[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 474
โลณผลวรรคที่ ๕
๑. อัจจายิกสูตร
ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ
[๕๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะ (กิจที่ต้องรีบทำ) ของคฤหบดีชาวนา ๓ นี้ อัจจายิกกรณียะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ คฤหบดีชาวนารีบๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดี ครั้นแล้วรีบๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วรีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง นี้แล อัจจายิกกรณียะ ของคฤหบดีชาวนา ๓ แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลให้ข้าวงอกในวันนี้ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้ ที่ถูกย่อมมีสมัย ที่ข้าวนั้นเปลี่ยนสภาพไปตามฤดู ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ นี้คืออะไรบ้าง คือการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา การบำเพ็ญอธิจิตตสิกขา การบำเพ็ญอธิปัญญาสิกขา นี้แล อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ แต่ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้จิตของตน เลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะ ในวันนี้ หรือ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้ ที่ถูก ย่อมมีสมัย ที่เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลไป ศึกษาอธิจิตไป ศึกษาอธิปัญญาไป จิตย่อมจะเลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะได้ เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะของเราในการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาต้องกล้าแข็งภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.
จบ อัจจายิกสูตรที่ ๑
อรรถกถาอัจจายิกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอัจจายิกสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า อจฺจายิกานิ แปลว่า รีบด่วน. บทว่า กรณียานิ แปลว่า กิจที่ต้องทำอย่างแน่แท้ ก็ธุระใดไม่ต้องทำเป็นการแน่แท้ ธุระนั้นเรียกว่ากิจ (งานอดิเรก) ธุระที่ต้องทำเป็นการแน่แท้ชื่อว่า กรณียะ (งานประจำ) . บทว่า สีฆสีฆํ แปลว่า โดยเร็วๆ ....
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น