เห็นใจคนที่ทำไม่ดีเพราะเขาไม่รู้_สนทนาธรรมไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗
โดย เมตตา  13 ก.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48124

อาช่า: ขอความเข้าใจเรื่องอัพยากตธรรมมากขึ้นค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าจะจำแนกธรรมทั้งหมดออกเป็น ๓ ก็ได้ เป็น ๒ ก็ได้ เป็น ๕ ก็ได้ เป็น ๗ เป็น ๑๐ ได้หมด แต่ว่า เมื่อธรรมมีจริงสามารถที่จะจำแนกออกได้ตามประเภท

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดแบ่งเป็น กุศลธรรม กุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศล อกุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่ไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล เป็นอัพยากตา ธัมา

ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงอะไรก็ตามทั้งหมด ต้องเป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ อย่าง

อย่าลืม ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ศึกษาเพื่อเข้าใจถูก สิ่งที่มีจริงๆ ทุกวันเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

ธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน

เจตสิก เป็นสภาพรู้ แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน

กว่าจะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกวัน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีความเคารพในการที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี

ถ้าไม่มั่นคงว่า เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อได้เจริญอบรมความดีเป็นบารมีนานเท่าไหร่กว่าจะตรัสรู้ความจริงที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้

ถ้าไม่รู้พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมที่ลึกซึ้ง จะไม่สามารถเข้าใจธรรมได้เลย

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นทุกครั้งที่จะฟังพระธรรม ต้องเคารพสูงสุดจึงฟังด้วยความเคารพในความลึกซึ้งที่จะเข้าใจได้

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ต้องด้วยความเคารพในความลึกซึ้ง ต้องรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ฟังเพื่อละสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมทุกครั้งว่า ฟังเพื่อละความไม่รู้เพื่อละความไม่ดี ที่รู้ว่า เพราะไม่รู้จึงทำสิ่งที่ไม่ดี และความไม่ดีทั้งหมดจะละได้ต่อเมื่อค่อยๆ รู้จักคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และฟังเพื่อละ

เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ลืมนะ ก่อนที่จะตรัสพระธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จงฟัง จงใส่ใจให้ดี พระองค์จะกล่าว ฟังทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเข้าใจแล้วทรงธรรมไว้ เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เรา เมื่อฟังด้วยความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราเป็นธรรม ก็จะรู้ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นธรรมทั้งหมด

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 13 ก.ค. 2567

กุศลาธรรมา หมายความถึงสภาพที่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นกุศล ความเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา สิ่งนั้นที่มีเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีจริงเป็นธรรมที่ดีงามเป็นกุศลธรรม ต้องไตร่ตรอง มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น เป็นธรรมที่ดีไหมที่ไม่รู้? ความเข้าใจถูกความเห็นถูกเป็นกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น กุศลธรรมมีหลายอย่าง รู้ความจริงจึงไม่ติดข้อง ความสำคัญตน เข้าใจว่าตนเก่ง ตนดี หรือตนด้อย ตนไม่เก่งเป็นอกุศลธรรม แต่ถ้ารู้จริงก็เป็นกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น ฟัง คำ ว่า กุศลธรรม ไม่ใช่ว่าไม่ให้รู้อะไรเลย แต่เป็นผู้ที่เริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นธรรมที่ดี แต่ไม่ใช่เรา

ความเป็นเพื่อน หวังดีกับทุกคนเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม?

อาช่า: เป็นกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักกุศลว่า ไม่ใช่เรา ถ้ารู้ว่า สิ่งนั้นเป็นกุศลก็เป็น กุสลา ธัมมา

ความติดข้อง ต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการชื่อเสียง ต้องการความเป็นใหญ่ เป็นกุศล หรืออกุศล?

อาช่า: เป็นอกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์: การเสียสละความสุขของเราเพื่อคนอื่นเป็นประโยชน์แก่คนอื่นเป็นกุศล หรืออกุศล?

อาช่า: เป็นกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันทุกวันก็แสดงให้รู้ว่า ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องก็เป็นธรรมที่เป็นกุศลธรรม และอกุศล

จิตที่เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเห็น ได้ยิน เป็นกุศลไม่ได้เป็นอกุศลไม่ได้ เพราะเป็นวิปาก คือเป็นผลของกรรม จึงเป็นอัพยากตะ ธรรมใดที่ไม่ใช่กุศล อกุศล ธรรมทั้งหมดนั้นเป็นอัพยากตะ

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้มีความเห็นถูกต้องในธรรม ๓ อย่าง คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น

พระอรหันต์มีกุศลจิตไหม?

อาช่า: ไม่มีค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?

อาช่า: เพราะจิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิตค่ะ

ท่านอาจารย์: ทำไมเป็นกิริยาจิต

อาช่า: ไม่ทราบค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องมั่นคงในทีละคำ ไม่ต้องรีบร้อนไปรู้อะไรทั้งหมด โดยที่ไม่เข้าใจแต่ละหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า กุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่ดีงามที่เป็นเหตุให้เกิดผล อกุศลธรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดผลด้วย

ถ้าทุกคนตายเดียวนี้ ผลของกรรมที่ไม่ดีที่ได้ทำ จะเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิที่ไม่ดี ไม่สามารถที่เจริญธรรมได้มากขึ้น เงินทองไม่สามารถที่จะทำให้ไม่เกิดในอบายภูมิได้ ความติดข้องในทรัพย์สมบัติเงินทองไม่สามารถทำให้เกิดในภพภูมิที่ดีได้

เพราะฉะนั้น ไม่สงสัยเลยว่า กุศลเป็นเหตุให้เกิดดี อกุศลเป็นเหตุให้เกิดไม่ดี เพราะฉะนั้น เห็นงู เห็นนก เห็นปลา รู้ได้ว่าทำไมเกิดเป็นงู เป็นนก เป็นปลา เพราะฉะนั้น เป็นนก เป็นงู เป็นปลาไม่ดี แต่ภูมิที่ไม่ดีที่สุด คือนรก นรกมีหลายนรกต่างๆ กันไป อเวจีมีไฟไหม้ตลอดเวลา ถ้าน้อยกว่านั้นที่จะตกอเวจีก็เป็นเปรต ผลของอกุศลทำให้รูปร่างไม่ดีและหิวตลอดเวลาเพราะโลภตลอดเวลา

น้อยกว่าเปรตก็เป็นอสุรกาย อสุรกายเป็นผลของกรรมที่ไม่ทำให้ตกนรก ไม่ทำให้เป็นเปรต แต่เป็นภพภูมิที่ไม่มีความสนุกสนานรื่นเริง ไม่มีวิชาความรู้อย่างในโลกมนุษย์ ที่เรามักใช้กันในคำว่า ผี

เพราะฉะนั้น ทุกคนรู้จักคำว่า ผี นะเป็นภพภูมิหนึ่งที่ลำบากน้อยกว่านั้นก็เป็นเดรัจฉาน นก งู ปู ปลา เป็ด ไก่ แต่ทุกภูมิมากกว่านี้ต่างๆ กันมากกว่านี้ นี่กล่าวถึงใหญ่ๆ

แต่ผลของกรรมต่างกันวิจิตรมาก เกิดเป็นหมา หรือสุนัข รูปร่างต่างกันมาก ความต่างๆ กันของกรรม ทำให้หมาบางตัวนอนเตียงทองคำ บางตัวก็น่าเกียจนอนกลางถนนไม่มีอาหารไม่มีข้าวกิน

เพราะฉะนั้น ทุกขณะจิตต่างกันมากตามการสะสมต่างๆ กัน บางคนเกิดมายากจนมากไม่มีข้าวกินเลยต้องกินข้าวที่เขาเอามาทิ้ง

แต่ไม่มีใครรู้การสะสมดี และชั่วในแสนโกฏกัปป์ที่ได้ทำไว้ดี แล้วทำให้ได้พบพระพุทธเจ้า และเป็นพระโสดาบันได้ เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทความเข้าใจจากการฟังธรรมที่ละเอียดแต่ละครั้ง เพื่อเข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

ความละเอียดลึกซึ้งของธรรมเดี๋ยวนี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ถ้าไม่เข้าใจถูกต้องก็ประพฤติตามไม่ได้แน่นอน ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามก็เสียประโยชน์ที่ได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจเพื่อค่อยๆ ประพฤติตามเมื่อเข้าใจแล้ว

เพราะฉะนั้น กุศลาธรรมา คือธรรมที่ดีงามทั้งหมด เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อใช้คำว่า กุศลาธรรมา รู้ว่าเป็นธรรมที่เป็นเหตุ ซึ่งต้องมีผลแน่นอน ผลจะเกิดช้าหรือเร็วไม่มีใครสามารถทำได้เลยนอกจากกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นกรรมที่เล็กน้อย หรือกรรมที่ประมาณมากรุนแรงมาก เพราะฉะนั้น ทุกคนเริ่มเข้าใจด้วยตัวเองว่า ทุกขณะที่เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสสิ่งที่ดี เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นกรรมดีหรือไม่ดี

วันนี้ใครไม่ดีบ้าง?

อาช่า: ฉันไม่ดี

มานิช: ตัวเองอกุศลส่วนใหญ่ กุศลน้อย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้ว่าตัวเองไม่ดีมีประโยชน์ไหม?

อาช่า มานิช: มีประโยชน์ รู้แล้วก็จะพยายามทำความดี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดที่จะละความไม่ดีก็ต่อเมื่อรู้ความจริงว่า ขณะนั้นไม่ดี จึงสามารถที่จะเห็นโทษแล้วละได้

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย เมตตา  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ท่านอาจารย์: ขณะที่ทำดี ละความไม่ดี เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

อาช่า: เห็นคุณของพระพุทธองค์ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าทำความดีมากขึ้นก็เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้เข้าใจจนทำความดีมากขึ้นไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ทุกครั้งที่สามารถละความไม่ดี เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุดที่ทำให้เป็นไปได้

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ละความไม่ดีศึกษาธรรม รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

มานิช: ถ้าอกุศลไม่ลดลงแสดงว่าที่ฟังมาก็ไม่เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์: แล้วก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

มานิช: ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรู้นอกจากตัวเอง ในขณะที่เป็นกุศล และอกุศล

มานิช: ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระธรรมทำให้เป็นผู้ตรงต่อความจริง เพราะฉะนั้น รู้ว่า อะไรเป็นกุศลธรรม อะไรเป็นอกุศลธรรม สามารถเข้าใจว่า อะไรเป็นอัพยากตธรรมได้

อาช่า: ค่ะ

คุณสุคิน: มานิชมีคำถามว่า พูดถึงคุณของพระพุทธองค์ แล้วความสำคัญของการแสดงความเคารพพระพุทธองค์ แปลว่า พระพุทธองค์องค์ก่อนๆ ก็ต้องเคารพด้วยใช่ไหม ผมเลยอธิบายให้เขาฟังว่า ไม่เกี่ยวกับต้องทำหรืออะไรอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจธรรมมากน้อยแค่ไหน แล้วรู้ว่าที่เราเข้าใจนี่มาจากใคร และถ้าไม่มีคำสอนเราก็ไม่รู้ความจริงตรงนี้ เพราะฉะนั้น การเคารพก็อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะคิดว่ามีพระพุทธองค์กี่พระองค์แล้วตื่นเช้ามาก็จะมาคิดทำความเคารพ แต่ต้องเข้าใจว่า พระพุทธองค์ทุกพระองค์สอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การเข้าใจ ก็คือการแสดงความเคารพ

ท่านอาจารย์: จะเห็นได้ว่า ความไม่รู้เกิดแม้ความสงสัย เข้าใจความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือ จึงเคารพองค์นี้ไม่เคารพองค์นั้น ลองคิดดูซิ เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ แต่ไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่น รู้จักพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?

มานิช: เข้าใจแล้วครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง?

มานิช: ยังไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังแล้วเริ่มรู้คุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือยัง?

อาช่า: เริ่มรู้จักค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้วจะเริ่มเคารพไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: จะเคารพอย่างไร?

มานิช: แสดงความเคารพโดยการเจริญความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น

อาช่า: เคารพโดยการเจริญกุศลเพิ่มขึ้น และลดอกุศล

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ด้วยความเคารพในทุกคำที่ได้ฟังเป็นความจริง และเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้น เห็นในพระมหากรุณาคุณที่ทำให้สิ่งที่ไม่ดีสามารถที่จะค่อยๆ หมดไปได้

เพราะฉะนั้น ค่อยๆ เข้าใจความจริงแล้วประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการแสดงความจริงว่า เพราะเข้าใจ จึงเริ่มประพฤติปฏิบัติตาม

ท่านอาจารย์: ถูกไหม?

อาช่า: ค่ะ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 13 ก.ค. 2567

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 609

ข้าพเจ้าคือกัณฐกอัศวราช สหชาตของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ ราชธานี ของกษัตริย์แคว้นศากยะ ครั้งใดพระราชโอรสเสด็จ ออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อโพธิญาณตอนเที่ยงคืน พระองค์ใช้ฝ่าพระหัตถ์อันนุ่มและพระนขาที่แดงปลั่ง ค่อยๆ ตบขาข้าพเจ้า และตรัสว่า พาไปสิสหาย เรา บรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว จักยังโลกให้ข้าม โอฆสงสาร เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้น ได้มีความ ร่าเริงเป็นอันมาก ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานยินดีได้รับคำ ในครั้งนั้น ครั้นรู้ว่า พระศากโยรสผู้มียศใหญ่ ประทับนั่งเหนือหลังข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานบันเทิง นำพระมหาบุรุษไปถึงแว่นแคว้นของ กษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พระมหาบุรุษ นั้นมิได้ทรงอาลัย ละทิ้งข้าพเจ้าและฉันนอำมาตย์ไว้ เสด็จหลีกไป ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสอง ซึ่งมี พระนขาแดงของพระองค์ ร้องไห้แลดูพระมหาวีระ ผู้กำลังเสด็จไป เพราะไม่ได้เห็นพระศากโยรสผู้ทรงสิรินั้น ข้าพเจ้าป่วยหนักก็ตายอย่างฉับพลัน ด้วย อานุภาพแห่งบุญนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงมาอยู่วิมานทิพย์นี้ ซึ่งประกอบด้วยกามคุณทุกอย่างในเทวนคร อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีความร่าเริงเพราะได้ฟัง เสียงเพื่อพระโพธิญาณว่าเราจักบรรลุความสิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั่นเอง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้า จะพึงไปในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ศาสดาไซร้ ขอพระคุณเจ้า จงกราบทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้ากะพระองค์ตามคำของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ การได้ เห็นพระโลกนาถผู้คงที่หาได้ยาก.


ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มต้นฟังแล้วเคารพโดยการไตร่ตรอง พระองค์ตรัสว่า กุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา แล้วยังมีอัพยากตธรรมา หมายความว่าอะไร อะไรเป็นอัพพยากตธรรมา?

อาช่า: กุศลาธรรมก็เป็นกุสลาธรรมา อกุศลาธรรมาก็เป็นอกุศลาธรรมา ที่เหลือที่ไม่ใช่กุศลาธรรมา อกุศลาธรรม ก็เป็นอัพยากตธรรมา

ท่านอาจารย์: อัพยากตธรรมามีอะไรบ้าง?

อาช่า: มี ๔ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย มีรูป มีนิพพาน

ท่านอาจารย์: ทุกรูปหรือเปล่า?

อาช่า: ทุกรูปค่ะ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเป็นคนที่เคารพใน ทุกคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปลี่ยนไม่ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงให้รู้ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ขณะแรกที่เกิดในโลกนี้เป็นอะไร?

อาช่า: ขณะแรกเป็นอัพยากตธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: อัพยากตธรรมประเภทไหน?

อาช่า: วิบากจิต และเจตสิก

ท่านอาจารย์: เริ่มรู้ความจริงว่า ตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครเลย มีแต่ธรรมที่เป็นผลของกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น แม้จิตขณะแรกที่เป็นผลของกรรม จิตนั้นก็ประมวลทุกสิ่งทุกอย่างในแต่ละชาติที่สามารถจะทำให้เป็นผลของกรรมที่ได้รับผลจากสิ่งที่ทำมาแล้วอะไรบ้าง

รู้จักม้ากัณฐกะไหม?

อาช่า: รู้จักค่ะ

ท่านอาจารย์: การเกิดเป็นม้ากัณฐกะเป็นผลของอะไร?

อาช่า: อกุศลกรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: แต่ม้ากัณฐกะสะสมกุศลกรรม ปัญญา ทุกสิ่งมาบ้างหรือเปล่า?

อาช่า: สะสมมาค่ะ

ท่านอาจารย์: สะสมมามากที่จะทำให้เมื่อตายจากชาติที่เป็นม้ากัณฐกะแล้ว เกิดในสวรรค์เป็นเทวดา เมื่อเป็นเทวดาแล้ว มาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรม ได้เป็นพระโสดาบัน

ตอนที่เป็นม้ากัณฐกะแม้จะสะสมธรรม ได้ยินเสียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ไม่ลืม คำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพานว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม แม้กุศลเพียงเล็กน้อยก็ไม่ประมาท ทำทันที

เพราะฉะนั้น เพียงเล็กน้อย แต่เล็กน้อยๆ ๆ ก็เพิ่มขึ้นจนมาก ถ้าเคารพ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ลืม คำ ของพระองค์ ถ้าไม่ชอบคนอื่น เขาไม่ดี ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร?

อาช่า: นั่นเป็นอกุศลของเราเองค่ะ

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร?

อาช่า: พระพุทธองค์สอนว่า ถ้าคิดไม่ดีกับผู้อื่น อกุศลเราจะเพิ่มค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าเป็นผู้ไม่ลืม คำ ของพระองค์ ขณะนั้นจิตเป็นกุศลใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าคนอื่นไม่ดี ขณะนั้น ใจเป็นอย่างไร และทำอย่างไร?

อาช่า: จะพยายามไม่โกรธค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็นใจคนที่ทำไม่ดี เพราะเขาไม่รู้

อาช่า: อาจคิดอย่างนี้ก็ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: คิดอย่างนี้ก็ได้ หมายถึงว่าอย่างไร?

อาช่า: หมายความว่า เห็นใจเขาเพราะว่าเขาไม่เข้าใจเพราะทำด้วยความไม่รู้

ท่านอาจารย์: แล้วทำได้หรือยัง?

อาช่า: บางทีก็เป็นอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: หมายความว่าอย่างไร?

อาช่า: หมายความว่า วันๆ ก็มีที่คิดอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เขา หรือว่าธรรม?

อาช่า: เป็นธรรมหนึ่งค่ะ

ท่านอาจารย์: แสดงว่า ความเข้าใจยังไม่พอ

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ประโยชน์อย่างยิ่ง คือรู้ว่าฟังพระธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นนามธรรมที่เป็นเจตสิกที่เป็นปัญญาเจตสิก เข้าใจถูก

เมื่อปัญญารู้ความจริง ก็เป็นหนทางที่จะทำสิ่งที่ดี ถ้าไม่มีความเข้าใจซึ่งเป็นปัญญา จะเปลี่ยนจากความไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดีได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะที่ปัญญาเกิด ปัญญาเป็นใหญ่เป็นปัญญินทรีย์ เพราะฉะนั้น สภาพที่เป็นอินทรีย์ หมายความถึงเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในขณะที่เกิด

ธรรมละเอียดมาก ต้องเข้าใจ และไตร่ตรอง สภาพที่เป็นใหญ่เป็นนามธรรมก็มี เป็นรูปธรรมก็มี สภาพที่เป็นใหญ่ต้องเป็นใหญ่ในขณะที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในบรรดาธรรมทั้งหมด สภาพธรรมอะไรเป็นใหญ่บ้าง พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีธรรมแน่นอน มีจิต เจตสิก รูป ขณะนี้อะไรเป็นใหญ่ นึกออกไหม เดี๋ยวนี้อะไรเป็นใหญ่ ขณะเกิดอะไรเป็นใหญ่ ทุกขณะอะไรเป็นใหญ่?

อาช่า: อย่างเช่น เห็น เห็นเป็นจิต เป็นอินทรีย์ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น จะมีอะไรๆ ปรากฏได้ไหม?

อาช่า: ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จะขาดสภาพที่เป็นใหญ่ในการเกิดขึ้นรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้

อาช่า:

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักธรรมที่เป็นใหญ่ ๑ คือจิต ภาษาบาลีใช้ คำว่า มนินทรีย์

เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เป็นอินทรีย์มีไหม?

อาช่า: ปัญญาค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เป็นอินทรีย์ ต่างกับมนินทรีย์ใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: คุณอาช่าได้ยิน คำว่า อินทรีย์จากไหน?

อาช่า: เป็นศัพท์ที่ได้ยินมาในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ก่อนที่มาฟังธรรมก็ได้ยินคำนี้มา และหลังจากได้ฟังธรรมก็ได้อ่านเจอเหมือนกัน

ท่านอาจารย์: เป็นสิ่งที่ดีนะที่สามารถที่จะอ่าน สนใจ ในคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ไม่จำเป็นต้องรอ แต่ว่าต้องไตร่ตรอง ต้องสนทนากันเพื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะลึกซึ้ง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราศึกษาธรรม เพราะทุกอย่างเป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อเข้าใจธรรมละเอียดลึกซึ้งขึ้น ค่อยๆ ละความเห็นผิดว่า เป็นเรา

ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษา ลึกซึ้งทั้งหมด ถ้าเป็นผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ต้องรู้ว่า พึ่งเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น จิตเป็นมนินทรีย์ และเจตสิกที่เป็นอินทรีย์มีไหม?

อาช่า: คือ ตัวอย่างปัญญาที่เป็นเจตสิกที่เป็นอินทรีย์ ตรงนั้นแน่นอนเพราะว่า ได้ฟังแล้ว แต่อย่างอื่นไม่แน่ใจ ก็เลือกเวทนาขึ้นมาว่า เป็นอินทรีย์หรือไม่ ไม่แน่ใจ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง ดีมาก เพราะเริ่มเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้รู้ความจริง ซึ่งเป็นความจริงที่เปลี่ยนไม่ได้เลย

และ รูป เป็นอินทรีย์ได้ไหม?

อาช่า: เป็นได้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การที่คุณอาช่าอ่านมาแล้ว เป็นการดีที่จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละหนึ่ง

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: สำหรับวันนี้เราจะพูดถึง เวทนา ที่เป็นอินทรีย์

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: เวทนา เป็นสภาพธรรมที่รู้สึก เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นสิ่งที่เป็นใหญ่เป็นที่ยึดถือ

ความรู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏมี ๕ อย่าง

อุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ มีไหม ความรู้สึกไม่ทุกข์?

อาช่า: มีค่ะ

ท่านอาจารย์: เมื่อไหร่?

อาช่า: อย่างเช่น เห็น ได้ยิน ตอนนั้นเวทนาที่เกิดเป็นอุเบกขาเวทนา

ท่านอาจารย์: เวทนา สำคัญไหม?

อาช่า: สำคัญมากค่ะ

ท่านอาจารย์: เวทนาเกิดดับหรือเปล่า?

อาช่า: เกิดดับค่ะ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ท่านอาจารย์: เวทนาเกิดดับหรือเปล่า?

อาช่า: เกิดดับค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น รู้ว่าสภาพธรรมเกิดดับ แต่ก็ยังต้องการสภาพธรรมนั้นใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: คุณอาช่าต้องการอะไรมากค่ะ?

อาช่า: เห็นอะไรที่สวยๆ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คุณอาช่าต้องการอะไรมาก?

อาช่า: ต้องการเสื้อผ้าสวยๆ ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการที่สุดของทุกคน คือความสุขใช่ไหม เพราะฉะนั้น เวทนาขันธ์ เป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่เกิดดับ แต่ว่าเป็นที่ยึดมั่นอย่างยิ่ง ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพอที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข

เพราะฉะนั้น ทุกคนที่กำลังมีทุกข์ ต้องการพ้นทุกข์ ต้องการเป็นสุข เพราะฉะนั้น คนที่ติดข้องไม่รู้ว่า ความสุขเป็นทุกข์เป็นโทษ ก็แสวงหาความสุข จริงไหม?

เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ความจริงว่า แม้สุขก็เป็นทุกข์ ก็ไม่สามารถที่จะละความติดข้องในสุขได้

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่พึ่ง คือรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อละความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ต่อไปคุณอาช่าจะได้ยิน คำว่า อุปาทานขันธ์

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดมีปรากฏเป็นที่ตั้งของอุปาทาน ยึดมั่นว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนั้น

ความสุขเกิดแล้วดับไหม?

อาช่า: เกิดแล้วดับ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่รู้ความจริงก็ต้องการสุขตลอดเวลาใช่ไหม?

อาช่า: ค่ะ

ท่านอาจารย์: ค่อยๆ ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจขึ้น จนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ และทรงแสดงเป็นที่พึ่งที่แท้จริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย nattawan  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 13 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 7    โดย swanjariya  วันที่ 21 ก.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา