สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัตติสูตรที่ ๑ (ข้อ ๕๖) มีข้อความว่า
เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ
เทวดาเข้าใจว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ
บางคนกลัวเหลือเกินว่า นี่เป็นโลภะ กิจการใดที่กระทำไป เพราะเป็นปัจจัยที่สะสมมาให้กระทำเช่นนั้นก็กระทำ แต่เจริญสติรู้ลักษณะของนาม รู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง เพื่อละสักกายทิฏฐิ
ไม่ว่าท่านผู้ใดจะเคยเข้าใจอย่างไร ก็ขอให้ได้พิจารณาธรรม ที่เทวดากล่าวคาถาทูลพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาซึ่งมีความต่างกันกับเทวดา แต่โดยความเพียรแล้วเหมือนกัน
เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วย ราคะ โทสะ โมหะ อยู่เสมอในวันหนึ่งๆ
แต่ถ้าไม่เจริญสติก็ไม่รู้ เพียงเห็นวัตถุ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความชอบ โลภะ อีกอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่ชอบ โทสะ รวดเร็วเหลือเกิน ทางตา ไปทางหู ไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วยโลภะ โทสะ โมหะอยู่ตลอดเวลา จึงควรมีสติเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ
แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรรีรอ สติควรเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 103