ทิฏฐาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
โดย พุทธรักษา  9 ก.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 9797

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๓๓

บรรยายโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

สำหรับเรื่องของ ภวาสวะ คือความยินดีพอใจในภพชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็ยังมีความอยากได้ดังกล่าว อยู่เรื่อยๆ คืออยากมีขันธ์ ๕ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งข้อนี้ อุปมาว่า นันทิราคะ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ขึ้นชื่อว่า ชิ้นเนื้อ เป็นที่ต้องการมาก แม้มนุษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์ เป็นต้น เดรัจฉาน มี กา เป็นต้น ต่างก็มีความต้องการในชิ้นเนื้อนั้นเช่นกัน สัตว์เหล่านี้ มีอวิชชา มีความติดใน นันทิราคะ ย่อมปรารถนา วัฏฏะ ชิ้นเนื้อ ย่อมติดอยู่ในที่ ที่วางแล้ว ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ถูกนันทิราคะผูกพันย่อมติดอยู่ในวัฏฏะ ฉันนั้น แม้ประสพกับความทุกข์ ก็ไม่รู้จักเบื่อหน่าย เพราะเหตุนั้น นันทิราคะ จึงเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ละ นันทิราคะ ด้วย มัคคที่ ๔

การละกิเลส ต้องละเป็นขั้น ถึงแม้ว่าจะเป็น พระอนาคามีบุคคล ละความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมี ความยินดีพอใจในภพชาติ ในขันธ์ซึ่งจะละได้ก็ด้วย "อรหัตตมัคค" นี่เป็นเครื่องแสดงว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติ อย่าไปละผิดๆ หรือไปบังคับผิดๆ

สำหรับ ทิฏฐาสวะ จะละได้หมด ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล สำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านระลึกรู้แต่เพียง รูปธรรม แต่ตัวตนยังอยู่ที่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงทราบว่า ปัญญาเพียงแค่นี้ ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ท่านก็จะไม่ข้าม

การระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือความรู้สึกที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าคิดจะข้ามก็เป็นตัวตนที่คิด ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ว่า การที่จะละสักกายทิฏฐิได้จริงๆ นั้น ปัญญาต้องสมบูรณ์มาก มีความละเอียดขึ้น คมกล้าขึ้น "รู้แจ้ง" จริงๆ ในลักษณะของรูป ของนาม ที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่มีเยื่อใยไปยึดโยงไว้ ว่าเป็นตัวตน

สำหรับ อวิชชาสวะ ในปปัญจสูทนีย์ ได้ทรงแสดงเปรียบอวิชชา ด้วยลิ่มสลัก ซึ่งเป็นลิ่มสลักของประตูเมืองที่ปิดกั้นคนข้างนอกและคนข้างใน ให้ผ่านไปมาไม่ได้ ลิ่มสลัก คืออวิชชา ญาณมุขของผู้ใดตกไป การเข้าถึง ญาณที่จะบรรลุพระนิพพานของผู้นั้นก็ถูกปิดลง เข้าประตูนิพพานไม่ได้ เพราะไปติดสลัก คืออวิชชา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "การละอวิชชา เริ่มต้นด้วย การเรียน สอบถาม กัมมัฏฐาน" เพราะว่าบางท่าน ก็ฟังเรื่องของปริยัติ แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการเข้ามาแทรก มีตัวตน เข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือน นิดๆ หน่อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ "ทำ" อย่างนั้น เพราะเหตุว่า อวิชชานั้น มีหลายขั้น เช่น ในขณะที่ฟัง กำลังพิจารณาเหตุผล แล้วมีความเข้าใจถูก ขณะนั้นเป็นญาณสัมปยุต เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อวิชชา แต่อวิชชา ไม่ได้หมดไป ด้วยการฟัง

อวิชชา ยังมีกิจที่จะทำงานอีกมากมายหลายขณะ เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้อบรมเจริญสติ จนกระทั่งสามารถที่จะสำเหนียก สังเกต และรู้จริงๆ ว่าขณะนั้น จิต ยังมีความต้องการ ยังมีตัวตน ที่แฝงอยู่ ทำให้จงใจ หรือว่าประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น อวิชชา ก็กั้นได้หลายขั้น ถ้าไม่ฟัง อวิชชาก็กั้นอยู่ตลอด สำหรับอวิชชาสวะนี้ จะละดับเป็นสมุจเฉทด้วย "อรหัตตมัคค"

ในวันหนึ่งๆ กามาสวะ มีทุกขณะที่สติไม่เกิด กามาสวะก็มี ทิฏฐาสวะก็มี อวิชชาสวะก็มี ไหลไปเป็นกระแสของจิตที่เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ ถ้า สติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูป ถ้าเห็นกิเลสมากๆ อย่างนี้ ก็จะต้องเห็นด้วยว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องมากอย่างไร จะต้องรู้ชัดอย่างไร

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์




ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 9 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 9 ก.ย. 2551

สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 9 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 9 ก.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

นี่เป็นเครื่องแสดงว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติ อย่าไปละผิดๆ หรือไปบังคับผิดๆ

ขออนุโมทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 5    โดย ajarnkruo  วันที่ 10 ก.ย. 2551

รู้ขั้นฟัง ยังเป็นเพียงการรู้ว่ามีอาสวะด้วยเรื่องราว ยังละอาสวะไม่ได้ ยังต้องฟังต่อไป ศึกษาต่อไป แม้พระพุทธองค์เองก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขย แสนกัปป์ กว่าที่จะทรงละอาสวะทั้ง ๔ ได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทถึงความพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณและพระทศพลญาณอันเลิศ ที่จะทรงแสดงธรรมะให้เหล่าสาวกผู้มีศรัทธาทั้งหลายได้สดับจนเกิดปัญญาที่จะชำแรกกิเลส ดับสิ้นอาสวะเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ หรืออย่างน้อยก็ให้ได้รู้ตัวและระลึกอยู่เนืองๆ ว่า ... ยังมีอาสวะอยู่ (ครบหรือไม่?)

ขออนุโมทนาครับ ...


ความคิดเห็น 6    โดย เมตตา  วันที่ 11 ก.ย. 2551

เพราะว่าบางท่าน ก็ฟังเรื่องของปริยัติ แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการ เข้ามาแทรก มีตัวตน เข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือน นิดๆ หน่อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ "ทำ" อย่างนั้น

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

ขออนุโมทนาคุณปริศนา และ ทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย pornpaon  วันที่ 11 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย pamali  วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ