๑. อสาตมันตชาดก ว่าด้วยหญิงเลวทราม
โดย บ้านธัมมะ  15 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35438

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 110

๗. อิตถีวรรค

๑. อสาตมันตชาดก

ว่าด้วยหญิงเลวทราม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 110

๗. อิตถีวรรค

๑. อสาตมันตชาดก

ว่าด้วยหญิงเลวทราม

[๖๑] "ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้เลวทราม เพราะหญิงเหล่านั้น ไม่มีเขตแดน มีแต่ความกำหนัดยินดี คึกคะนองไม่มีเลือก เหมือนไฟที่ไหม้ไม่เลือกฉะนั้น เราจักละทิ้งหญิงเหล่านั้นไปบวช เพิ่มพูนวิเวก".

จบ อสาตมันตชาดกที่ ๑

อรรถกถาอิตถีวรรคที่ ๗

อรรถกถาอสาตมันตชาดกที่ ๑

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อาสา โลกิตฺถิโย นาม" ดังนี้.

เรื่องของภิกษุนั้น จักแจ่มแจ้งในอุมมาทยันตีชาดก (เรื่องย่อๆ มีว่า) ก็พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าหญิงส่วนมาก ไม่น่ายินดี ไร้สติ ลามก เป็นผู้มีเบื้องหลัง


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 111

เธอจะกระสันปั่นป่วนเพราะหญิงเลวๆ เช่นนี้ทำไม แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ เมืองตักกสิลา คันธารรัฐ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เรียนจบไตรเพทและศิลปะทั้งปวง ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ครั้งนั้น ในกรุงพาราณสีมีตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ตั้งแต่วันที่บุตรเกิด ก็จุดไฟตั้งไว้ไม่ให้ดับเลย ครั้นในเวลาที่พราหมณกุมาร มีอายุได้ ๑๖ มารดาบิดาจึงกล่าวว่า ลูกเอ๋ย เราจุดไฟตั้งไว้ ในวันที่เจ้าเกิดเรื่อยมา หากเจ้าประสงค์จะไปสู่พรหมโลก จงถือไฟนั้นเข้าป่า บูชาพระอัคนีเทพเจ้า ก็จะไปถึงพรหมโลกได้ ถ้าประสงค์จะครองเรือน ก็จงไปสู่เมืองตักกสิลา เล่าเรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แล้วตั้งหลักฐานเถิด มาณพกล่าวว่า ฉันไม่อาจจะเข้าป่าบูชาไฟ มุ่งจะตั้งหลักฐานเท่านั้น แล้วกราบมารดาบิดา รับเอาเงินพันกษาปณ์ เป็นค่าคำนับอาจารย์ เดินทางไปเมืองตักกสิลา เล่าเรียนศิลปะ แล้วกลับมา แต่มารดาบิดาของเขาไม่ต้องการให้ครองเรือน ต้องการให้เขาบำเรอไฟอยู่ในป่า ลำดับนั้น มารดาปรารถนาจะสำแดงโทษของสตรีส่วนมาก แล้วส่งเขาเข้าป่า จึงดำริว่า อาจารย์นั้นคงเป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด สามารถจะบอกโทษแห่งสตรีส่วนมากแก่ลูกของเราได้ จึงกล่าวว่า ลูกรัก เจ้าเรียน


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 112

ศิลปะสำเร็จแล้วหรือ มาณพตอบว่า ครับ คุณแม่ มารดาจึงกล่าวว่า แม้อสาตมนต์เจ้าก็เรียนแล้วหรือ มาณพตอบว่า ยังไม่ได้เรียนครับ คุณแม่ มารดากล่าวว่า ลูกรัก ถ้าเจ้ายังไม่ได้เรียนอสาตมนต์แล้ว จะเรียกว่าเรียนศิลปะสำเร็จแล้วไม่ได้ ไปเถิด ไปเรียนแล้วค่อยมา มาณพรับคำแล้ว ก็มุ่งหน้าไป กรุงตักกสิลาอีก แม้มารดาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น เป็นหญิงชรา อายุ ๑๒๐ ปี อาจารย์อาบน้ำให้มารดาด้วยมือของตนเอง หาอาหารให้บริโภคเอง หาน้ำให้ดื่มเอง ปรนนิบัติมารดาอยู่ มนุษย์เหล่าอื่นพากันรังเกียจอาจารย์ผู้กระทำอย่างนั้น อาจารย์ดำริว่า อย่ากระนั้นเลย เราเข้าป่าปรนนิบัติมารดาในป่านั้นอยู่เถิด ครั้นแล้วก็จัดการสร้างบรรณศาลา ในที่มีน้ำท่าสะดวก ในป่าอันเงียบสงัด ตำบลหนึ่ง เสร็จแล้วขนสิ่งของ มีเนยและข้าวสารเป็นต้น มาสำรองไว้ อุ้มมารดาพาไปที่นั้น ปรนนิบัติมารดา อยู่สืบมา.

ฝ่ายมาณพไปถึงเมืองตักกสิลาแล้ว ไม่พบอาจารย์ ก็สอบถามว่า ท่านอาจารย์ไปไหน ครั้นฟังเรื่องราวนั้นแล้ว ก็ไปในป่านั้น ไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ ครั้งนั้น อาจารย์ถามเขาว่า พ่อมหาจำเริญ เรื่องราวเป็นอย่างไร เจ้าจึงกลับมาเร็วนัก มาณพตอบว่า ท่านอาจารย์ยังไม่ได้ให้ผมเรียนอสาตมนต์เลย มิใช่หรือขอรับ.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 113

อ. ใครกล่าวเคี่ยวเข็ญให้เจ้าเรียนอสาตมนต์ให้ได้.

มาณพ. มารดาของกระผมขอรับท่านอาจารย์.

พระโพธิสัตว์ดำริว่า มนต์อะไรๆ ที่มีชื่อว่า อสาตมนต์ ไม่มีเลย แต่มารดาของมาณพนี้ คงประสงค์ให้เขารู้โทษของสตรีเป็นแน่ จึงกล่าวว่า ดีละ พ่อคุณ เราจักให้อสาตมนต์แก่เจ้า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าจงทำหน้าที่แทนเรา ให้มารดาของเราอาบน้ำด้วยมือของตน ให้บริโภค ให้ดื่ม ปรนนิบัติสม่ำเสมอ อนึ่งเมื่อเจ้านวดมือเท้าศีรษะและหลังของมารดาเรา ต้องพูดยกย่องมือเท้าเป็นต้น ในเวลาที่กำลังบีบนวดว่า คุณแม่ครับ ถึงคุณแม่จะแก่เฒ่าแล้ว ร่างกายของคุณแม่ก็ยังดูกระชุ่มกระชวย ในยามที่คุณแม่ยังสาว ร่างกายของคุณแม่สวยสะคราญปานไฉน ก็แลมารดาของเรากล่าวคำใดกะเจ้า เจ้าไม่ต้องอาย ไม่ต้องอำพราง บอกคำนั้นแก่เราเถิด เจ้าทำอย่างนี้จึงจะได้ อสาตมนต์ ไม่ทำก็ไม่ได้ มาณพรับคำว่า ดีแล้วครับ ท่านอาจารย์ เริ่มแต่วันนี้ ก็กระทำตามข้อที่อาจารย์ชี้แจงทุกอย่าง เมื่อมาณพรำพันบ่อยๆ นางก็สำคัญว่า มาณพนี้ต้องการจะอภิรมย์กับเราเป็นแม่นมั่น ทั้งๆ ที่แก่เฒ่า ตามืดมน กิเลสก็ยังเกิดขึ้นในสันดานได้ วันหนึ่ง นางจึงกล่าวกะมาณพ ผู้กำลังกล่าวสรรเสริญร่างกายของตนอยู่ว่า เธอปรารถนาจะร่วมอภิรมย์กับเราหรือ.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 114

มาณพ. คุณแม่ครับ ผมปรารถนานักแล้ว แต่ (มาติดอยู่ตรง) ท่านอาจารย์เป็นที่ยำเกรงหนัก.

มารดา. ถ้าเธอปรารถนาฉันละก็ จงฆ่าลูกฉันเสียเถิด.

มาณพ. ผมเล่าเรียนศิลปะถึงเพียงนี้ ในสำนักของท่านอาจารย์ จะมาฆ่าอาจารย์ เพราะอาศัยเหตุเพียงกิเลส ก็ดูกระไรอยู่.

มารดา. ถ้าเช่นนั้น ถ้าเธอไม่ทอดทิ้งฉันจริง ฉันนี่แหละ จะฆ่าเขาเสียเอง.

ขึ้นชื่อว่า หญิง ส่วนมากไม่น่ายินดี ลามก มีลับลมคมในอย่างนี้ ถึงจะแก่ปานนั้น ก็ยังร่านรัก เริงชู้ ถึงกับมุ่งฆ่าลูกผู้มีอุปการะเห็นปานนี้เสียก็ได้.

มาณพบอกถ้อยคำทั้งหมดนั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ที่เธอบอกมาทุกอย่างนั้น เธอทำถูกแล้ว เมื่อตรวจดูอายุสังขารของมารดา ก็รู้ว่า ต้องตายในวันนี้เป็นแน่ จึงกล่าวว่า มาเถิดมาณพ เราต้องทดลองดู จึงตัดไม้มะเดื่อเข้าต้นหนึ่ง ทำรูปหุ่นเท่าตน คลุมเสียทั่วร่าง วางนอนหงายไว้เหนือที่นอนของตน ผูกราวเชือกไว้ แล้วกล่าวกะศิษย์ว่า พ่อคุณ เธอจงถือขวานไป ให้สัญญาแก่มารดาของเรา มาณพก็ไปบอกว่า คุณแม่ครับ ท่านอาจารย์นอนเหนือที่นอนของตน บนบรรณศาลา ผมผูกราวเชือกไว้เป็นสำคัญ คุณแม่ถือขวานเล่มนี้ ถ้าสามารถจะฆ่าได้ ก็จงฆ่าเสีย.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 115

นางกล่าวว่า เธอต้องไม่ทอดทิ้งฉันแน่นะ.

มาณพ. เหตุไร ผมจักทอดทิ้งเล่า ขอรับ.

นางจึงจับขวาน งกๆ เงิ่นๆ เดินไปตามราวเชือก เอามือคลำดู สำคัญแน่ว่า นี่ลูกของเรา แล้วเลิกผ้าห่มส่วนหน้าของรูปหุ่นออก เงื้อขวานด้วยคิดว่าจักฟันหนเดียวให้ตายคาที่ แล้วฟันตรงคอทีเดียว เมื่อเกิดเสียงดังกระด้าง จึงได้ทราบว่า ที่ตนฟันนั้นเป็นไม้ ครั้นพระโพธิสัตว์ถามว่า คุณแม่ทำอะไร ขอรับ ก็ได้คิดว่า เราถูกลวงเสียแล้ว ล้มลงตายอยู่ตรงนั้นเอง ได้ยินว่า ถึงนางจะนอนตายอยู่ที่บรรณศาลาของตน ก็คงตายในขณะนั้นแน่นอน.

พระโพธิสัตว์ทราบอาการที่มารดาตายแล้ว ก็กระทำสรีรกิจ ครั้นดับไฟที่เผาแล้ว ก็บูชาด้วยดอกไม้ป่า พามาณพมานั่งที่ประตูบรรณศาลา กล่าวสอนเขาว่า พ่อคุณ ขึ้นชื่อว่า อสาตมนต์ ที่จัดเป็นวิชาแผนกหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่มีดอก ก็แต่ขึ้นชื่อว่า หญิงส่วนมาก ไม่รู้จักจืดจาง มารดาของเธอบอกให้เธอเรียนอสาตมนต์ แล้วส่งตัวมาถึงสำนักเรา ก็ส่งมาเพื่อให้รู้โทษของหญิงส่วนมาก บัดนี้เธอก็เห็นโทษของมารดาเราโดยประจักษ์แล้ว ด้วยเหตุนี้ พึงทราบเถิดว่า ขึ้นชื่อว่า หญิงส่วนมาก ไม่รู้จักอิ่ม ลามก ดังนี้แล้วส่งตัวไป เขากราบลาอาจารย์ไปสำนักมารดาบิดา ครั้งนั้น มารดาถามเขาว่า เจ้าเรียนอสาตมนต์จบแล้วหรือ เขาตอบว่า ครับคุณแม่ มารดาถามว่า คราวนี้ จักทำอย่างไร จักบวช จักบำเรอไฟ หรือจักอยู่ครองเรือน.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 116

มาณพกล่าวว่า คุณแม่ขอรับ ผมเห็นโทษของหญิงส่วนมาก โดยประจักษ์แล้ว ไม่ต้องการอยู่ครองเรือนละ ผมจักบวช เมื่อจะประกาศความประสงค์ของตน จึงกล่าวคาถานี้ว่า.

"ขึ้นชื่อว่า หญิงในโลก ส่วนมากไม่รู้จักยับยั้ง หาเวลาแน่นอนไม่ได้ ทั้งร่านรัก เริงชู้ กินไม่เลือก เหมือนไฟที่กินได้ทุกอย่าง ข้าพเจ้าจักหลีกละพวกนางไปบวช เพิ่มพูนวิเวก" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสา ความว่า ไม่รู้จักยับยั้ง คือมีความประพฤติเลวทราม อีกอย่างหนึ่ง ความสุขท่านเรียกว่า สาตะ ความสุขนั้นไม่มีแก่หญิงเหล่านั้น ทั้งยังให้ความไม่สุขใจแก่คนที่มีจิตปฏิพัทธ์ในตน จึงชื่อว่า ไม่รู้จักยับยั้ง อธิบายว่า อยู่ไม่สุข คือเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เพื่อจะแสดงความข้อนี้ให้แจ่มแจ้ง พึงนำพระสูตรนี้มาสาธกดังนี้.

"หญิงเหล่านั้น ร้อยเล่ห์ หลอกลวง เป็นบ่อเกิดแห่งความโศก มีเชื้อโรคเป็นตัวอุบาทว์ หยาบคาย ก่อให้เกิดความผูกพัน เป็นชนวนแห่งความตาย เป็นนางบังเงา ชายใดวางใจในนาง ชายนั้นจัดเป็นคนเลวในฝูงคน" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกิตฺถิโย แปลว่า หญิงในโลก.

บทว่า เวลา ตาสํ น วิชฺชติ ความว่า คุณแม่ขอรับ หญิงเหล่านั้น กิเลสเกิดขึ้นแล้ว เวลา คือความสำรวม เขตแดนที่ชื่อว่า ประมาณ ไม่มีเลย


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 117

เป็นหญิงกำหนัดหนัก คือติดใจในกามคุณทั้ง ๕ ทั้งเป็นผู้คะนอง เพราะประกอบด้วยความคะนอง ๓ ประการ คือคะนองกาย คะนองวาจา และคะนองใจ เพราะขึ้นชื่อว่า ความสำรวมที่มาประจวบอารมย์ มีกายทวารเป็นต้น มิได้มีในภายในของหญิงเหล่านั้นเลย คือเป็นหญิงหลุกหลิก เปรียบได้กับจำพวกกา พราหมณมาณพแสดงลักษณะหญิง ดังพรรณนามานี้.

บทว่า สิขี สพฺพฆโส ยถา ความว่า ธรรมดาไฟที่ถึงการนับว่า สิขี เพราะมีเปลวเป็นแฉก ได้เชื้อใดๆ จะเป็นของไม่สะอาด มีประเภทเป็นต้นว่า คูถก็ตาม จะเป็นของสะอาด มีประเภทเป็นต้นว่า เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยก็ตาม น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ก็แลบเลียกินหมดทุกอย่าง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า กินทุกอย่างฉันใด แม้หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้น นั่นแหละ จะเป็นคนมีกำเนิดทราม มีการงานทราม เช่น คนเลี้ยงช้าง เลี้ยงวัวเป็นต้นก็ตามเถิด จะเป็นคนมีกำเนิดสูง การงานสูง เช่นกษัตริย์เป็นต้นก็ตามเถิด มิได้คิดถึงความเลวทรามและความอุกฤษฐ์เลย เมื่อความชื่นชมด้วยอำนาจกิเลสบังเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งความยินดีในโลก ได้คนประเภทไหน ก็เสพได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหมือนกับไฟที่ไหม้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ไฟกินได้ทุกอย่างฉันใด หญิงเหล่านั้น ก็พึงทราบว่า เป็นอย่างนั้นเหมือนกันแหละ.


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 118

บทว่า ตา หิตฺวา ปพฺนชิสฺสาติ ข้าพเจ้าขอหลีกเว้น หญิงลามก อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น เข้าป่าบวชเป็นฤาษี.

บทว่า วิเวกมนุพฺรูหยํ ความว่า วิเวกมี ๓ คือกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ในเรื่องนี้ บรรดาวิเวกทั้ง ๓ นั้น ควรเพิ่มพูนกายวิเวกด้วย จิตวิเวกด้วย ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า (พราหมณมาณพกล่าวว่า) คุณแม่ครับ ผมต้องบวช กระทำกสิณบริกรรม ให้สมาบัติทั้ง ๘ และอภิญญาทั้ง ๕ บังเกิดแล้ว จักปลีกกายออกจากหมู่และพรากจิตจากกิเลส เพิ่มพูนวิเวกนี้ จักเป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรื่องเหย้าเรือนสำหรับผม เลิกกันที.

พราหมณมาณพ ติเตียนหญิงทั้งหลายอย่างนี้ กราบลามารดาบิดาบวชแล้ว เพิ่มพูลวิเวกมีประการดังกล่าวแล้ว ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่า หญิงทั้งหลาย ไม่รู้จักจืดจาง ลามก มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ให้ทุกข์อย่างนี้ ทรงแสดงโทษของหญิงทั้งหลาย ประกาศสัจธรรม ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.

พระศาสดาทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า มารดามาณพในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุณีชื่อ ภัททกาปิลานี ในบัดนี้ บิดาของมาณพ ได้เป็นพระมหากัสสปะ มาณพผู้เป็นศิษย์ ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนอาจารย์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอสาตมันตชาดกที่ ๑