อยากทราบความหมายคำว่า ยำเกรง ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงคำนี้ว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องละอียดลึกซึ้ง เพราะเป็นเรื่องสัจจะ ความจริง เพราะ แม้แต่คำว่ายำเกรงก็ละเอียดลึกซึ้ง เพราะเป็นเรื่องของนามธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก ที่ไม่สามารถมองเห็นเพียงด้วยตาเท่านั้น ความยำเกรงจึงไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นในจิตใจ
ความละเอียดของความยำเกรงมีหลากหลายนัยดังนี้ครับ
๑. ความยำเกรง คือ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน
ความยำเกรง คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่ดี อันหมายถึง ความอ่อนน้อมด้วยจิตที่เป็นกุศล ซึ่ง เมื่อมีความยำเกรงเกิดขึ้นในจิตใจ การกระทำทางกาย วาจาก็เป็นไปในทางที่ดี อันเกิดจากความยำเกรง ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ ประการหนึ่ง คือ อปจายนะ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน กาย วาจาก็เป็นไปในความยำเกรง คือ ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ต่อผู้มีพระคุณและอ่อนน้อมกับบุคคลที่ควรบูชา มีการไหว้ ลุกรับ และหลีกทางให้ เป็นต้น ซึ่งความยำเกรงก็จะมาคู่กับความเคารพ
ดังนั้น ความยำเกรง ความหมายที่ ๑ คือ ความประพฤติอ่อนน้อม ถ่อมตนด้วยกุศลจิต
แต่ที่สำคัญ ความยำเกรงในภาษาไทย หรือ อาจจะเข้าใจว่า ความยำเกรง คือ ความเกรงกลัว ซึ่งขณะจิตนั้น เป็นโทสะ ไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่ใช่ ความยำเกรง ที่เป็นกุศลจิต การแสดงกิริยาภายนอก จึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นความยำเกรง ความอ่อนน้อม ถ่อมตนหรือไม่ เพราะ กิริยาอาการเหมือนกัน เช่น แสดงความอ่อนน้อม แต่ขณะนั้นด้วยจิตที่เกรงกลัว เช่น กับผู้มีอำนาจ ก็ทำกิริยาอ่อนน้อม ทำความยำเกรง นี่ด้วยอกุศลจิตที่เป็นโทสะ หรือทำความอ่อนน้อม ยำเกรงด้วย ทำให้ดูเป็นผู้อ่อนน้อมยำเกรง อันนี้ก็ด้วยอกุศลจิตที่เป็นโลภะ มีความปรารถนาลามก เป็นต้น ดังนั้น สำคัญที่สภาพจิตเป็นสำคัญ ในความยำเกรง คือ ด้วยจิตที่อ่อนน้อม นอบน้อม ครับ
[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 674
บทว่า สปฺปติสฺโส ได้แก่ มีความยำเกรง คือมีความสงบเสงี่ยมเพราะมีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ในบุคคลที่อยู่ในฐานะเป็นครู
ชื่อว่า สัปปติสสะ เพราะอรรถว่า เป็นไปกับด้วยความยำเกรง.
๒. ความยำเกรง หมายถึง ควรบูชา
ความยำเกรงด้วยกุศลจิต ย่อมทำให้คิดถูกด้วยความแยบคาย อันเกิดความยำเกรงในที่ที่ควรยำเกรง ดังนั้น ความยำเกรง หมายถึง การกระทำด้วยการบูชา คือ บูชาคุณความดี ดังนั้น พระพุทธเจ้า ควรเคารพ ยำเกรงพระธรรม ควรเคารพ ยำเกรงพระสงฆ์ ควรเคารพ ยำเกรง พระเจดีย์ ก็ชื่อว่าเป็นสถานที่ควรเคารพ ยำเกรง รวมทั้งเพื่อนผู้เป็นกัลยาณมิตร ก็ควรเคารพ ยำเกรง คือ ควรบูชาในคุณความดีของพระรัตนตรัย และ บูชาในคุณความดี ของผู้ที่ประพฤติธรรม ครับ
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 297
เจดีย์
ชื่อว่า อารามเจดีย์ เพราะว่าสถานที่เหล่านั้นเรียกว่าเจดีย์ เพราะหมายความว่า เป็นที่ยำเกรง อธิบายว่า เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่ที่บุคคลพึงบูชา.
๓. ความยำเกรง คือ ความเป็นผู้รับคำ น้อมปฏิบัติตาม ชื่อ ว่าความยำเกรง
ความยำเกรง ด้วยกุศลจิต ต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ต่อ ครูอาจารย์ และต่อพระพุทธ พระธรรม เมื่อได้ฟัง หรือ ได้รับโอวาท สั่งสอน ก็ย่อมน้อมประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้อง ตามโอวาทของครู อาจารย์ เป็นต้น เพราะมีความเคารพ ยำเกรง เป็นสำคัญ รวมทั้ง การได้ฟังพระธรรม ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม การรับคำ น้อมประพฤติปฏิบัติ ก็ชื่อว่า ยำเกรงในพระธรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ไม่น้อมปฏิบัติตาม ไม่ทำตามโอวาท พร่ำสอนของครูอาจารย์ในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้นั้นก็ชื่อว่า ไม่ยำเกรง ครับ
[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 307
ความยำเกรง ชื่อว่า ปติสฺสโย ความว่า ไม่นอน ไม่นั่ง เพราะทำความเคารพผู้อื่น
อีกอย่างหนึ่ง การรับคำ ชื่อว่าปติสฺสโว ความว่า ฟังคำผู้อื่นเพราะประพฤติถ่อมตน.
แม้ในสองบทนี้ เป็นชื่อของความที่ผู้อื่นเป็นผู้ใหญ่
ชื่อ สคารว เพราะเป็นไปกับด้วยความเคารพ
ชื่อว่า สปฺปติสฺสย เพราะเป็นไปกับด้วยความยำเกรงหรือการรับคำ.
๔. ความยำเกรง หมายถึง การเคารพคุณความดี คุณธรรม
ความยำเกรง หากได้อ่านเนื้อหาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้มุ่งหมายถึง ตัวบุคคลเท่านั้นที่ควรเคารพ ยำเกรง แม้แต่คุณความดี ก็ควรเคารพ ยำเกรง เพราะเป็นสิ่งที่ควรเคารพ เพราะเป็นธรรมฝ่ายดี แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ทรงเคารพ ยำเกรง พระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระอริยสาวกเป็นต้น ก็เคารพ ยำเกรง คุณความดี ที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีต่างๆ รวมทั้ง แม้แต่การให้ทาน การเคารพ ยำเกรงในการให้ ก็มีอีกเช่นกัน เพราะการให้ก็มีหลายระดับตามระดับความประณีตของกุศล ผู้ที่มีความเคารพ ยำเกรงในการให้ ย่อมให้ด้วยมือของตน ทำอาหารที่สะอาด ประณีต และให้บุคคลที่มีคุณธรรม เป็นต้น นี่ชื่อว่า เคารพยำเกรงในการให้ ครับ และ อีกประการหนึ่ง การเคารพ ยำเกรงในสิกขา คือ ในศีล สมาธิ ปัญญาที่เป็นไตรสิกขา อันเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้หลุดพ้น ก็ประพฤติธรรมคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยความเคารพ ยำเกรง ที่จะเป็นผู้ตรงและน้อมประพฤติทางสายตรงนั้น ครับ
จะเห็นนะครับว่า ความเคารพ ยำเกรง เป็นคุณธรรมมที่ดี ที่สามารถเคารพแม้แต่ตัวบุคคลที่มีคุณความดี และ เคารพ ยำเกรง คุณความดีที่ไม่มีสัตว์ บุคคลมาเกี่ยวข้องก็ได้ ครับ
สรุปได้ว่า ความยำเกรง เป็นสภาพธรรมที่ดี ที่เป็นกุศลจิต ที่เป็นความอ่อมน้อม ถ่อมตน และการบูชาในสิ่งที่สมควร รวมทั้งการน้อมประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้อง และเคารพ ยำเกรงในคุณธรรม ความดีประการต่างๆ ซึ่ง ความยำเกรงจะมีได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมรู้ว่าอะไร ควรหรือไม่ควร รู้ว่าควรเคารพ บูชา ยำเกรงในสิ่งที่ดี เป็นต้น ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
ขออนุโมทนา
ยำเกรง คือ ความเคารพ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่น ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าถามนันทะ ในวันที่นันทะจะแต่งงาน ว่าจะบวชไหม นันทะตอบด้วยความยำเกรง เคารพในพระพุทธเจ้า ก็ตอบว่าบวช ภายหลังท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน โดยใช้คำหรือพยัญชนะเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่ากำลังกล่าวถึงอะไร แม้แต่คำว่า ยำเกรง ก็เช่นเดียวกัน มีหลายอรรถ แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากจิตและเจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความอ่อนน้อม ถ่อมตน ควรบูชา น้อมรับคำแล้วน้อมประพฤติตาม และ การเคารพคุณความดี คุณธรรม แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดีในชีวิตประจำวัน เป็นการขจัดซึ่งความหยาบกระด้างแห่งจิต ขัดเกลาความสำคัญตน ถือตน สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ความยำเกรงไม่ใช่ดูที่กิริยาอาการภายนอกเท่านั้น แต่ขณะนั้นต้องเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ซึ่งไม่มีใครสามารถทราบได้นอกจากตนเองเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความประพฤติที่ดีงาม เป็นคนดี ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน และที่จะเป็นคนดียิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นนั่นเอง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงามในชีวิตประจำวัน คล้อยตามความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ความประพฤติที่เป็นไปในชีวิตประำจำวัน ก็ส่องให้เห็นว่าผู้นั้นมีความเข้าใจพระธรรมมากแค่ไหน ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณมากค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ข้อความต่อจากความเห็นที่ 5
เจ้าชายนันทะ มีน้องสาวชื่อนันทา เป็นน้องต่างมารดาของพระพุทธเจ้า พระศาสดามีความประสงค์ที่จะขจัดความไม่ยินดีที่จะบวชของเจ้าชายนันทะ ที่กำลังจะแต่งงานและถูกเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีขอร้องให้กลับมา พระศาสดาจึงถามว่า นันทะเธอจะบวชได้หรือไม่ บวชได้พระเจ้าข้า เป็นคำตอบ พระศาสดาเมื่อจะทำลายราคะของพระนันทะ ด้วยอนุภาพ จึงให้ดูนางเทพอัปสร ผู้มีเท้าเหมือนนกพิราบ แล้วแสดง กุลณาชาดก ทำลายราคะของพระนันทะ ผลสุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนนางนันทาเห็นว่า ญาติทุกคนบวชหมด นางก็ขอบวชมั่ง แต่นางเป็นคนที่มีรูปสวยและหลงในรูปของตนเอง พระศาสดาจึงเนรมิตกุลสตรีแรกรุ่นอายุราว ๑๖ สวยมากกว่านางอีก ถวายงานพัดอยู่ นางมีความรู้สึกว่าเป็นการยืนอยู่หน้าหงส์ทอง พระศาสดา จึงให้ร่างนั้นทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนเป็นวัยกลางคน วัยชรา ถูกพยาธิครอบงำ ทิ้งพัดใบตาล ล้มกลิ้งจมกองมูตร ถึงมรณะ นางบังเกิด อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา และอนัตตสัญญา ได้บรรลุเป็นพระอรหัตในที่สุด พระศาสดาจึงตรัสคาถาว่า นันทา เธอจงดูกายอันไม่สะอาดเปื่อยเน่านี้ สรีระของหญิงนั้น ฉันใด สรีระของเธอ ก็ฉันนั้น เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ จงคลี่คลายความพอใจในภพเสีย เธอจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ธรรมะที่เป็นความยำเกรงย่อมมีในเจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงนันทา
สาธุอนุโมทนาครับ