กราบอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง
เนื่องจากมีการสนทนากันเรื่องบทพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จึงมีข้อสงสัยสอบถามครับ
๑) สันทิฏฺฐิโก และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ (ต่างกันอย่างไรครับ)
๒) อรรถว่า "คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ" ซึ่งคู่แรก โสดาปัตติมรรค -โสดาปัตติผล ทำไมต้องมี อรรถว่า มรรค และ ผล ต่อท้ายครับ
๓) ซึ่ง ๘ บุรุษ แตกต่างกัน อย่างไรครับ
(ข้อ ๓ ขอคำอธิบายพอเข้าใจก็ได้ครับ เพราะคำตอบยาวเกรงจะลำบากอาจารย์นะครับผมพอเข้าใจบ้างแล้วครับ แต่อยากให้อาจารย์ตอบเพื่ออนุเคราะห์น้องๆ นะครับ น่าจะชัดเจนกว่าครับ)
กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสุงครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
๑ สันทิฏฺฐิโก และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (ต่างกันอย่างไรครับ)
สันทิฏฐิโก มีหลายความหมายครับ มี 3 ความหมาย ดังนี้
1.พึงเห็นเอง
2.ความเห็นที่ประเสริฐที่ชนะกิเลส
3. ควรแก่การเห็น
สันทิฏฐิโก ความหมายที่หนึ่ง คือ พึงเห็นเอง
อริยมรรค ผู้ที่มีปัญญาพึงเห็นเองครับ คือ การบรรลุธรรม ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าพึงเห็น เอง ยกตัวอย่างเช่น การเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญาจนสามารถประจักษ์พระนิพพาน แทงตลอดสัจจะ ผู้ที่ประจักษ์ความจริงนั้น พึงเห็นเองด้วยปัญญาของบุคคลนั้นที่ถึง อริยมรรค นั้นเองที่ผู้มีปัญญา คือ พระอริยเจ้าพึงเห็นเองด้วยตนเองครับ เมื่อปัญญาถึง ระดับนั้นก็จะเห็นตามควาเมป็นจริงอย่างนั้น เห็นเองด้วยปัญญา ไม่มีตัวเรา ตัวตนที่เห็น เห็นพระนิพพานและอริยมรรค ด้วยปัญญาที่เห็นเองครับ
สันทิฏฐิโก ความหมายที่สอง คือ ความเห็นที่ประเสริฐที่ชนะกิเลส เพราะเมื่อปัญญาเกิดที่เป็น ทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นถูกต้องตามความ เป็นจริง อันเป็นความเห็นที่เกิดร่วมกับปัญญาที่เป็นระดับมรรคจิต ก็สามารถชำนะ หรือ ชนะกิเลสประการต่างๆ ได้ ความเห็นที่ประเสริฐที่เป็นปัญญาที่เป็นความเห็นถูกนั้น ชื่อ ว่า สันทิฏฐิ พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่สงบระงับกิเลส ก็ชื่อว่า สันทิฏฐิ รวมความว่า โลกุตตรธรรม 9 คือ มรรคจิต 4 ผลจิต 4 และพระนิพพาน เป็นธรรมที่ชนะกิเลส จึงชื่อ ว่า สันทิฏฐิโก คือ การชนะกิเลสด้วยความเห็นที่ประเสริฐครับ
สันทิฏฐิโก ความหมายที่สาม คือ ควรแก่การเห็น สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐ ชาวโลกก็กล่าวว่าควรแก่การเห็น ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่เป็น ความจริง สัจจะ ควรแก่การเห็น เห็นด้วยอะไร เห็นด้วยปัญญา ดังนั้น สันทิฏฐิโก คือ ควรแก่การเห็นด้วยปัญญา เห็นโลกกุตตรธรรม มีพระนิพพาน เป็นต้น ควรเห็นพระ นิพพานและอริยมรรค เพราะการเห็นด้วยปัญญานี้ ทำให้สามารถดับกิเลสได้ และหมด จากทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น สันทิฏฐิโก คือ โลกุตตรธรรม 9 มีพระนิพพาน เป็นต้น ควรแก่การเห็นด้วยปัญญา เพราะเมื่อเห็นด้วยปัญญาแล้ว สามารถดับกิเลส หมดทุกข์ ทั้งปวงนั่นเองครับ
ส่วนคำว่า
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
คำว่าวิญญูชน หมายถึง ผู้มีปัญญา ดังนั้นผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ รู้ความจริงที่เป็น สภาพธรรมที่ดับกิเลส คือ พระนิพพาน อันเกิดจากการอบรมปัญญา ผู้ทีมีปัญญา เท่า นั้นจึงเป็นวิญญูชน และถึงสภาพธรรมที่สามารถดับกิเลสได้ คือ อริยมรรค และถึงสภาพ ธรรมที่สงบกิเลสได้ คือ พระนิพพาน อันวิญญูชนรู้ได้ เฉพาะตน คือ ไม่ใช่ผู้อื่นจะรู้ได้ เพราะปัญญาเกิดกับผู้ใด ผู้นั้นเท่านั้นที่รู้ ไม่มีใคร แม้พระพุทธเจ้าจะรู้แทนบุคคลนั้น แต่ผู้ที่อบรมปัญญา เป็นวิญญูชนเท่านั้น ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ปัญญาเกิดรู้ ความจริง ปัญญาของใครก็ของคนนั้นครับ จึงเป็นการรู้ได้เฉพาะตน เฉพาะปัญญาของ แต่ละคนครับ
สรุปคือ อันวิญญูชนพึงรู้ไดเฉพาะตน คือ โลกุตตรธรรม มีพระนิพพาน ไม่ใช่ผู้ไม่มี ปัญญาจะรู้ได้ อันวิญญูชนคือผู้มีปัญญาเท่านั้นที่รู้ และรู้ไดเฉพาะตน คือ เฉพาะจิตของ แต่ละคนที่อบรมปัญญามา ปัญญาของใครเกิดก็รู้ความจริงเฉพาะตนในขณะนั้น รู้แทน กันไม่ได้ครับ
จากคำถามที่ว่า สันทิฏฺฐิโกและ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (ต่างกันอย่างไร ครับ)
ตามที่กระผมกล่าวแล้วว่า สันทิฏฺฐิโก มี 3 ความหมาย ดังนั้นสิ่งที่ใกล้เคียงกัน 2 คำ นี้ คือ สันทิฏฐิโก ในความหมายที่ 1 ที่ว่า พึงเห็นเอง คือพึงเห็นเองด้วยปัญญาของตน ซึ่ง คล้ายกับ และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ คือ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตนครับ คือ ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่รู้ความจริงนี้ได้ และรู้ได้เฉพาะตน ในปัญญาของตนที่เกิดขึ้น คนอื่นจะรู้แทนไม่ได้ครับ ส่วนที่ต่างกันก็คือ ในความหมายที่ 2 และ 3 ของสันทิฏฐิโก ที่หมายถึง การชนะกิเลสด้วยความเห็นถูกและสิ่งที่ควรค่าแก่การเห็น แต่ ปัจจัตตัง เวทิ ตัพโพ วิญญูหีติ ไม่ได้หมายความอย่างนั้นตามที่กล่าวมาครับ
๒ อรรถว่า "คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ" ซึ่งคู่แรก โสดาปัตติ มรรค โสดาปัตติผล ทำไมต้องมี อรรถว่า มรรค และ ผล ต่อท้ายครับ
คำว่า คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ หมายถึง การกล่าวถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ เมื่อนับโดยคู่ ได้ ๔ คู่ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นคู่ที่ ๑สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล เป็นคู่ที่ ๒ อนาคามิมรรค อนาคามิผล เป็นคู่ที่ ๓ อรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นคู่ที่ ๔ ถ้านับเรียงโดยบุคคลได้ ๘ บุคคล คือ ๑.โสดาปัตติมรรค ๒. โสดาปัตติผล ๓. สกทาคามิมรรค ๔. สกทาคามิผล ๕.อนาคามิมรรค ๖. อนาคามิผล ๗. อรหัตตมรรค ๘. อรหัตตผล
ซึ่งการที่มีคำว่า มรรคและผลนั้น ซึ่งในความจริง ชีวิตก็คือ จิต เจตสิกทีเกิดขึ้นและ ดับไป ดังนั้นขณะที่ปัญญาถึงพร้อมผ่านวิปสสนาญาณในปัญญาแต่ละขั้น ก็จะถึง ปัญญาที่เป็น มรรคจิต เช่น โสดาปัตติมรรค มรรคจิตทำกิจดับกิเลส อันเป็นมรรคจิตที่ ถูกต้องกระแสนิพพานเป็นครั้งแรก หมายถึง จิตที่สัมปยุตต์ด้วยองค์มรรค ซึ่งมีพระ นิพพานเป็นอารมณ์โดยการประหารกิเลสเป็นครั้งแรก เป็นมรรคจิตดวงแรกซึ่งเกิดขึ้น ก่อน เรียกว่า “ ปฐมมรรค ” เป็นโลกุตรกุศลและเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตดับไป ต้องมีผลที่เกิดต่อ เรียกว่า โสดาปัตติผล จิตที่เป็นผลของโสดาปัตติมรรค หมายถึง โลกุตรวิบากจิตดวงแรกที่เสวยผลจากการหลุดพ้นจากกิเลส ผลจิตที่เกิดขึ้น เป็น การปหานกิเลสที่เป็นปฏิปัสสัทธิปหานคือ ละโดยความเป็นธรรมที่สงบระงับแล้ว ทำ ให้บุคคลผู้บรรลุได้ชื่อว่า พระโสดาบัน
ดังนั้นที่มีคำว่ามรรค และ ผลต่อ จากจิตที่เป็นคู่บุรุษบุคคล 4 เพราะ เมื่อปัญญาถึง ความพร้อม จนถึงระดับมรรคจิตทำกิจคือดับกิเลส มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ และผลจิต ก็เกิดต่อ อันเป็นผลมาจากมรรคจิตที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่า อกาลิโก คือ ให้ผลไม่จำกัดกาล คือ มรรคจิตเกิดขึ้น ผลจิตก็เกิดต่อทันที อันเป็นผลของมรรคจิตแต่ละขั้นเสมอครับ จึง เป็นธรรมดาที่ต้องเป็นอย่างนั้นครับ
๓. ซึ่ง ๘ บุรุษแตกต่างกัน อย่างไรครับ
แตกต่างกัน คือ ขณะที่เป็นมรรคจิต เป็นการทำกิจละกิเลสในขณะนั้น ส่วนขณะที่ เป็นผลจิต เป็นผลของมรรคจิต ทำหน้าที่สงบระงับกิเลสแล้ว อันแสดงถึงความเป็นพระ อริยบุคคลแต่ละขั้นอย่างสมบูรณ์ครับ เช่น ๑.โสดาปัตติมรรค ทำกิจประหารกิเลส มี สักกายทิฏฐิ เป็นต้นในขณะนั้น แต่ขณะนั้นยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันโดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตดับไป โสดาปัตติผลเกิดต่อ ทำกิจระงับกิเลสสมบรณ์แล้ว ถึง ความเป็นพระโสดาบันอย่างสมบูรณ์ในขณะที่เป็นผลจิตครับ โดยนัยข้ออื่นก็เช่นเดียว กันครับ
ดังนั้น โสดาปัตติมรรค เมื่อถึงแล้วดับกิเลส คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพัตตรปรามาส แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันจริงๆ และโสดาปัตติผล เกิด หมายถึงความพระ โสดาบัน
สกทาคามิมรรค ดับกิเลสดังเช่นพระโสดาบัน แต่ทำให้โลภะ โทสะเบาบาง แต่ยังไม่ ถึงความเป็นพระสกทาคามี สกทาคามิผล เมื่อถึงสกทาคามผลแล้วก็ถึงความเป็นพระ สกาทาคามี
อนาคามิมรรค ทำกิจละกิเลสคือโละ โทสะได้ แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามี ต่อเมื่อ อนาคามิผลทำกิจสงบระงับกิเลสที่ละแล้ว ถึงความเป็นพระอนาคามี อรหัตตมรรคจิตเกิดดับกิเลสทั้งหมด แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต่อมื่ออรหัตถผล จิตเกิด ถึงความเป็นพระอรหันต์ครับ
ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องศึกษาพิจารณาไปทีละคำจริง จากบทสรรเสริญพระธรรมคุณ ที่ว่า สันทิฏฐิโก (พระธรรม เป็นธรรม อันผู้รู้จะพึงเห็นเอง) และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (พระธรรม เป็นธรรม อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน) ต่างก็กล่าวถึงธรรมอันพ้นจากสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝักฝ่ายของการดับกิเลส ดับทุกข์ ดับสังสารวัฏฏ์ ทั้งนั้น คือ โลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔และ พระนิพพาน) สันทิฏฐิโก (พระธรรม เป็นธรรม อันผู้รู้จะพึงเห็นเอง) = การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพาน ดับกิเลสได้ตามลำดับดับมรรค นั้น เป็นได้ด้วยปัญญา ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ี่ประเสริฐ เพราะสามารถดับกิเลสได้ อีกทั้ง โลกุตตรธรรม ๙ เป็นธรรมที่ควรแก่ควรแก่การเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้บุคคลผู้เห็น เป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสได้ตามลำดับ
-ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (พระธรรม เป็นธรรม อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน) = คำว่า วิญญูชน หมายถึง บุคคลผู้รู้แจ้ง ซึ่งก็ได้แก่พระอริยบุคคลทุกระดับขั้น เพราะฉะนั้น โลกุตตรธรรม ๙ นั้น เป็นธรรม อันบุคคลผู้เป็นวิญญูชน รู้ได้ด้วยปัญญาของตนเอง [ปัญญาของผู้ที่เป็นวิญญูชนเท่านั้น] ต้องเป็นปัญญาของตนเองเท่านั้นที่รู้ความจริงว่า ทุกข์ ได้รู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์ ได้ละแล้ว พระนิพพาน ได้กระทำให้แจ้งแล้ว และ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้อบรมเจริญแล้ว คนอื่นรู้ให้ไม่ได้คนอื่นละกิเลสแทนไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของตนเองที่เป็นวิญญูชน เท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลผู้โง่เขลา ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถรู้โลกุตตรธรรม ได้เลย
สำหรับประเด็น พระอริยสงฆ์สาวก ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลสได้ ตามสมควรแก่มรรคที่ตนได้ สามารถพิจารณา เพิ่มเติมได้ดังนี้ .-
พระอริยบุคคล มี ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ เมื่อว่าโดยขณะจิตแล้ว ได้แก่ .- โสดาปัตติมัคคจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งพระนิพพานเป็นครั้งแรก ดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง คือ ดับความเห็นผิดทุกประเภท ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา เมื่อโสดาปัตติ-มัคคจิต ดับไป เป็นปัจจัยให้ โสดาปัตติผลจิต เกิดสืบต่อทันที เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของการดับกิเลส ทำให้เป็นพระโสดาบัน, สกทาคามิมัคคจิต ไม่ได้ดับกิเลสอะไรเพิ่มเติม แต่เป็นการทำให้กิเลสที่เหลือจากการละของโสดาปัตติมรรค เบาบางลงเมื่อสกทาคามิมัคคจิต ดับไป เป็นปัจจัยให้สกทาคามิผลจิต เกิดสืบต่อทันทีทำให้เป็นพระสกทาคามีบุคล, อนาคามีมัคคจิต ดับความติดข้องยินดีพอในในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย พร้อมทั้งดับความโกรธได้อย่างเด็ดขาด เมื่ออนาคามิมัคคจิต ดับไป เป็นปัจจัยให้อนาคามีผลจิต เกิดสืบต่อทันที ทำให้เป็นพระอนาคามีบุคคล และ อรหัตตมัคคจิต ดับกิเลสที่เหลืออยู่ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโลภะที่ติดข้องยินดีพอในในภพ มานะ (ความสำคัญตน) และอวิชชา รวมทั้งกิเลสที่อยู่ในฐานะเดียวกันทั้งหมด เช่น อหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นต้น เมื่อ อรหัตตมัคคจิต ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้อรหัตตผลจิตเกิดสืบต่อทันทีทำให้เป็นพระอรหันต์ ทั้งหมดนั้น จึงนับเรียงได้ ๘ บุรุษ ถ้านับเป็นคู่ ก็ได้ ๔ คู่
มัคคจิต ทั้ง ๔ นั้น เป็นจิตที่ประกอบพร้อมด้วยองค์มรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น) ทำกิจประหารกิเลส (คือ การดับกิเลส) ตามสมควรแก่มรรค ซึ่งจะเกิดสืบต่อด้วยต่อด้วยผลจิต ๔ เสมอ โดยที่ไม่มีจิตอื่นคั่น นั้น เป็นผลของการอบรมเจริญปัญญา เริ่มจากควมเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น เนื่องจากว่า การเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นได้ด้วยปัญญา ครับ.
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ และ อนุโมทนากุศลจิตที่เกิดด้วยครับ
ขออาจารย์มีความสุขมากๆ นะครับ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การคบกัลยาณมิตร เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ทำให้ ปัญญาเจริญ สูงสูด ทำให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ค่ะ
กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ และ อนุโมทนากุศลจิตที่เกิดด้วยครับ