๒. สีลวนาคชาดก คนอกตัญญูหาช่องเนรคุณอยู่ทุกขณะ
โดย บ้านธัมมะ  15 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35449

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 182

๒. สีลวนาคชาดก

คนอกตัญูหาช่องเนรคุณอยู่ทุกขณะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 182

๒. สีลวนาคชาดก

คนอกตัญญูหาช่องเนรคุณอยู่ทุกขณะ

[๗๒] "ถ้าใครๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมด แก่คนอกตัญญู ผู้มีปกติมองหาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ทำให้เขาพอใจไม่ได้".

จบ สีลวนาคชาดกที่ ๒

อรรถกถาสีลวนาคชาดกที่ ๒

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อกตญฺญุสฺส โปสสฺส" ดังนี้.

ความย่อว่า ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณของพระตถาคต พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู แม้ในครั้งก่อน ก็เคยเป็นผู้อกตัญญูมาแล้ว ไม่เคยรู้คุณของเรา ไม่ว่าในกาลไหนๆ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 183

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้างในหิมวันตประเทศ พอคลอดจากครรภ์มารดา ก็มีอวัยวะขาวปลอด มีสีเปล่งปลั่ง ดังเงินยวง นัยน์ตาทั้งคู่ของพระยาช้างนั้น ปรากฏเหมือนกับแก้วมณี มีประสาทครบ ๕ ส่วน ปากเช่นกับผ้ากัมพลแดง งวงเช่นกับพวงเงินที่ประดับระยับด้วยทอง เท้าทั้ง ๔ เป็นเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง อัตภาพอันบารมีทั้ง ๑๐ ตกแต่งของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงความงามเลิศด้วยรูปอย่างนี้ ครั้งนั้น ฝูงช้างในป่าหิมพานต์ทั้งสิ้น มาประชุมกันแล้ว พากันบำรุงพระโพธิสัตว์ผู้ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว พระโพธิสัตว์จึงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่อาศัยในหิมวันตประเทศ ด้วยประการฉะนี้ ภายหลังเห็นโทษในหมู่คณะ จึงหลีกออกจากหมู่สู่ที่สงบสงัดกาย พำนักอาศัยอยู่ในป่าแต่ลำพังผู้เดียวเท่านั้น และเพราะเหตุที่ช้างผู้พระโพธิสัตว์นั้นเป็นสัตว์มีศีล จึงได้นามว่า สีลวนาคราช พญาช้างผู้มีศีล.

ครั้งนั้น พรานป่าชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง เข้าสู่ป่าหิมพานต์เสาะแสวงหาสิ่งของอันเป็นเครื่องยังชีพของตน ไม่อาจกำหนดทิศทางได้ หลงทาง เป็นผู้กลัวแต่มรณภัย ยกแขนทั้งคู่ร่ำร้องคร่ำครวญไป พระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของพรานผู้นั้นแล้ว อันความกรุณาเข้ามาตักเตือนว่า เราจักช่วยบุรุษผู้นี้ ให้พ้นจากทุกข์ ก็เดินไปหาเขาใกล้ๆ เขาเห็นพระโพธิสัตว์แล้ว วิ่งหนีไป พระโพธิสัตว์เห็นเขาวิ่งหนี ก็หยุดยืนอยู่ตรงนั้น บุรุษ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 184

นั้นเห็นพระโพธิสัตว์หยุด จึงหยุดยืน พระโพธิสัตว์ก็เดินใกล้เข้าไปอีก เขาก็วิ่งหนีอีก เวลาพระโพธิสัตว์หยุด เขาก็หยุด แล้วดำริว่า ช้างนี้ เวลาเราหนีก็หยุดยืน เดินมาหาเวลาที่เราหยุด เห็นทีจะไม่มุ่งร้ายเรา แต่คงปรารถนาจะช่วยเราให้พ้นจากทุกข์นี้เป็นแน่ เขาจึงกล้ายืนอยู่ พระโพธิสัตว์เข้าไปใกล้เขา ถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เหตุไร ท่านจึงเที่ยวร่ำร้องคร่ำครวญไป เขาตอบว่า ท่านช้างผู้จ่าโขลง ข้าพเจ้ากำหนดทิศทางไม่ถูก หลงทาง จึงเที่ยวร่ำร้องไปเพราะกลัวตาย ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จึงพาเขาไปยังที่อยู่ของตน เลี้ยงดูจนอิ่มหนำด้วยผลาผล ๒ - ๓ วัน แล้วกล่าวว่า อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าจักพาท่านไปสู่ถิ่นมนุษย์ แล้วให้นั่งหลังตน พาไปส่งถึงถิ่นมนุษย์ ครั้งนั้นแล พรานป่าเป็นคนมีสันดานทำลายมิตร จึงคิดมาตลอดทางว่า ถ้ามีใครถาม ต้องบอกได้ ดังนี้ นั่งมาบนหลังพระโพธิสัตว์ วางแผนกำหนดที่หมายต้นไม้ ที่หมายภูเขาไว้ถ้วนถี่ทีเดียว ครั้นพระโพธิสัตว์ พาเขาออกไปจนพ้นป่าแล้ว หยุดที่ทางใหญ่ อันเป็นทางเดินไปสู่พระนครพาราณสี สั่งว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านจงไปทางนี้เถิด แต่ถ้ามีใครถามถึงที่อยู่ของเรา ท่านอย่าบอกนะ ดังนี้ ส่งเขาไปแล้ว ก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน.

ครั้งนั้น บุรุษนั้นไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ก็ไปถึงถนนช่างสลักงา เห็นพวกช่างสลักงากำลังทำเครื่องงาหลายชนิด


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 185

จึงถามว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าได้งาช้างที่ยังเป็นๆ ท่านทั้งหลายจะซื้อหรือไม่ พวกช่างสลักงาตอบว่า ท่านผู้เจริญ ท่านพูดอะไร ธรรมดางาช้างเป็นมีค่ามากกว่างาช้างที่ตายแล้วหลายเท่า เขากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักนำงาช้างเป็นมาให้พวกท่าน แล้วจัดสะเบียงคือเลื่อยไปสู่ที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เห็นเขามาจึงถามว่า ท่านมาเพื่อประสงค์อะไร เขาตอบว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าเป็นคนยากจน กำพร้า ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ มาขอตัดงาท่าน ถ้าท่านจักให้ ก็จะถืองานั้นไปขายเลี้ยงชีวิตด้วยทุนทรัพย์นั้น พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เอาเถิด พ่อคุณ เราจักให้งาท่าน ถ้ามีเลื่อยสำหรับตัดงา เขากล่าวว่า ท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าถือเอาเลื่อยเตรียมมาแล้ว พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเอาเลื่อยตัดงาเถิด แล้วคุกเท้าหมอบลงเหมือนโคหมอบ เขาก็ตัดปลายงาทั้งคู่ของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จับงาเหล่านั้นด้วยงวง พลางตั้งปณิธานเพื่อพระสัพพัญญุตญาณว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ใช่ว่า เราจะให้งาคู่นี้ด้วยคิดว่า งาเหล่านี้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของเราดังนี้ ก็หามิได้ แต่ว่า พระสัพพัญญุตญาณอันสามารถจะตรัสรู้ธรรมทั้งปวง เป็นที่รักของเรายิ่งกว่างาเหล่านี้ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า การให้งานี้เป็นทานของเรานั้น จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด แล้วสละงาทั้งคู่ให้ไป.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 186

เขาถืองานั้นไปขาย ครั้นสิ้นทุนทรัพย์นั้น ก็ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์อีก กล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ทุนทรัพย์ที่ได้เพราะขายงาของท่าน เพียงพอแค่ชำระหนี้ของข้าพเจ้าเท่านั้น โปรดให้งาส่วนที่เหลือแก่ข้าพเจ้าเถิด พระโพธิสัตว์ก็รับคำ แล้วยอมให้เขาตัด ยกงาส่วนที่เหลือให้โดยนัยเดียวกับครั้งก่อน ถึงเขาจะขายงาเหล่านั้นแล้ว ก็ยังย้อนมาอีก กล่าวขอว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ โปรดให้โคนงาแก่ข้าพเจ้าเถิด พระโพธิสัตว์รับคำแล้วก็หมอบลง โดยนัยก่อน คนใจบาปนั้นก็เหยียบงวงอันเปรียบเหมือนพวงเงินของมหาสัตว์ ก้าวขึ้นสู่กระพองอันเปรียบได้กับยอดเขาไกรลาส เอาส้นกระทืบปลายงาทั้งสอง ฉีกเนื้อตรงสนับงา ลงมาจากกระพอง เอาเลื่อยตัดโคนงาแล้ว ก็หลีกไป ก็ในเมื่อคนใจบาปนั้น เดินพ้นไปจากคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แผ่นดินอันทึบหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ถึงจะสามารถทรงไว้ซึ่งของหนักแสนหนัก มีขุนเขาสิเนรุและยุคนธรเป็นต้น และถึงจะทรงไว้ซึ่งสิ่งที่น่าเกลียดมีกลิ่นเหม็น มีคูถและมูตรเป็นต้น ก็เป็นเสมือนไม่สามารถจะทานไว้ได้ซึ่งกองแห่งโทษมิใช่คุณของบุรุษนั้น จึงแยกให้ช่อง ทันใดนั้นเอง เปลวไฟแลบออกจากมหานรกอเวจี ห่อหุ้มคลุมบุรุษทำลายมิตรนั้นเป็นเหมือนคลุมด้วยผ้ากำพลสีแดง อันเป็นของที่ตระกูลให้ก็ปานกัน เวลาที่คนใจบาปเข้าไปสู่แผ่นดินอย่างนี้แล้ว รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 187

ราวป่านั้น กำหนดเหตุว่า ถึงจะให้จักรพรรดิราชสมบัติก็ไม่อาจให้บุรุษผู้อกตัญญูนี้ ซึ่งเป็นผู้ทำลายมิตร พอใจได้ เมื่อจะแสดงธรรมให้กึกก้องไปทั่วป่า จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า.

"ถึงหากจะให้แผ่นดินทั้งหมด แก่คนอกตัญญู ผู้คอยมองหาช่องอยู่เป็นนิตย์ ก็ไม่ทำให้เขาพอใจได้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกตญฺญุสฺส ความว่า แก่คนผู้ไม่รู้คุณที่คนอื่นทำแก่ตน.

บทว่า โปสสฺส แปลว่า แก่บุรุษ.

บทว่า วิวรทสฺสิโน ความว่า ผู้มองหาช่อง คือโอกาสอยู่ร่ำไป.

บทว่า สพฺพญฺเจ ปวิํ ทชฺชา ความว่า แม้ถ้าจักให้จักรพรรดิราชสมบัติทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่ง ถึงหากจะพลิกแผ่นดินใหญ่นี้เอาง้วนดินมาให้แก่บุคคลเช่นนั้น.

บทว่า เนว นํ อภิราธเย ความว่า ใครๆ แม้ถึงจะกระทำอย่างนี้ได้ ก็ยังไม่อาจยังคนอกตัญญู ดังตัวอย่างที่ปรากฏ ผู้ทำลายคุณที่ท่านกระทำแล้ว ให้อิ่มใจหรือให้เลื่อมใสได้เลย.

เทวดานั้นแสดงธรรมสนั่นไปทั่วป่า ด้วยประการฉะนี้.

พระโพธิสัตว์ดำรงอยู่ตราบสิ้นอายุขัย ได้ไปตามยถากรรม.

พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู ถึงในกาลก่อน


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 188

ก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า บุรุษผู้ทำลายมิตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต รุกขเทวดา ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนพระยาช้างผู้มีศีล ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสีลวนาคชาดกที่ ๒