ทุกข์ คืออะไร ความหมายของคำว่าทุกข์ คืออย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทุกข์ ที่เป็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลากหลายนัย ครับ ทั้งที่เป็นทุกข์ ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และ ดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่เป็นทุกขอริยสัจจะ และทุกข์ ที่เป็นโดยสมมติ คือ ทุกข์ ที่เป็น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นทุกข์เช่นกัน
ซึ่งขออธิบายทุกข์ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงดังนี้ ครับ
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 241
ทุกข์ มีการเบียดเบียน ปรุงแต่ง เผา แปรปรวน เป็นอรรถ สมุทัย มีการขวนขวายเป็นเหตุ พัวพัน ห่วงใยเป็นอรรถ นิโรธ เป็นเครื่องสลัดออก สงัดจากกิเลส ไม่ปรุงแต่งอมตะเป็นอรรถ มรรค นำออกไป เป็นเหตุ เป็นทัสสนะเป็นอธิบดีเป็นอรรถดังนี้.
-------------------------------------------------------------------------------------
ซึ่งจากข้อความที่ท่านผู้ถามยกมานั้น ไม่ใช่เป็นกิจหน้าที่ครับ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ว่ามีลักษณะ ความหมายอย่างไร เช่น ทุกขอริยสัจจะ มีลักษณะ เบียดเบียน ปัจจัยประชุมปรุงแต่ง เร่าร้อน และแปรปรวน
ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เกิดขึ้นและดับไป ทนได้ยาก อันได้แก่ จิต เจตสิก และรูป
ทุกข์ มีลักษณะ เบียดเบียน คือ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไป อาศัยชาติคือ การเกิด จึงทำให้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถูกเบียดเบียนด้วยชาติการเกิด เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไป ธรรมชาติของทุกข์ จึงเป็นสภาพธรรมที่เบียดเบียนอันเกิดจากการเกิดขึ้นและดับไป ทนอยู่ไมได้ครับ
ปัจจัยประชุมปรุงแต่ง สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นทุกขอริยสัจจะ คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ประชุมปรุงแต่งจึงจะเกิดขึ้นได้ เช่น จิตจะเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยจิตเกิดร่วมด้วย แม้รูปใดรูปหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ดังนั้นทุกขอริยสัจจะ ที่เป็นจิต เจตสิกและรูปที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยคือสภาพธรรมอื่นๆ ประชุมปรุงแต่งครับ
ทุกขอริยสัจจะ คือ ความเร่าร้อน ทุกข์คือสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งในพระไตรปิฎก อธิบายถึงความเร่าร้อนที่เป็นทุกข์ไว้ว่า ความป่วยทางกายที่เจ็บไข้ ก็เป็นความเร่าร้อนที่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจะ และรวมทั้ง กิเลสที่เกิดขึ้น ที่เป็นโลภะ โทสะและโมหะ ก็เป็นเครื่องเร่าร้อนทางจิตที่เป็นทุกขอริยสัจจะด้วยครับ (ปฏิจฉันนทุกข์) และแม้รูปที่เป็นทุกขอริยสัจจะ ก็เป็นสภาพธรรมที่เร่าร้อน เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไปนั่นเองครับ ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ว่า จักษุ (ตา) เป็นของร้อน โสต (หู) เป็นของร้อน เป็นต้นครับ
ทุกขอริยสัจจะ หมายถึง สภาพธรรมที่แปรปรวน เพราะอาศัยการเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนาก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะมีความแปรปรวนไปเป็นเป็นธรรมดา ทุกข์ที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาเรียกว่า (วิปริณามทุกข์)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าทุกข์นี้มีประการต่างๆ เป็นอเนก คือ
ทุกขทุกข์ (ทุกข์เพราะทนได้ยาก)
วิปริณามทุกข์ (ทุกข์เพราะเปลี่ยนแปลง)
สังขารทุกข์ (ทุกข์ของสังขาร)
ปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์ปกปิด)
อัปปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์เปิดเผย)
ปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยอ้อม)
นิปปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยตรง) .
ทุกขทุกข์ คือ ทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิต ชื่อว่า เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะทั้งโดยชื่อ.
วิปริณามทุกข์ คือ สุขเวทนา เพราะเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ โดยการเปลี่ยนแปลง.
สังขารทุกข์ คือ อุเบกขาเวทนา และสังขารทั้งหลายที่เหลือเป็นไปในภูมิ ๓ เพราะถูกความเกิดและดับบีบคั้น ก็ความบีบคั้น (ด้วยความเกิดและดับ) ย่อมมีแม้แก่มรรคและผลทั้งหลายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า สังขารทุกข์ ด้วยอรรถว่า นับเนื่องด้วยทุกขสัจจะ.
ปฏิจฉันนทุกข์ คือ ป่วยไข้ทางกายและจิตมีปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดแต่ราคะ ความเร่าร้อนเกิดแต่โทสะเป็นต้น เพราะต้องถามจึงรู้และเพราะก้าวเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏ ท่านเรียกว่า ทุกข์ไม่ปรากฏดังนี้บ้าง
อัปปฏิจฉันนทุกข์ ความป่วยไข้มีการถูกลงกรรมกรณ์ ๓๒ เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน ชื่อเพราะไม่ถามก็รู้ได้ และเพราะเข้าถึงแล้วก็ปรากฏ
นิปปริยายทุกข์. คือ ทุกขทุกข์
เว้นทุกขทุกข์ที่เหลือ ชื่อว่า ปริยายทุกข์ เพราะเป็นวัตถุ (ที่อาศัยเกิด) แห่งทุกข์นั้นๆ .
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดงนั้นเป็นความจริง เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งพิสูจน์ได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะที่กุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิด ... ทั้งหมดเป็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง
ทรงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ
สิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เป็นทุกขสัจจ์ เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ จะต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้
สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด จึงเกิดขึ้น (จิต เจตสิก รูป) เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้นนั่นแหละ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ตั้งอยู่นาน เมื่อไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงไม่ใช่ตัวตน คือ เป็นอนัตตา (เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร)
สิ่งที่มีจริงทั้งหมด จึงควรที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อมิให้เข้าใจผิดไปหลงยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ
อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) เป็นลักษณะ ๓ ที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมด ที่ว่าเป็นทุกข์นั้น หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปจึงเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่า ทุกขลักษณะนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะทุกขเวทนา ความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น แต่หมายความถึงแม้สุขเวทนา แม้อุเบกขาเวทนา แม้ได้เห็น แม้ได้ยิน แม้สี แม้เสียง แม้กลิ่น แม้รส แม้โผฏฐัพพะ แม้นามรูปใดๆ ทั้งปวงที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง ดับไป แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น แล้วก็ดับไป
อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๙
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นธรรมที่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ปราศจากความเที่ยง ปราศจากความงาม และ ปราศจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เลยที่เป็นทุกข์ เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับอยู่ตลอด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น และไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ได้เลย
เมื่อกล่าวถึงทุกข์ แล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) หรือ ที่จำแนกเป็นปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต (วิญญาณขันธ์) เจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) รูป (รูปทั้งหมด ๒๘ รูป) เท่านั้น ที่เป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แม้เกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศก เป็นทุกข์ ก็ต้องมีความเข้าใจว่า เพราะ มี ธรรมที่มีจริงๆ นั่นเอง ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
นี้ทุกข์ ท่านมีความเห็นอย่างไร?
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ