ลักษณะบุญในการแผ่ผลบุญ ให้ผู้ที่ล่วงลับเขาได้อย่างไร
โดย Myjoom  9 พ.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 29728

รบกวนสอบถามค่ะ

เวลาที่เราทำบุญและแผ่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เขาได้บุญอย่างไรบ้างค่ะ (มีความสงสัยค่ะ)

● ทำบุญแบบสังฆทานอาหารคาวหวาน คือได้รับสิ่งของที่ถวายสังฆทานและอาหารใช่ไหมค่ะ

● ทำบุญด้วยการสวดมนต์และแผ่เมตตา ลักษณะบุญที่ได้เป็นอย่างไร?

● ทำบุญด้วยการนั่งสมาธิ ลักษณะบุญที่ได้เป็นอย่างไร?

ขอคำชี้แนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 10 พ.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่จะอุทิศ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องเป็นความดี เท่านั้น ถ้าทำในสิ่งที่ผิด ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่ความดี เมื่อไม่ใช่ความดี ก็ไม่เป็นที่ชื่นชมสรรเสริญของผู้อื่น แม้แต่การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การแผ่เมตตา ควรพิจารณาว่า ทั้งหมดทั้งปวง ถูกต้องหรือไม่ หรือว่าทำตามๆ กันไป เป็นไปกับความไม่รู้ทั้งหมด
เพราะเหตุว่า
-สวดมนต์ พูดคำที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ จะเป็นบุญไม่ได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สำหรับฟัง สำหรับศึกษาเพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่นำเอาคำบาลีมาสวดแล้วก็ไม่มีความเข้าใจอะไร เสียเวลาอีกด้วย
-เมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ควรเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า เมตตา ไม่เป็นโทษสำหรับตนเองและผู้อื่น เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง เพราะถ้ามีเมตตา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงามมีความเป็นมิตรเป็นเพื่อน หวังดีต่อผู้อื่น แล้ว ความมุ่งร้าย หวังร้าย ประทุษร้าย ด้วยกาย วาจา ต่อผู้อื่นจะไม่เกิดขึ้นเลย ไม่มีเลยแม้แต่น้อย, เมตตาเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่เรื่องแผ่ แต่เป็นธรรมที่ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน เพราะเมตตายังไม่มีกำลังถึงขั้นฌาน จึงยังไม่สามารถแผ่ได้ แม้แต่บุคคลรอบข้าง ใกล้เคียง เรามีเมตตาต่อเขาหรือเปล่า?
-นั่งสมาธิ ที่ทำตามๆ กันมา เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิด ตั้งต้นด้วยความไม่รู้ ย่อมพอกพูนความไม่รู้ต่อไป เพราะการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของปัญญาที่เจริญขึ้นจากการได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่แสดงให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
แม้แต่การให้ทาน เพื่ออุทิศเพื่อผู้ที่จะจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องทำกับพระภิกษุ แม้บุคคลทั่วไป ก็เป็นประโยชน์ สามารถอุทิศได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าผู้นั้นรับรู้ เกิดกุศลจิต อนุโมทนา ผลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไป ตามควรแก่ผู้นั้น เช่น พ้นจากความทุกข์ยากเดือดร้อนในขณะนั้น เป็นต้น แต่ถ้าทำกับภิกษุผู้ทุศีล ไม่รักษาพระธรรมวินัย ก็ไม่เป็นที่ชื่นชมสรรเสริญของผู้ที่จะจากโลกนี้ไปแล้ว

จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศล ก็เพื่อให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นตอนไหนก็ตาม ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ ดังนั้น ทั้งการอุทิศส่วนกุศล และการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ล้วนเป็นกุศลทั้งนั้น ควรที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย วิริยะ  วันที่ 11 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย Myjoom  วันที่ 11 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณและ อนุโมทนาสาธุค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย patchaneechanpen  วันที่ 11 พ.ค. 2561

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย thilda  วันที่ 12 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ตรงและละเอียด


ความคิดเห็น 7    โดย สุณี  วันที่ 13 พ.ค. 2561
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 9    โดย orawan.c  วันที่ 23 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ