[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้าที่ 42
๙. เรื่องอุบาสก ๕ คน
[๑๙๐] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก ๕ คน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ" เป็นต้น ได้ยินว่า อุบาสกเหล่านั้นใคร่จะฟังธรรม ไปสู่วิหาร ถวายบังคม พระศาสดาแล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง ก็ความดำริว่า "ผู้นี้เป็นกษัตริย์ ผู้นี้เป็นพราหมณ์ ผู้นี้เป็นคนมั่งมี ผู้นี้เป็นคนยากจน เราจักแสดงธรรม ให้ยวดยิ่งแก่ผู้นี้ จักไม่แสดง (ธรรมให้ยวดยิ่ง) แก่ผู้นี้" ย่อมไม่เกิด ขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมปรารภบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อม ทรงทำความเคารพธรรมไว้เป็นเบื้องหน้า แล้วจึงแสดง ประหนึ่ง เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์บันดาลให้น้ำในอากาศหลั่งไหลลงอยู่ฉะนั้น. ก็บรรดา อุบาสกเหล่านั้น ผู้นั่งแล้วในสำนักของพระตถาคตผู้ทรงแสดง (ธรรม) อยู่อย่างนั้น อุบาสกคนหนึ่งนั่งหลับแล้วเทียว คนหนึ่งนั่งเขียนแผ่นดิน ด้วยนิ้วมือ คนหนึ่งนั่งเขย่าต้นไม้ คนหนึ่งนั่งแหงน (หน้า) มองดู อากาศ แต่คนหนึ่งได้ฟังธรรมโดยเคารพ
พระอานนทเถระ ถวายงานพัดพระศาสดาอยู่ แลดูอาการของ อุบาสกเหล่านั้น กราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ ทรงบันลือลั่นดุจมหาเมฆคำรน ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านี้ แต่ อุบาสกเหล่านั้น เมื่อพระองค์ตรัสธรรมอยู่ นั่งทำกรรมนี้และนี้"
พระศาสดา อานนท์ เธอไม่รู้จักอุบาสกเหล่านั้นหรือ
อานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จัก พระเจ้าข้า
ประวัติเดิมของอุบาสก ๕ คน
พระศาสดา ก็บรรดาอุบาสกเหล่านั้น อุบาสกผู้นั่งหลับแล้วนั่น เกิดในกำเนิดแห่งงูสิ้น ๕๐๐ ชาติ พาดศีรษะไว้บนขนดทั้งหลายหลับแล้ว แม้ในบัดนี้ ความอิ่มในการหลับของเขาย่อมไม่มี เสียงของเราย่อมไม่ เข้าไปสู่หูของเขา
อานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสโดยลำดับหรือตรัสเป็นตอนๆ
พระศาสดา อานนท์ แท้จริง แม้พระสัพพัญญุตญาณ ก็ไม่อาจทรง กำหนด ซึ่งความอุบัติของอุบาสกนั่น ผู้อุบัติอยู่ในระหว่างๆ อย่างนี้คือ ความเป็นมนุษย์ตามกาล ความเป็นเทพตามกาล ความเป็นนาคตามกาล แต่อุบาสกนั่นเกิดแล้วในกำเนิดแห่งนาคสิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ แม้หลับอยู่ (ก็) ไม่อิ่มในการหลับเสียเลย
ฝ่ายบุรุษผู้นั่งเขียนแผ่นดินด้วยนิ้วมือ เกิดในกำเนิดไส้เดือนสิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ ขุดแผ่นดินแล้ว ถึงบัดนี้ก็เขียนแผ่นดินอยู่ ด้วยอำนาจความประพฤติที่ตนได้เคยประพฤติแล้ว ในกาลก่อน ย่อมไม่ฟังเสียงของเรา
ฝ่ายบุรุษผู้นั่งเขย่าต้นไม้อยู่นั่น เกิดแล้วในกำเนิดลิงสิ้น ๕๐๐ ชาติ โดยลำดับ ถึงบัดนี้ก็เขย่าต้นไม้อยู่ ด้วยสามารถแห่งความประพฤติที่ตน ได้เคยประพฤติมาแล้วในกาลก่อนนั่นเทียว เสียงของเราย่อมไม่เข้าหูของเขา แม้พราหมณ์ผู้นั่งแหงน (หน้า) มองอากาศอยู่นั่น ก็เกิดเป็น (หมอ) ผู้บอกฤกษ์สิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ ถึงบัดนี้ แม้ในวันนี้ก็ยังแหงน (หน้า) ดูอากาศอยู่ ด้วยสามารถแห่งความประพฤติที่ตนได้เคยประพฤติมาแล้ว ในกาลก่อนนั่นเทียว เสียงของเราย่อมไม่เข้าหูของเขา ส่วนพราหมณ์ผู้ฟังธรรมโดยความเคารพนั่น เกิดเป็นพราหมณ์ผู้ ท่องมนต์ ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ สิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ ถึงบัดนี้ ก็ย่อมฟัง ธรรมโดยเคารพ เป็นดังเทียบเคียงมนต์อยู่
อานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์ ย่อมแทรกอวัยวะทั้งหลาย มีผิวเป็นต้น (เข้า) ไปจดเยื่อกระดูกตั้งอยู่ เพราะเหตุไร อุบาสกเหล่านี้แม้เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ จึงไม่ฟังโดยเคารพ
พระศาสดา อานนท์ เธอเห็นจะทำความสำคัญว่า ธรรมของเรา อันบุคคลพึงฟังได้โดยง่ายกระมัง
อานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรม (ของพระองค์) อัน บุคคลพึงฟังได้โดยยากหรือ
พระศาสดา ถูกแล้ว อานนท์
อานนท์ เพราะเหตุไร พระเจ้าข้า
พระศาสดา อานนท์ บทว่า พุทฺโธ ก็ดี ธมฺโม ก็ดี สงฺโฆ ก็ดี อันสัตว์เหล่านั้นไม่เคยสดับแล้ว ในแสนกัลป์ แม้เป็นอเนก เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงไม่สามารถฟังธรรมนี้ได้ แต่ในสงสารมีที่สุดอัน ใครๆ ตามรู้ไม่ได้ สัตว์เหล่านั้นฟังดิรัจฉานกถามีอย่างต่างๆ นั่นแล มา แล้ว เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงเที่ยวขับร้องฟ้อนรำอยู่ในที่ทั้งหลาย มีโรงดื่มสุราและสนามเป็นที่เล่นเป็นต้น จึงไม่สามารถจะฟังธรรมได้
อานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกทั้งหลายนั่น อาศัยอะไร จึงไม่สามารถ
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ อุบาสก เหล่านั้น อาศัยราคะ อาศัยโทสะ อาศัยโมหะ อาศัยตัณหา จึงไม่สามารถ ชื่อว่าไฟ เช่นกับด้วยไฟ คือราคะไม่มี ไฟใดไม่แสดงแม้ซึ่งเถ้า ย่อมไหม้สัตว์ทั้งหลาย แท้จริง แม้ไฟซึ่งยังกัลป์ให้พินาศ ที่อาศัยความปรากฏ แห่งอาทิตย์ ๗ ดวงบังเกิดขึ้น ย่อมไหม้โลก ไม่ให้วัตถุไรๆ เหลืออยู่เลย ก็จริง ถึงกระนั้น ไฟนั้นย่อมไหม้ในบางคราวเท่านั้น ชื่อว่ากาลที่ไฟ คือ ราคะจะไม่ไหม้ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ชื่อว่าไฟเสมอด้วยราคะก็ดี ชื่อว่า ผู้จับเสมอด้วยโทสะก็ดี ชื่อว่าข่ายเสมอด้วยโมหะก็ดี ชื่อว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหาก็ดี ไม่มี" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๙. นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ นตฺถิ โทสสโม คโห นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ นตฺถิ ตณฺหาสมา นที "ไฟเสมอด้วยราคะ ไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโมหะ ไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะ ไม่มี แม่น้ำเสมอด้วย ตัณหา ไม่มี"
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ