รบกวนอธิบาย อภิชฌา ในอกุศลกรรมบถครับ
โดย chalit.tu  13 มิ.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 31941

กระผมมีความสงสัยในอกุศลกรรมบถ ข้อที่ว่า ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นครับ หรือ อภิชฌา ท่านกล่าวว่าองค์ประกอบของอภิชฌามี 2 คือ

1. ปรภณฺฑํ ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น

2. อตฺตโน ปริณามนํ มีจิตคิดให้เป็นของตน

ในกรณีแบบนี้ถ้าหากเราไปอยากได้ของๆ ผู้อื่น เช่น อาหาร ขนม รถ บ้าน ที่ดิน แต่ว่าเราไม่ได้คิดจะขโมยมา มีเพียงอยากขอซื้อ หรือขอ หรืออะไรก็ตามที่ถูกต้อง

แบบนี้จะจัดว่าเราล่วงอกุศลกรรมบถไหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงอยู่เพียงใจ คิดไปเถอะค่ะทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่นอยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกไปอยากจะได้ของของเขา จะเป็นการได้ของบุคคลอื่นมาได้อย่างไร นั่งคิดไปๆ ไม่มีวันที่ของคนอื่นจะมาเป็นของท่านได้สำหรับผู้ที่คิดอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรม มี เป็นแต่เพียงกายกรรม เช่น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจจะเป็นของที่ไม่ทราบว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน และก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย และไม่ได้คิดมาก่อนด้วยว่า ต้องการของสิ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปเห็นเข้า เช่น ดอกไม้ในสวน หรืออะไรก็ตามแต่ ของในป่าหรืออะไรอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าต้องการของสิ่งนั้น แล้วก็เด็ดไปถือไปจะเป็นผลไม้ หรือดอกไม้ก็ตาม ถ้ามีผลไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น เมื่อมีความอยากได้ ก็เก็บเอาไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓ ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรมโดยคิดอยู่ในใจเฉยๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกายทางวาจานั้นไม่สามารถจะสำเร็จลงไปได้ แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม โดยที่ว่ามโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน จึงจัดเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น แล้วก็จ้างคนอื่นไปฆ่าคนนั้น ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริงแต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม ไม่ใช่เพียงกายกรรม แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่เลยเกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่าต้องการที่จะฆ่าคนนั้น แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว หรืออะไรก็ตามแต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้นๆ เป็นกายกรรม หรือว่า เป็นมโนกรรม

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย Witt  วันที่ 13 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 13 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความติดข้องยินดีพอใจ ก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้น ใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ สิ่งใดที่เราอยากได้ ติดข้อง เราไม่ได้ไปขโมยมา แต่ได้ขอ หรือ ซื้อ นั่น ย่อมไม่ใช่อกุศลกรรมบถใดๆ เลย ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย ประสาน  วันที่ 13 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 14 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ