จิต ตั้งอยู่ที่ไหน มือขวาถือพระไตรปิฎก มือซ้ายถือ mp 3 บ้านธรรมมะ จิตอยู่ที่มือข้างไหนหรือ ที่ตาทั้งสอง หรือที่สมอง คือความนึกคิด หรือที่หัวใจ กระผมพิจารณาไม่ถูก ไม่รู้ว่าจิตตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่
มีสภาพรู้ปรากฎที่ไหน...จิตก็อยู่ที่นั่น
จากหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป หัวข้อ จิตตสังเขป บทที่ ๑
โดย ท่าน อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์
รูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นถ้าไม่มีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น จะรู้ได้ว่าชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็น ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ ขณะที่คิดว่าเป็นโลก เป็นสัตว์บุคคล วัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นชั่วขณะที่จิตคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ขณะที่กำลังเห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏ
ในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายจิตตนิทเทส
มีข้อความว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร
ที่ (จิต) ชื่อว่า "มนะ" เพราะกำหนดรู้อารมณ์
ที่ (จิต) ชื่อว่า "หทย" เพราะความหมายว่าเป็นสภาวะอยู่ภายใน
ที่ (จิต) ชื่อว่า "ปัณฑระ" เพราะความหมายว่าบริสุทธิ์คำนี้ ตรัสหมายเอาภวังคจิต
ที่ (จิต) ชื่อว่า "มนายตนะ" อธิบายในคำว่า มนายตนะ นั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ
เพราะความหมายว่าเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมและเป็นเหตุ
และขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ //www.dhammastudy.com/thpar2.html ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การอบรมปัญญาไม่ใช่ให้ไปพิจารณาว่าจิตอยู่ที่ไหน หรือพยายามหา เพราะถ้าเป็นตัวเราที่หา ไม่ใช่สติและปัญญาก็ไม่มีทางหาเจอ แต่การอบรมปัญญาให้เริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟังว่า ธรรมคืออะไร คือ จิต เจตสิก รูป เป็นต้น ขั้นการฟัง ไม่สามารถจะไปรู้ตรงที่จิตเกิดได้ เพราะเป็นปัญญาขั้นการฟัง แต่ปัญญาขั้นการฟัง เป็นเบื้องต้น พื้นฐานที่จะนำไปสู่การรู้ว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น เป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือการอบรมปัญญาคือ รู้ว่าจิตเป็นธรรม ไม่ใช่ไปหาจิต เพราะเรายึดถือว่า จิตเป็นเรา ซึ่งเป็นความเห็นผิด อบรมความเห็นถูก ด้วยการฟังให้เข้าใจว่า จิตคืออะไร จิตอยู่ในขณะนี้ และปัญญาจะต้องรู้อย่างไรครับ
ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น เช่น จิตเห็นเกิดที่ตา ก็ดับที่ตา จิตได้ยินเกิดที่หูก็ดับที่หู จิตได้กลิ่นเกิดที่จมูกก็ดับที่จมูก จิตลิ้มรสที่ลิ้นก็ดับที่ลิ้น จิตกระทบสัมผัสทางกายก็ดับที่กาย จิตคิดนึกที่ไหนก็ดับที่นั้นค่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจ และความเข้าใจจะเกิดต้องอาศัยการศึกษา อ่าน ฟังธรรมทุกวันและทุกครั้งที่มีโอกาสค่ะ
รู้จริงเมื่อสติเกิด
ถ้าสติขั้นทาน ศีล ภาวนาไม่เกิด ตลอดทั้งวันก็เป็นอกุศลค่ะ ถ้าเป็นภิกษุเพียงแค่อกุศลจิตเกิด ท่านเปรียบเหมือนมหาเมฆใหญ่ คือเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยค่ะ
เข้าใจมากขึ้นโดยลำดับ อนุโมทนาด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
คิดที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั้นแหละครับ (ต้องฟังอย่างเดียว อ่านไปด้วยไม่ได้หรือครับ)
ยินดีในกุศลจิตค่ะ