สงสัยว่า ทำไมต้องกล่าวคำว่า "อนุโมทนา" ด้วยครับ กล่าวอนุโมทนาไปแล้วได้อะไร? อนุโมทนาจะใช้ตอนไหน?
ถ้าเราเห็นใครทำความดี เช่น ให้ธรรมะ ให้ทาน ฯลฯ เราก็อนุโมทนาในกุศลของคนทำ หรือเราไม่ได้พูดออกมาว่าอนุโมทนา แต่ในใจก็รู้สึกยินดีหรือชื่นชมในความดีที่เขาทำ ก็เป็นกุศลที่เกิดจากจิตที่ยินดีในความดีของคนอื่น เป็นบุญ 1 อย่างในบุญญกิริยา 10 ค่ะ
ขณะที่ผู้ใดกระทำความดี มีการให้ทาน มีความประพฤติดีงามอ่อนน้อมถ่อมตน มีเมตตาผู้อื่น คอยช่วยเหลือผู้อื่น หรือกล่าวธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจ เมื่อแห็นการกระทำ ความดีของผู้อื่นเช่นนี้ เราก็สามารถอนุโมทนาในความดีของเขาได้เพราะว่าขณะนั้น กุศลจิตเกิดยินดีในความดีของผู้อื่น ขออนุโมทนาในกุศลของทุกท่านค่ะ
ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ ผิดพลาดต้องขออภัย
1. ทำไมต้องกล่าวคำว่า "อนุโมทนา" ด้วยครับ
กล่าวเมื่อมีจิตยินดีในการกระทำความดีกระทำกุศลของผู้อื่น แม้แค่รู้สึกชื่นชม ความดีของผู้อื่นในใจ ไม่กล่าวเป็นคำว่า อนุโมทนา ก็เป็นการอนุโมทนาแล้ว
2. กล่าวอนุโมทนาไปแล้วได้อะไร?
ไม่ควรกล่าวว่าได้อะไร แต่การมีจิตยินดีในกุศลของผู้อื่นได้นั้น ย่อมเป็นผู้ ละมานะในตนได้ชั่วขณะจิตหนึ่ง เป็นการขัดเกลาทีละนิดละน้อย เมื่อเกิดขึ้นบ่อยจน เป็นอุปนิสัย บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้อ่อนน้อม สุภาพ (กล่าวตามที่สังเกตจากหลายท่าน)
3. อนุโมทนาจะใช้ตอนไหน?
เมื่อเห็นหรือทราบข่าวการกระทำความดีของผู้อื่น ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึง เรื่องที่สำคัญ การกล่าวธรรมะที่เป็นประโยชน์ เอื้อเฟื้อต่อการเข้าใจพระธรรม การให้ ทาน การช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ
วันนี้คุณ BENHUR ได้พบเห็นเรื่องราวอันควรกล่าวคำอนุโมทนาบ้างแล้วหรือยังคะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
อนุโมทนาครับทุกๆ ท่าน ^^
ทำไมต้องอนุโมทนา? เพราะมีเหตุปัจจัยให้ต้องอนุโมทนา ก็ต้องอนุโมทนาครับ ไม่มีใครบังคับใครให้อนุโมทนาใคร แต่เพราะกุศลธรรมเป็นสภาพที่ฉลาด เวลาที่ได้รู้ ได้เห็นในความดีที่ผู้ใดกระทำ จึงมีใจยินดี อนุโมทนา ด้วย ขณะนั้นปราศจากความริษยาไม่มีความเมินเฉย ความดูถูกดูแคลน หรือการเพ่งโทษ เพราะขณะนั้นจิตไม่เป็นไปกับอกุศลธรรม ถ้าจิตเป็นไปในฝ่ายของอกุศลธรรมย่อมไม่สามารถจะอนุโมทนาได้แน่นอน