๑. ปฐมอาหุเนยยสูตร ว่าด้วยคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นนาบุญ
โดย บ้านธัมมะ  29 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39344

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 516

ฉักกนิบาต

ปฐมปัณณาสก์

อาหุเนยยวรรคที่ ๑

๑. ปฐมอาหุเนยยสูตร

ว่าด้วยคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นนาบุญ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 516

ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

อาหุเนยยวรรคที่ ๑

๑. ปฐมอาหุเนยยสูตร

ว่าด้วยคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นนาบุญ

[๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงด้วยหู... สูดกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส ไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นดีใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

จบปฐมอาหุเนยยสูตรที่ ๑


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 517

มโนรถปูรณี

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต

ปฐมปัณณาสก์

อาหุเนยยวรรคที่ ๑

อรรถกถาปฐมอาหุเนยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอาหุเนยยสูตรที่ ๑ แห่งฉักกนิบาตดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้. บทว่า เนว สุมโน โหติ น ทุมฺมโน ความว่า ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจ ในเพราะอิฏฐารมณ์ ด้วยโสมนัสอันสหรคตด้วยราคะ หรือย่อมเป็นผู้ไม่เสียใจ ในเพราะอนิฏฐารมณ์ ด้วยโทมนัสอันสหรคตด้วยโทสะ. บทว่า อุเปกฺขโก วิหรติ สโต สมฺปชาโน ความว่า ไม่ถึงความเป็นผู้วางเฉย ด้วยอุเบกขาที่ไม่มีญาณ โดยไม่พิจารณา ในมัชฌัตตารมณ์ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ มีใจเป็นกลางอยู่ในอารมณ์. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิจ ของพระขีณาสพไว้แล้ว.

จบอรรถกถา ปฐมอาหุเนยยสูตรที่ ๑