การเจริญสติปัฏฐานเป็นปรกติในชีวิตประจำวันต้องมีเหตุและปัจจัยอะไร ในเมื่อจะทำ จะปฏิบัติ จะระลึกก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้ามีความตั้งใจที่จะทำ จะระลึกหรือจะปฏิบัติ นั่นคือตัวตนเกิดขึ้นมาทันที พยายามสร้างเหตุให้ตรงกับผล ช่วยอธิบายเหตุให้ผมเข้าใจมากขึ้นด้วยครับ
สติปัฏฐานเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งด้วยการอบรมไม่ใช่ไปทำขึ้น ปัจจัยก็คือ การฟัง การสนทนา การศึกษา การสำเหนียก สังเกต และการใคร่ควรซึ่งธรรม เมื่อความเข้าใจมากขึ้นสติและสัมปชัญญะย่อมเกิดขึ้นทำกิจ
สังขารขันธ์ คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ เกี่ยวกับสติปัฏฐานยังไงครับไม่เข้าใจ ผมเข้าใจว่าสติปัฏฐาน คือการรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อนแข็ง (ตึงและไหว ไม่เข้าใจ) ความรู้สึกทางใจ ความคิด ไม่ใช่เข้าใจ หรือรู้ถึงสิ่งที่กล่าวมาในรูปของสมมติบัญญัติ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ใช่หรือเปล่าครับ
สังขารขันธ์ คือ การปรุงแต่งโดยสภาพธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๐ เช่น เจตนา ศรัทธา สติ วิริยะปัญญา เมตตา (อโทสะ) ขันติ หิริ โอตตตัปปะ กรุณา โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เรียกว่า สังขารขันธ์
ส่วนความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นเวทนาขันธ์ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการอบรมสังขารขันธ์ฝ่ายดี คือการอบรมศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น ให้ธรรมฝ่ายดีเหล่านี้มีมากขึ้น มีกำลังเป็นพละ เป็นอินทรีย์เพื่อปะหานอกุศลธรรมทั้งหลายให้ค่อยๆ หมดไป อารมณ์ของสติปัฏฐานเป็นปรมัตถธรรม ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
ขออนุโมทนาครับ