ดิฉันขออภัยหากหัวข้อสนทนาธรรมนี้จะตื้นเขินเกินไปหรืออาจจะมีการอภิปรายกันไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากดิฉันไม่ได้อ่านประจำ ขออนุญาตถาม หากเคยมีการตอบไปแล้ว รบกวนผู้รู้ส่งลิงค์ให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ
ดิฉันเคยได้รู้มาว่าการเกิด-ดับของจิตเกิดขึ้นเอง มีธรรมชาติที่เราบังคับให้เป็นไปตามใจเราไม่ได้ ดิฉันเคยสังเกตุจิตตัวเอง ก็มีประสบการณ์เช่นนั้นอยู่บ้าง แต่ดิฉันสงสัยว่า แล้วกรณีการนั่งสมาธิ (สมถภาวนา) ที่กำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวตลอดเวลานั้น จะอธิบายอย่างไรคะ ทำไมบางคนจึงบังคับจิตให้แน่วแน่แบบนั้นได้ (ซึ่งดิฉันทำไม่ได้เลยค่ะ แต่ดิฉันทำวิปัสนาได้บ้าง คือต้องเคลื่อนที่จิตค่ะ) หรือ กรณีการจดจ่อทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ พยายามคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แบบนี้เป็นการบังคับบัญชาจิตหรือไม่คะ ขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ (อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้) จิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ทุกขณะของชีวิตไม่เคยขาดจิตเลย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นลำดับด้วยดี ตามความเป็นไปของจิต จึงไม่มีใครที่จะไปบังคับจิตได้เลย เพราะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ทั้งจิต เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
แม้แต่ในประเด็นคำถาม ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของธรรมเลย แต่เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล เพราะเป็นความอยากความต้องการ จดจ้อง ถ้าไม่มีเหตุให้กระทำอย่างนั้น จะกระทำอย่างนั้นได้ไหม ประการที่สำคัญที่ควรจะได้พิจารณาคือ การนั่งสมาธิ ตลอดจนถึงการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความไม่รู้ จะเรียกอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นได้เลย มีแต่จะทำให้อกุศล ความติดข้องต้องการ ความเห็นผิด ความไม่รู้ เกิดพอกพูนหนาแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องกลับมาตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมาย นับประมาณไม่ได้ และพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็ดำรงสืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ แล้วเราจะไม่ฟังจะไม่ศึกษาได้อย่างไร เพราะการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมนี้แหละ คือ เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ไม่ใช่การไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ ทำไปด้วยความไม่รู้ ผล ก็คือ ไม่รู้ ครับ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
ขออภัยค่ะ ที่ต้องกราบเรียนว่า การตอบนี้ไม่ช่วยให้เข้าใจเพิ่มขึ้นเลยค่ะ
ดิฉันทราบดีว่าตนเองมีปัญญาน้อย จึงพยายามหาทางเพิ่มพูนปัญญาด้วยการอ่าน ถาม คิด และปฏิบัติ ไม่ได้อยู่เฉยๆ หรือคาดเดาเอาเอง อยากได้คำตอบสำหรับคนมีปัญญาน้อยได้ริเริ่มเพื่อไปต่อยอดก็ยังดีค่ะ
แต่หากคิดว่าปัญญาขนาดนี้ น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง ที่จะอธิบาย ก็จะยอมรับทราบค่ะ
ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ
พระธรรม เป็นเรื่องที่ยากมาก ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจจริงๆ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง พระพุทธพจน์ที่เป็นหลักสำคัญ คือ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นได้เลย เพราะทั้งหมดล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เช่น เห็น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็น และมีกรรมเป็นเหตุให้จิตเห็น เกิดขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ
ก็ขอให้คุณ ckannikar ได้พิจารณาไตร่ตรองอีกทีด้วยครับ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
ผมอ่านกระทู้ของคุณ ckannikar แล้วก็มีข้อสงสัยเช่นกันครับเรื่องการเกิดดับของจิตกับสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อได้อ่านคำตอบของอาจารย์คำปั่นแล้วก็ไม่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลยครับ กลับทำให้รู้สึกว่าตัวเองโง่ มีปัญญาน้อย
ผมทราบดีว่าพระธรรมเป็นเรื่องยาก ลึกซึ้งละเอียดอ่อน ที่ผมเข้ามาอ่านกระทู้นี้ก็เพื่อศึกษาและเข้าใจธรรมะ เพราะการอ่านและการฟังเป็นขั้นตอนแรกของการศึกษาธรรมะมิใช่หรือครับ
ผมอ่านกระดานสนทนาธรรมของ มศพ. มาร่วมร้อยกระทู้แล้ว ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่าผมพบคำตอบที่ไม่ตรงคำถามแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง มันทำให้ผู้อ่านที่มีปัญญาน้อยอยู่แล้วยิ่งรู้สึกโง่มากขึ้นไปอีก ฤาเป็นกติกาของ มศพ. ที่ต้องตอบเชิงทฤษฎีเพื่อปกป้องคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ผิดเพี้ยน จึงไม่เลือกตอบอย่างที่เข้าใจง่ายๆ แบบพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านอื่น?
เช่นนี้แล้ว ผู้ถามและผู้อ่านก็ไม่เกิดความรู้ใดๆ ธรรมทานก็ไม่ได้เกิดขึ้นหนำซ้ำผู้อ่านบางท่าน (ที่อาจารย์ทำให้เขารู้สึกโง่) อาจเปลี่ยนความคิดว่าพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นยากเกินเรียน จึงล้มเลิกความตัังใจ เช่นนี้แล้วภารกิจของ มศพ. ที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็จะฝ่อไปนะครับ
เรียนความคิดเห็นที่ ๔ ครับ
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๒๐
ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา คือ ศึกษาพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว ก็เผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ครับ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
ดิฉันขอถามคำถามใหม่นะคะ เผื่อว่าคำถามของดิฉันอาจไม่ดีพอที่จะทำให้ได้คำตอบแบบ'หงายของที่คว่ำ'
ดิฉันเคยอ่านเจอคำสอนของพระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า การคิดมีแค่2แบบ คือ เผลอคิด กับตั้งใจคิด
ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าพระอาจารย์ท่านนั้นคงตกผลึกในธรรมด้านนี้มาแล้ว จึงพูดได้แบบง่ายๆ และเราก็เห็นว่าจริง
ดิฉันจึงขอเรียนถามท่านอ.คำปันใหม่ว่า
1.การคิดประกอบด้วยธรรมอะไรบ้างคะ (เข้าใจว่าต้องมี สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยแน่นอน จริงไหมคะ)
2.การตั้งใจคิดกับการเผลอคิดมีส่วนประกอบของธรรมอะไรที่แตกต่างกันคะ
ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
เรียนความคิดเห็นที่ ๖ ครับ
ตั้งต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นจากธรรมเลย มีธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่เคยว่างเว้นจากธรรมเลย เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สำหรับในประเด็นคำถาม ก็พิจารณาได้ดังนี้
1. การคิดประกอบด้วยธรรมอะไรบ้างคะ (เข้าใจว่าต้องมี สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยแน่นอน จริงไหมคะ)
การคิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมได้แก่จิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นไปทางใจ เพราะตามปกติแล้ว จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทาง ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด แล้วต่อด้วยวิถีจิตทางใจ โดยมีภวังคจิตคั่น นี้คือความเป็นจริงของธรรม หรือ แม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ถูกต้องกระทบสัมผัส ก็คิดนึกได้ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็นเคยได้ยิน เป็นต้น สภาพธรรมที่คิด มีจริง เรื่องที่คิดไม่มีจริง ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชา ไม่ให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ดังนั้น ในขณะที่คิด ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็น จิต (วิญญาณ) และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จำแนกเป็น สัญญา เวทนา และสังขารขันธ์ เช่น วิตักกเจตสิก ที่ตรึกหรือจรดในเรื่องที่คิด เป็นต้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น
2.การตั้งใจคิดกับการเผลอคิดมีส่วนประกอบของธรรมอะไรที่แตกต่างกันคะ
จริงๆ แล้ว ในขณะที่คิด ก็ต้องมีเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ เกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว ปรุงแต่งให้จิตคิดนึกไปในทางที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เคยมีไหมที่ตั้งใจที่จะคิดดี ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น คิดไตร่ตรองในเหตุในผลตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น นั่นคือ ตัวอย่างของขณะที่คิดดี ในทางตรงกันข้าม ขณะที่คิดไม่ดีต่อผู้อื่น มุ่งร้ายต่อผู้อื่น หรือ แม้กระทั่งคิดอยากได้ของของผู้อื่น เป็นต้น นั่นก็เป็นการคิดที่ไม่ดี เจตนา ก็ปรุงแต่งไปในทางที่ไม่ดี สำหรับประเด็น "เผลอคิด" นั่นก็ต้องเป็นความคิดนั่นเองที่เกิดขึ้น ที่เผลอ ก็คือ ไม่รู้ แต่ก็คิดไปแล้ว ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานา เพราะใช้คำว่า เผลอ ก็ต้องไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน
ประมวลความเป็นจริงของ "คิด" แล้ว ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ จิต (วิญญาณ) และ เจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น กล่าวคือ สัญญา เวทนา และ สังขารขันธ์ ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ ถ้าคิดดี ก็มีเจตสิกฝ่ายดี เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น แต่ถ้าคิดไม่ดี ตลอดจนถึงเผลอคิดไป ก็ต้องมีอกุศลเจตสิก เกิดร่วมด้วย มี ความไม่รู้ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ความไม่สงบ เป็นต้น ครับ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบอนุโมทนาครับ