บุคคลอย่างนี้เป็นคนพาลหรือไม่
โดย papon  13 ต.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23848

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การนับถือการสักยัญ วิชาอาคม ยิงฟันไม่เข้า ลงกระหม่อม นั่งสมาธิ แต่ก็มีการสวดมนต์ ไหว้พระ เคารพพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นการเห็นผิดหรือไม่อย่างไร และบุคคลเหล่านี้จัดว่าเป็นคนพาลหรือไม่ และถ้ายังสอนใหผู้อื่นทำตามเป็นการอวดอุตริหรือไม่ครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะคอยขัดเกลาให้ผู้นั้น มีความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ไปกระทำอะไรที่ผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง มีแต่จะยิ่งเพิ่มพูนความเข้าใจพระธรรมจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน น้อมประพฤติตามพระธรรม และจากที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะสามารถเกื้อกูลผู้อื่น ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกด้วย นี้คือลักษณะของบัณฑิต ดำเนินไปด้วยปัญญา ละเว้นจากอกุศล แล้วเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไปทำอะไรต่างๆ ด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลงงามงาย แล้วก็ชักชวนให้ผู้อื่นหลงงมงายไปด้วยซึ่งมีเหตุมาจากไม่ได้เข้าใจความจริง เพราะไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตนเองออกห่างจากพระธรรมแล้ว ก็ยังเป็นการพราก ให้ผู้อื่นออกจากพระธรรมคำสอน แล้วให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่ไม่ใช่คุณความดี อีกด้วย อย่างนี้จะไม่ใช่บัณฑิตเลย แต่เป็นคนพาล แม้จะมีการสวดมนต์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็ไม่พ้นไปจากขอสิ่งต่างๆ หวังผลจากการสวด เมื่อเป็นอกุศลแล้ว ไม่ใช่บัณฑิตแน่ๆ และการนั่งสมาธิ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง แต่เป็นไปด้วยความไม่รู้ ความอยาก ความต้องการ ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลเลย ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สัตว์บุคคลไม่มี มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปมาก ก็เรียกว่าเป็นคนพาล คล้อยตามความประพฤติเป็นไปที่ไม่ดี นั่นเอง แทนที่จะไปเพ่งที่คนอื่น ก็ต้องย้อนกลับมาที่ตนเอง หนทางที่จะค่อยๆ ทำให้ตนเอง ออกจากความเป็นคนพาล ก็คือ ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมคำสอน มีความจริงใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม ให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น ความเข้าใจพระธรรมนี้เอง ที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ทำให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แล้วทำให้มีการงดเว้นจากสิ่งที่ผิด แล้วประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้นได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การแสดงธรรมมีหลายนัยครับ แม้แต่เรื่องการเป็นคนพาล ในความเป็นจริง สัตว์ บุคคลไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ประชุมรวมกัน และบัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ดังนั้น จึงมีจิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชนจิตก็ย่อมไหลไปในอำนาจของกิเลส จึงเป็นจิตที่เป็นอกุศลเป็นส่วนมากครับ ซึ่งความเป็นคนพาลในพระไตรปิฎกอธิบายไว้ครับว่า คนพาล คือ บุคคลที่ทำบาปกรรม คือ อกุศลกรรม ที่ถึงกับการล่วงศีล มี ปาณาติบาต เป็นต้น เนืองๆ บ่อยๆ นี่คือลักษณะของคนพาล ลักษณะของคนพาล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอีกนัยหนึ่งคือ มีชีวิตอยู่สักว่าเพียงแค่หายใจคือ ไม่ได้รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่ได้ทำความดีในโลกนี้ และไม่ทำประโยชน์และไม่รู้ประโยชน์ในโลกหน้า สะสมความดีเลย แต่มักทำอกุศลกรรม ทำความไม่ดี เป็นปกติครับ และลักษณะของคนพาลอีกประการหนึ่ง คือ เป็นผู้มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด เป็นต้น ซึ่งจากที่กระผมได้อธิบายลักษณะของคนพาลมาในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ทำบาปคือ ทำปาณาติบาต เป็นต้น ใครทำ ไม่มีใคร ไม่มีเรา แต่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลจิต แต่มีกำลังมากถึงกับล่วงศีล จิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น จะกล่าวว่าเป็นความดี เป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ จึงเป็นพาลในขณะนั้น ในขณะที่ทำอกุศลกรรม ล่วงศีล ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจนัยที่แสดงว่า พาลนั้นที่เป็นคนพาล ก็มีหลายระดับตามกำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นด้วยครับ ส่วนการนับถือสิ่งที่ผิด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล หากมีความเชื่อ ที่ปฏฺิเสธกรรม ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด และก็เป็นอกุศล ก็ชื่อว่าเป็นคนพาลในขณะนั้น ครับ ส่วนการอวดอุตตริมนุษธรรม คือ การอวดคุณธรรม ที่ไม่มีในตน ที่ปุถุชนไม่มีกัน ต้องหมายถึง คุณธรรม ที่เป็นฌาน แสดงฤทธิ์ การเจริญวิปัสสนา หากไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ไม่เป็นการอวดอุตตริมนุษธรรมครับ ซึ่งความเป็นคนพาล ก็แบ่งเป็นหลายนัย อันธพาล คือ คนพาลที่มืดบอด และมักทำอกุศลกรรม ล่วงศีลเป็นประจำ อันนี้พาลแท้จริง มีกำลัง ไม่ควรคบ เพราะมีกำลังถึงขนาดทำอกุศลกรรม คือ ล่วงศีลเป็นประจำ เป็นอันธพาล เป็น อันธปุถุชน แต่ปุถุชน ผู้ที่มีความเข้าใจธรรม เจริญกุศลประการต่างๆ เรียกว่า กัลยาณปุถุชน ปุถุชนผู้ดีงาม อันจะนำไปสู่การเป็นพระอริยะได้ เพราะทำความดีประการต่างๆ และอบรมเจริญปัญญา ต่างกับอันธพาลปุถุชน โดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ทำอกุศลกรรม มีการล่วงศีล เป็นต้น เป็นปกติและไม่ได้อบรมความดี อบรมปัญญาเลยครับ ซึ่งกัลยาณปุถุชน ก็ต้องมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติ มากว่ากุศลจิตแน่นอน ซึ่งขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น จะกล่าวว่าเป็นความดี คนดีไม่ได้ แต่เป็นพาลชั่วขณะนั้นและอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีกำลังถึงขนาดการทำอกุศลกรรม ที่เป็นการล่วงศีล ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่างเพียงอกุศลจิต และการทำอกุศลกรรม ว่ามีกำลังแตกต่างกันไป อกุศลจิตมีกำลังน้อยกว่าการทำอกุศลกรรม ความเป็นพาลจึงแตกต่างกันไปนั่นเอง ครับ ซึ่งในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของคนพาลไว้ว่า คือ คนที่ล่วงศีลทำอกุศลกรรมเนืองๆ และคนที่มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด กระทำผิด เป็นต้นนี้ คือ ลักษณะของคนพาล ที่สามารถจะเห็นได้ รู้ได้ครับ เพราะฉะนั้น ความเป็นคนพาล ความเป็นปุถุชน จึงมีหลายระดับตามที่กล่าวมาครับ

ทรงเน้นให้เห็นโทษของความเป็นคนพาลอย่างไร

คนพาล ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ จิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลในขณะนั้น ชื่อว่า เป็นคนพาล เพราะ คนไม่มี มีแต่ธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น โทษของความเป็นคนพาล คือ ขณะที่เป็นพาล เป็นอกุศล นำมาซึ่งโทษประการต่างๆ เพราะ อกุศลไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ดี โดยประการทั้งปวง ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งโทษขอความเป็นคนพาล หากเป็นอันธพาล ผู้มืดบอด ไม่สนใจธรรมเลย ทำแต่อกุศลกรรม ชีวิตก็ย่อมตกไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิได้ง่าย และที่สำคัญไม่มีทางพ้นจากการเกิด การตาย และสังสารวัฏฏ์ได้เลย นี่คือ โทษของความเป็นคนพาล คือ อันธพาล ครับ แต่ผู้ที่อบรมปัญญา ศึกษาธรรม ก็มีอกุศลเกิดขึ้นได้ รวมทั้งอาจมีการทำอกุศลกรรมขณะนั้น ชื่อว่าเป็นพาล เพราะเป็นอกุศลธรรม ก็มีโทษต่อตนเอง คือ ปัญญา และ กุศลธรรมไม่เกิดในขณะนั้น ไม่เห็นตามความเป็นจริง และนำมาซึ่งโทษในอนาคต มีการเกิดในอบายภูมิ เพราะการทำอกุศลกรรม ครับ แต่ขณะที่เป็นเพียงอกุศลจิต เช่น ชอบขุ่นเคืองใจ ก็เป็นพาลชั่วขณะจิตนั้น ก็มีโทษ คือ ตกไปสู่ที่ต่ำ หล่นไปจากคุณความดี และปัญญาก็ตกไป ไม่เกิดในขณะนั้น นั่นเองครับ ทรงเน้นให้เห็นโทษของคนพาลครับว่า เมื่อบุคคลเสพคุ้น กับ คนพาล แม้ด้วยใจ คือ ยินดีพอใจในอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยินดีพอใจในความเป็นพาล และ เสพคุ้นกับคนพาลแล้ว เพราะใจตนเอง เป็นพาล คือ เป็นอกุศลในขณะนั้น ก็ทำให้อกุศลเจริญขึ้น มีความเห็นผิด และ อกุศลประการต่างๆ เพราะการเสพคุ้นกับคนพาล เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังเป็นปุถุชน จิตใจก็มักไหลไปสู่ที่ต่ำ เมื่อเสพคุ้นคุ้นกับผู้มากไปด้วยอกุศล คนพาลก็ย่อมแนะนำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ประเสริฐ ก็ทำให้จิตใจของผู้ที่อยู่ใกล้ ก็คล้อยไปตามสิ่งเหล่านั้นได้ง่าย เพราะใจก็น้อมไปง่ายในทางอกุศล ทางกิเลสอยู่แล้ว ต้นมะม่วง ที่ปลูกด้วย ต้นสะเดาล้อมรอบต้นมะม่วง นานวันเข้า แม้ผลมะม่วง ก็ยังขมได้ ดังนั้น แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต ยังเปลี่ยนได้ จะกล่าวไปใยถึงจิตใจของมนุษย์ ที่ไม่มั่นคง ด้วยอำนาจกิเลส ดุจไม้หลักปักอยู่ในเลน ดุจเมล็ดถั่ว ตั้งอยู่บนหลังม้า คนพาล ที่สะสมอกุศลมามาก เราไม่สามารถไปจัดการใจของใคร ไม่ได้เลย สำคัญที่ใจของเรา คือ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน เห็นใจในอกุศลของเขา เพราะอกุศลของเขา กับ ของเราก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น ความเป็นมิตรด้วยกุศลจิต จึงเป็นวิธีปฏิบัติ ที่เหมาะสมกับคนพาลนั้น ด้วยการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ แต่ไม่เสพคุ้น ใกล้ชิด แม้ด้วยใจคือ ยินดีในอกุศลของเขา ครับ ที่สำคัญ เรามักคิดถึงคนพาล ว่าเป็นคนอื่น และ คิดจะทำ ปฏิบัติกับคนพาลภายนอกที่เป็นคนอื่น แต่ในความเป็นจริง พาลก็คือ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ดังนั้น ควรปฏิบัติกับคนพาล คือ ใจของเราที่เป็นพาลอยู่บ่อยๆ ทุกๆ ขณะที่เป็นอกุศลกำลังเกิดขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติที่ละความเป็นพาล เป็นอกุศล คือ การเจริญขึ้นของกุศลธรรม และปัญญา เพราะขณะที่กุศลเกิด ปัญญาเกิด ย่อมละความเป็นพาลในจิตใจ และกำลังปฏิบัติ กับคนพาล อย่างถูกต้องเหมาะสม การศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา จึงเป็นวิธีปฏิบัติ ต่อคนพาล คือ ใจของเราที่เป็นอกุศลได้อย่างถูกต้อง เพราะค่อยๆ ละความเป็นพาลในจิตใจ ได้ทีละน้อย และดับความเห็นผิด ที่เป็นพาล อันสำคัญว่า มีคนพาลจริงๆ จนดับกิเลสประการอื่นๆ ได้หมดสิ้น ละความเป็นพาลได้หมดไปไม่เหลือเลย ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงครับและ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย เข้าใจ  วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย Nacha  วันที่ 14 ต.ค. 2556

บางทีคนที่นับถือวิชาเหล่านั้น เขาอาจฝึกเป็นแค่วิชาการทางโลกค่ะ เพียงแต่ไม่ใช่สมัยนิยม ถ้าย้อนไปหลายพันปีก่อน สิ่งนี้อาจเป็นการเรียนการสอนปกติก็ได้ คุณปู่และคุณตาดิฉันก็ฝึกค่ะ แต่ที่ดิฉันมาสนใจฟังสัทธรรม ก็เพราะท่านทั้ง2 มีการฟังสัทธรรม และแยกเป็นคนละเรื่องกับวิชาการของท่าน ทำให้คิดว่า ไม่ควรไปด่วนตัดสินหรือประมาณในบุคคลอื่นเลย เหมือนกับที่เราหมกมุ่นกับเรื่องการงาน สาขาวิชาการต่างๆ แต่เพราะยุคสมัยทางโลกยกย่อง ทำตามกันเป็นเรื่องปกติ เราก็เลยคิดว่าเป็นกุศล คิดว่าตนไม่ใช่คนพาล แต่จริงๆ ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เป็นคนพาลได้ในขณะที่อกุศลเกิด เป็นความพาลในระดับละเอียด เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรขาดการฟังธรรมและประพฤติธรรมค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย talaykwang  วันที่ 20 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ