จักไม่ลบหลู่คุณท่าน
จักไม่ลบหลู่คุณท่าน
พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ใช่ทรงแสดงไว้สำหรับให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วไปคิดถึงคนอื่น แต่สำหรับสอนตนเอง เพราะเหตุว่าบางท่านไม่ว่าจะอ่านพระไตรปิฎก หรือฟังธรรม คิดว่าเป็นคนอื่น พระพุทธเจ้าท่านช่างรู้ละเอียดถึงความไม่ดีต่างๆ ของเขา แต่สำหรับใจของตนเองมีกิเลส หรือมีสิ่งที่จะต้องขัดเกลามากน้อยประการใด บางท่านไม่รู้ ไปรู้ของคนอื่น อย่างความลบหลู่มีลักษณะอย่างไร ตัวท่านเคยมีบ้างไหม ถ้ามีแล้ว ควรเป็นผู้ไม่ลบหลู่เพื่อขัดเกลา
สำหรับเรื่องของความลบหลู่นั้น ได้แก่ การกระทำซึ่งทำให้การกระทำดีของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตเสียไป ไม่ว่าใครจะทำคุณงามความดีมากเท่าใดผู้ที่ลบหลู่ก็ไม่ปรารถนา หรือไม่กระทำให้คุณงามความดีนั้นปรากฏ ผู้ที่ลบหลู่ย่อมกระทำให้คุณงามความดีของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั้นเสียไป
ท่านอุปมาเหมือนกับคนที่ยากจนขัดสน แล้วมีท่านผู้หนึ่งมีจิตเมตตาอุปการะ แต่ภายหลังก็กล่าวคำว่า ท่านได้ทำอะไรแก่เรา คือ ไม่เห็นคุณของผู้ที่มีคุณ หรือ บรรพชิตที่มีอาจารย์ มีอุปัชฌาย์สงเคราะห์ให้ศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อย เมื่อศึกษาเล่าเรียนเป็นผู้ที่ฉลาดเปรื่องปราชญ์ เป็นที่นับถือของพระราชามหากษัตริย์และบุคคลทั่วไปแล้ว ภายหลังก็ไม่ยำเกรงอาจารย์อุปัชฌาย์ ลบหลู่ว่า ไม่ได้ทำอะไรให้
นี่ก็เป็นลักษณะที่ถ้าเกิดมีขึ้นแม้เพียงน้อยนิด สติไม่เกิดระลึกในขณะนั้นว่า จะขัดเกลา ก็เป็นผู้ที่สะสมอกุศลต่อไป
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงสัลเลขสูตรเพื่อให้เห็นคุณของสติ แม้ท่านพระวังคีสะ ยังกล่าวว่า เวลาที่มานะเกิดกับท่านท่านก็รู้ ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์มานะก็ต้องมี แต่คุณของสติ คือ การระลึกได้ มีอุปการะที่ว่า ถ้าผู้ใดเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็สามารถละอกุศลธรรมในขณะนั้นตามขั้นของสติ จนสามารถดับกิเลสได้แน่นอน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 72