๔. สุชาตาเถรีคาถา
โดย บ้านธัมมะ  21 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40736

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 231

เถรีคาถา ฉักกนิบาต

๔. สุชาตาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 231

๔. สุชาตาเถรีคาถา

[๔๕๔] พระสุชาตาเถรี กล่าวคาถาเป็นอุทานว่า

ข้าพเจ้า [ตอนเป็นคฤหัสถ์] แต่งตัวนุ่งห่มผ้าอย่างดี สวมมาลัย ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง เดินนำหน้าหมู่นางทาสี ถือเอาข้าวน้ำของเคี้ยวของกินไม่น้อยออกจากเรือนพากันไปยังอุทยาน รื่นเริงละเลิงเล่นอยู่ในอุทยานนั้น แล้วกำลังเดินจะกลับเรือนตน ก็เข้าไปชมอัญชนวันวิหาร ในนครสาเกต ได้พบพระพุทธเจ้า ผู้เป็นแสงสว่างของโลก ถวายบังคมแล้ว เข้าไปเฝ้า.

พระผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมโปรดข้าพเจ้า ด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์ และข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ผู้ทรงแสวงคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ก็ได้ตรัสรู้สัจจะของจริง ได้สัมผัสธรรมคืออมตบทอันปราศจากกิเลสดุจธุลี ในที่นั้นนั่นเอง.

ข้าพเจ้ารู้แจ้งพระสัทธรรมแล้ว ก็บวชไม่มีเรือนได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เปล่าปราศจากประโยชน์เลย.

จบ สุชาตาเถรีคาถา


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 232

๔. อรรถกถาสุชาตาเถรีคาถา

    คาถาว่า อลงฺกตา สุวสนา ดังนี้เป็นต้น เป็นคาถาของพระสุชาตาเถรี.

    พระเถรีแม้รูปนี้ ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศล ซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน มาในภพนั้นๆ มีธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์ที่รวบรวมไว้โดยลำดับ ในพุทธุปกาลนี้ ก็บังเกิดในครอบครัวเศรษฐี ในสาเกตนคร เติบโตเป็นสาวแล้ว มารดาบิดาได้ยกให้บุตรเศรษฐีผู้มีชาติเสมอกัน มีสามีแล้ว อยู่ร่วมกับสามีในครอบครัวนั้นเป็นสุขสบายวันหนึ่งไปอุทยานเล่นการเล่นงานนักขัตฤกษ์ เมื่อมายังเมืองกับคนข้างเคียงได้พบพระศาสดาในอัญชนวัน มีใจเลื่อมใส เข้าไปเฝ้านั่งในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถาแก่นางแล้ว ทรงทราบถึงจิตที่สบายแล้วจึงทรงประกาศธรรมเทศนาชื่อสามุกกังสิกะ [อริยสัจ ๔] ให้สูงขึ้น. จบพระธรรมเทศนา นางทั้งที่ยังนั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะตนได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว เพราะมีญาณแก่กล้าและเพราะความงามแห่งเทศนาของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วไปเรือน ขอให้สามีและมารดาบิดาอนุญาตแล้ว ไปสำนักของนางภิกษุณีโดยพระบัญชาของพระศาสดา บวชแล้วในสำนักของนางภิกษุณีทั้งหลาย ก็ครั้นบวชแล้ว ก็ได้พิจารณาการปฏิบัติของตนแล้ว จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้าแต่งตัวนุ่งห่มผ้าอย่างดี สวมมาลัย ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 233

ห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี ถือเอาข้าวน้ำของเคี้ยวของบริโภคไม่น้อย ออกจากเรือนพากันไปยังอุทยาน รื่นเริงละเลิงเล่นอยู่ในอุทยานนั้นแล้ว กำลังเดินจะกลับเรือนของตน ก็เข้าไปชมอัญชนวันวิหารในนครสาเกต ได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นแสงสว่างของโลก ถวายบังคมแล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระจักษุพระองค์นั้นได้ทรงแสดงธรรมโปรดข้าพเจ้าด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์และข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ได้ตรัสรู้สัจจะของจริง ได้สัมผัสธรรมคืออมตบท อันปราศจากกิเลสดุจธุลีในที่นั้นนั่นเอง ข้าพเจ้ารู้แจ้งพระสัทธรรมแล้ว ก็บวชไม่มีเรือนได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เปล่าจากประโยชน์เลย.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกตา คือประดับ. ก็คำนั้นท่านกล่าวว่า สุวสนา มาลินี จนฺทโนกฺขิตา เพื่อแสดงอาการตกแต่งนั้นบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลินี คือ คล้องมาลัย. บทว่า จนฺทโนกฺขิตาคือลูบไล้ด้วยจันทน์. บทว่า สพฺพาภรณสญฺฉนฺนา ความว่า มีร่างกายปกคลุมด้วยสรรพาภรณ์ มีเครื่องประดับมือเป็นต้นเป็นเครื่องประดับ. บทว่าอนฺนํ ปานํ จ อาทาย ขชฺชํ โภชฺชํ อนปฺปกํ ความว่า ถือเอาข้าวมีข้าวสุกแห่งข้าวสาลีเป็นต้น น้ำปานะมีน้ำมะม่วงเป็นต้น ของเคี้ยวมีแป้งควรเคี้ยวเป็นต้น นอกนั้นก็ของบริโภคกล่าวคืออาหารเป็นอันมาก. บทว่า อุยฺยานมภิหารยึ ได้แก่ เรานำเข้าไปโดยการเล่นนักษัตร อธิบายว่า นำข้าวและน้ำเป็นต้นมาในอุทยานนั้น ระเริงเล่นบำรุงบำเรอกับคนรอบข้าง.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 234

บาทคาถาว่า สาเกเต อญฺชนํ วนํ ความว่า เราเข้าไปยังวิหารในป่าอัญชนวัน ในนครสาเกต.

บทว่า โลกปชฺโชตํ ได้แก่ เป็นแสงสว่างของโลกโดยแสงสว่างคือญาณ.

บทว่า ผุสยึ คือ ถูกต้องแล้ว อธิบายว่าได้บรรลุอมตธรรมนั้น.คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.

จบอรรถกถาสุชาตาเถรีคาถา