไป ที่เป็นปัญหาของคุณพุทธบุตร คือ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

โดยสภาวะลักษณะ เจตนาเจตสิก มีความจงใจ เป็นลักษณะ

มีการประมวลมาให้สหธรรมทั้งหลาย เป็นไปตามความประสงค์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการจัดแจง เป็นอาการปรากฏ

เวลาที่เกิดความคิด ตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ เป็นลักษณะที่ปรากฏชัดของเจตนา ซึ่งขอให้ท่านคิดถึงลักษณะ สภาพของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง

ในขณะปฏิสนธิ จิตดวงแรกที่ทำกิจปฏิสนธิมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะนั้นมีความจงใจ มีความตั้งใจอะไรไหมที่จะปรากฏให้รู้ได้ จงใจจะเกิดที่นั่น เป็นบุคคลนั้น เป็นมนุษย์อย่างนั้น เป็นเทวดาอย่างนั้นได้ไหม ในขณะนั้น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพของปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรม กรรมทำให้เจตนาที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย ขวนขวาย กระตุ้นสหชาตธรรม คือ นามธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ให้กระทำกิจให้สำเร็จตามฐานะของสภาพธรรม นั้นๆ นี่เป็นลักษณะของเจตนา

กำลังเห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกว่าจงใจอะไรหรือเปล่าในขณะที่เห็น ไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เห็น เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ได้ยิน แต่แม้กระนั้นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่เห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่ได้ยิน สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของเจตนา คือ เพียงทำให้สหชาตธรรม จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไปตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกอะไรก็ตาม เจตนาก็มีกิจกระตุ้น ขวนขวาย ประมวลมา กระทำให้สำเร็จกิจของสภาพธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ตั้งใจให้สติเกิดได้ไหม มีใครตั้งใจให้สติเกิดได้บ้าง สติเป็นคุณธรรมที่มีประโยชน์มาก มีคุณมาก ไม่ว่าสติที่จะระลึกเป็นไปในทานก็มีประโยชน์เพราะเหตุว่าทำให้เกิดกุศลจิต ทำให้เกิดกุศลกรรม สติที่ระลึกได้เป็นไปในศีลก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกได้เป็นไปในการทำจิตให้สงบก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมรู้ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลก็มีประโยชน์มาก

เมื่อสติเป็นคุณธรรม มีประโยชน์มากมายถึงอย่างนี้ ลองจงใจ ตั้งใจ เจตนาให้สติเกิด สติจะเกิดได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ทำไมถึงจะคิดว่าจะต้องรู้เรื่องของเจตนา และจะได้ตั้งต้นเสียที ในเมื่อเจตนาไม่ใช่องค์มรรคในมรรคมีองค์ ๘

เจตนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนามี ๒ อย่าง คือ โดยปัจจัยแล้วเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ๑ เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ๑

ถ้ากล่าวถึงชื่อ ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่ายาก แต่ที่ทรงแสดงไว้ คือ กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ที่เราพูดถึงกรรมบ่อยๆ กุศลกรรม อกุศลกรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวายให้กิจนั้นสำเร็จลงไป

เมื่อเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง สภาพของเจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวงนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชาตะ แปลว่า เกิด สหะ แปลว่า ร่วมกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อเจตนาเป็นกรรม ก็เกิดร่วมกับจิต เกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ เจตนาที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิตนั้น เป็นปัจจัยของจิตและเจตสิกโดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง

แต่สำหรับนานักขณิกกัมมะ อีกประเภทหนึ่งนั้น หมายเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าเจตนาที่เกิดกับวิบากจิต กิริยาจิต กับจิตเห็น กับจิตได้ยินเหล่านั้น เป็นต้น ไม่มีกำลัง ไม่เหมือนกับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับชวนจิต ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล มีกำลังสามารถที่จะเป็นปัจจัยโดยที่ว่า ถึงแม้ว่าจิตนั้นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้นดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในกาลข้างหน้าต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านมีวิบากจิต มีการเกิด และมีการเห็น มีการได้ยิน บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดีนั้น เป็นผลของกรรม คือ เจตนาในอดีต แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลเจตนา หรือว่าเป็นผลของอกุศลเจตนา ซึ่งเป็นนานักขณิกกัมมะ เวลาที่กุศลจิตเกิด จงใจ ตั้งใจที่จะให้จิตเป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ กุศลจิตจะเกิด ก็เพราะว่าได้เคยอบรมสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุ มีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด

ไม่มีใครชอบอกุศลจิต โลภมูลจิตก็ไม่ชอบ โทสมูลจิตก็ไม่ชอบ โมหมูลจิตก็ไม่ชอบ เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เป็นอกุศลจิต จงใจ ตั้งใจให้เกิดหรือเปล่า ไม่ชอบอกุศลจิต แต่อกุศลจิตก็เกิด และมีเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จงใจกระทำกิจของตนให้สำเร็จ ในกิจนั้น โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ เพราะฉะนั้น อกุศลจิตก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แม้เจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตก็มีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น เป็นอนัตตา

สภาพที่จงใจ สภาพที่ตั้งใจ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น วันนี้มีใครตั้งใจจะทำอะไรบ้างหรือเปล่า ทำจริงๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกครั้งหรือเปล่า บางครั้งตั้งใจว่าจะทำอย่างนี้ แต่ว่ามีสิ่งอื่นเกิดขึ้น ทำให้ไม่ได้กระทำสิ่งที่ตนตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าต้องมีเจตนาซึ่งเป็นความตั้งใจ แต่ต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ คือ สติที่จะต้องระลึกรู้ว่า แม้เกิดความตั้งใจจะกระทำอะไรสภาพที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เจตนาเป็นสังขารธรรม ไม่มีเหตุปัจจัย เจตนาก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ในขณะที่ตั้งใจ จงใจนั้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 196

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 197

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 198