๓. จุลลปโลภนชาดก ว่าด้วยหญิงทําบุรุษให้งงงวย
โดย บ้านธัมมะ  23 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35713

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 108

๓. จุลลปโลภนชาดก

ว่าด้วยหญิงทําบุรุษให้งงงวย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 58]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 108

๓. จุลลปโลภนชาดก

ว่าด้วยหญิงทําบุรุษให้งงงวย

[๓๘๘] เมื่อน้ำไม่หวั่นไหว ดาบสนี้มาได้ด้วยฤทธิ์เอง ครั้นถึงความระคนกับด้วยหญิงก็จมลงในห้วงมหรรณพ.

[๓๘๙] ธรรมดาว่าหญิงเหล่านี้ เป็นผู้ยังบุรุษให้งงงวยมีมายามาก และยังพรหมจรรย์ให้กําเริบ ย่อมจะจมลงในอบาย บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล.

[๓๙๐] หญิงเหล่านั้นย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใดเพราะความรักใคร่พอใจ หรือเพราะทรัพย์ เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ของตนเอง ฉะนั้น.

จบ จุลลปโลภนชาดกที่ ๓

อรรถกถาจุลลปโลภน (๑) ชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกเหมือนกันรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคําเริ่มต้นว่า อภิชฺชมาเน วาริสฺมึ ดังนี้.


(๑) ในอรรถกถาเป็น จุลลปโลภฯ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 109

ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้น ผู้ถูกนํามาที่โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้กระสันจะสึกจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นทูลรับเป็นสัตย์แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ชื่อว่าหญิงเหล่านี้ย่อมทําสัตว์ผู้บริสุทธ์ให้เศร้าหมอง ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้สัตว์ผู้บริสุทธิ์อันมีในกาลก่อนก็ทําให้เศร้าหมองเหมือนกัน อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนําเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี เป็นผู้ไม่มีพระโอรส จึงตรัสกับนางสนมของพระองค์ว่าเธอทั้งหลายจงกระทําความปรารถนาเพื่อให้ได้บุตร. นางสนมเหล่านั้นจึงพากันปรารถนาบุตร. เมื่อกาลล่วงไปด้วยอาการอย่างนี้พระโพธิสัตว์จึงจุติจากพรหมโลก บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี. พระโพธิสัตว์นั้นพอประสูติ พระชนกชนนีให้สรงสนานแล้วได้ประทานแก่พระนม เพื่อให้ดื่มถันธารา. พระโพธิสัตว์นั้นอันแม่นมทั้งหลายให้ดื่มน้ำนมอยู่ก็ทรงกรรแสง. ลําดับนั้น จึงได้ทรงประทานพระโพธิสัตว์นั้นให้แก่พระนมอื่น. ในมือของมาตุคามพระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้นิ่งเฉย. ลําดับนั้น จึงได้ประทานพระโพธิสัตว์นั้นแก่บุรุษคนหนึ่งผู้เป็นข้าบาทมูลิกา. พอข้าบาทมูลิกาคนนั้นรับเอาเท่านั้นพระโพธิสัตว์ก็หยุดนิ่ง. ครั้นในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์นั้นพระชนกชนนีได้ทรงขนานพระนามว่า อนิตถิคันธกุมาร. ตั้งแต่นั้นมา


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 110

บุรุษเท่านั้นจึงจะพาพระกุมารนั้นเที่ยวไป เมื่อจะให้ดื่มน้ำนม จะปิดและคลุมให้ดื่ม หรือวางถันในพระโอษฐ์ตามช่องพระวิสูตร. เมื่อพระกุมารแม้ประพฤติพระองค์ไปๆ มาๆ อยู่ ใครๆ ไม่อาจแสดงมาตุคามให้เห็น ด้วยเหตุนั้น พระราชาจึงให้สร้างสถานที่ประทับนั่งเป็นต้นไว้ในที่ว่าง และให้สร้างฌานาคารหอคอย ไว้ภายนอกเพื่อพระกุมารนั้น. ในเวลาพระกุมารนั้นมีพระชันษา ๑๖ พรรษา พระราชาทรงพระดําริว่า เราไม่มีโอรสองค์อื่นอีก ส่วนกุมารนี้ไม่บริโภคกาม แม้ราชสมบัติก็ไม่ปรารถนา เราได้พระโอรสยากจริงหนอ. ครั้งนั้น มีหญิงฟ้อนรุ่นสาวผู้หนึ่ง ฉลาดในการฟ้อนการขับร้องและการประโคม สามารถที่เล้าโลมบุรุษให้ตกอยู่ในอํานาจของตนได้เข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์ทรงพระดําริเรื่องอะไรพระพุทธเจ้าข้า. ฝ่ายพระราชาก็ตรัสบอกเหตุนั้น. หญิงฟ้อนกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เรื่องนั้นโปรดยกไว้ กระหม่อมฉันจักประเล้าประโลมพระราชกุมารนั้นให้รู้จักกามรส. พระราชาตรัสว่าถ้าเจ้าจักสามารถประเล้าประโลมอนิตถิคันธกุมารผู้โอรสของเราได้ไซร้ พระกุมารนั้นจักเป็นพระราชา ตัวเจ้าจักเป็นอัครมเหสี. หญิงฟ้อนกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์เป็นเจ้า การประเล้าประโลมเป็นภาระของกระหม่อมฉัน พระองค์อย่าทรงปริวิตก ดังนี้แล้วเข้าไปหาคนผู้ทําหน้าที่อารักขาแล้วกล่าวว่า ในเวลาใกล้รุ่งเราจักมายืนที่หอคอยภายนอกพระวิสูตร ใกล้ที่บรรทมของพระลูกเจ้า แล้วจัก


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 111

ขับร้อง ถ้าพระราชกุมารจักทรงกริ้ว พวกท่านพึงบอกเรา เราจะหลบไปเสีย ถ้าทรงสดับ พวกท่านช่วยบอกแก่เราเช่นเดียวกัน. คนผู้ทําหน้าที่อารักขาทั้งหลายต่างพากันรับคํานาง. ฝ่ายหญิงฟ้อนนั้นในเวลาใกล้รุ่ง ได้ไปยืนอยู่ ณ ประเทศที่นั้น แล้วขับเสียงเพลงประสานกับเสียงพิณ บรรเลงเสียงพิณประสานกับเสียงเพลงขับ ด้วยเสียงอันไพเราะ. พระกุมารทรงบรรทมฟังอยู่ ทรงยอมรับว่า ดีมีประโยชน์. วันรุ่งขึ้น ทรงสั่งให้นางยืนขับร้องในที่ใกล้ รุ่งขึ้นวันที่สอง รับสั่งให้ยืนขับร้องในหอคอย รุ่งขึ้นวันที่สาม รับสั่งให้ยืนขับร้องในที่ใกล้กับพระองค์ ด้วยวิธีการอย่างนี้ พระองค์ทรงทําตัณหาให้เกิดขึ้นโดยลําดับๆ จนถึงส้องเสพโลกธรรม ได้รู้รสกามเข้าแล้ว ออกพระโอษฐ์ว่า ขึ้นชื่อว่ามาตุคาม เราจักไม่ยอมให้แก่ชายอื่นถือพระแสงดาบเสด็จลงสู่ท้องถนน เที่ยวไล่ติดตามบุรุษทั้งหลาย.

ลําดับนั้น พระราชารับสั่งให้จับพระกุมารนั้นแล้วให้นําออกไปเสียจากพระนคร พร้อมกับกุมาริกานั้น. ฝ่ายพระกุมารและชายาทั้งสอง เสด็จเข้าป่าไปยังแม่น้ำคงคาด้านใต้ สร้างอาศรมอยู่ในระหว่างแม่น้ำคงคาและมหาสมุทร โดยมีแม่น้ำคงคาอยู่ด้านหนึ่งและมีมหาสมุทรอยู่ด้านหนึ่ง สําเร็จการอยู่ ณ ที่นั้น. ฝ่ายนางกุมาริกานั่งอยู่ในบรรณศาลา กําลังต้มหัวเผือกเหง้าไม้และผลไม้อยู่ พระโพธิสัตว์นําผลาผลทั้งหลายมาจากป่า. ครั้นวันหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์แม้นั้นไปเพื่อต้องการผลหมากรากไม้ มีพระดาบสรูปหนึ่ง


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 112

อาศัยอยู่ที่เกาะในมหาสมุทร เหาะมาทางอากาศในเวลาภิกขาจารเห็นควันไฟนั้นจึงลงยังอาศรม. ลําดับนั้น กุมาริกานั้น เชิญพระดาบสนั้นให้นั่ง โดยกล่าวว่า ท่านจงนั่งรอจนกว่าดิฉันจะต้มเสร็จ แล้วเล้าโลมด้วยความเด่นของหญิง ให้เสื่อมจากฌาน ทําพรหมจรรย์ของดาบสนั้นให้อันตรธานหายไป. พระดาบสนั้นเป็นเหมือนกาปีกหักไม่อาจละนางกุมาริกานั้นไปได้คงอยู่ในที่นั้นเองตลอดทั้งวัน ในเวลาเย็นเห็นพระโพธิสัตว์มา จึงรีบหนีบ่ายหน้าไปทางมหาสมุทร. ลําดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงชักดาบออกไล่ติดตามดาบสนั้นไปด้วยเข้าใจว่าผู้นี้จักเป็นศัตรูของเรา. พระดาบสแสดงอาการจะเหาะขึ้นในอากาศจึงตกลงไปในมหาสมุทร. พระโพธิสัตว์คิดว่า ดาบสผู้นี้จักมาทางอากาศ เพราะฌานเสื่อมจึงตกลงในมหาสมุทร บัดนี้ เราควรจะเป็นที่พึ่งอาศัยของดาบสนี้ แล้วยืนที่ชายฝัง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

เมื่อน้ำไม่กระเพื่อม ดาบสนี้มาได้ด้วยฤทธิ์เอง ครั้นถึงความระคนด้วยหญิงก็จมลงในห้วงมหรรณพ. ธรรมดาว่า หญิงเหล่านี้ เป็นผู้ทําบุรุษให้งงงวย มีมายามากและยังพรหมจรรย์ให้กําเริบ ย่อมจมลงในอบาย บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล. หญิงเหล่านั้นย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใดเพราะความรักใคร่พอใจ หรือ


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 113

เพราะทรัพย์เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลันเปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ของตนเองฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺชมาเน วาริสฺมึ ความว่าเมื่อน้ำนี้ไม่ไหวคือไม่กระเพื่อม พระดาบสไม่ถูกต้องน้ำ มาด้วยฤทธิ์ทางอากาศด้วยตนเอง. บทว่า มิสฺสีภาวิตฺถิยา ได้แก่ ภาวะที่ระคนกับหญิงด้วยอํานาจการเสพโลกธรรม. บทว่า อาวฎฺฏนี มหามายา ความว่า ธรรมดาหญิงเหล่านี้ ชื่อว่าทําบุรุษให้เวียนมา เพราะให้เวียนมาด้วยกามคุณ ชื่อว่ามีมายามาก เพราะประกอบด้วยมายาหญิงหาที่สุดมิได้. สมจริงดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า :-

หญิงทั้งหลายนี้เป็นผู้มีมายาดุจพยับแดด ความโศก โรค และอันตรายย่อมเกิดแก่ผู้สมาคมกับหญิง ร่ําไป อนึ่ง หญิงทั้งหลาย กล้าแข็ง เป็นดุจเครื่องผูก เป็นบ่วงแห่งมัจจุราช และมีมหาภูตรูปดุจคูหาเป็นที่อาศัย บุรุษใดคุ้นเคยในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นเท่ากับคนอาธรรม์ในนรชนทั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมจริยวิโกปนา ความว่ายังความประพฤติอันประเสริฐ คือเมถุนวิรัตพรหมจรรย์ให้กําเริบ. บทว่า สีทนฺติ ความว่า ธรรมดาหญิงเหล่านี้ ชื่อว่าย่อมจมลง


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 114

ในอบายทั้งหลาย เพราะทําพรหมจรรย์ของพวกฤๅษีให้กําเริบ. คําที่เหลือพึงประกอบความโดยนัยก่อนนั่นแล.

ฝ่ายพระดาบส ครั้นได้ฟังคําของพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้วยืนอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรนั้นเอง ทําฌานที่เสื่อมให้กลับเกิดขึ้นอีกแล้วไปยังที่อยู่ของตนทางอากาศ. พระโพธิสัตว์คิดว่า พระดาบสนี้เป็นผู้อบรมมาแล้วอย่างนี้ ไปทางอากาศเหมือนปุยนุ่น แม้เราก็ควรทําฌานให้เกิดแล้วไปทางอากาศเหมือนพระดาบสนี้. ครั้นคิดแล้วก็ไปยังอาศรม นําหญิงนั้นไปส่งยังถิ่นมนุษย์แล้วส่งไปด้วยคําว่าเจ้าจงกลับไปเถิด เสร็จแล้วก็เข้าป่าสร้างอาศรมในภูมิภาคอันรื่นรมย์แล้วบวชเป็นฤๅษีกระทํากสิณบริกรรมยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจจธรรมทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบอริยสัจ ภิกษุผู้กระสันจะสึก ได้ดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล ก็อนิตถิคันธกุมารในกาลนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจุลลปโลภนชาดกที่ ๓