จริงๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกัน แต่อีกคนทำกิริยาที่ไม่ให้เกียรติเรา ซึ่งเราให้เกียรติเธอตลอด ทั้งๆ ที่เธอเป็นฝ่ายผิด เราก็ให้อภัยตลอด จนมาครั้งนี้ รู้สึกว่าจะแย่กว่าทุกครั้งทำให้เรารู้สึกโกรธและไม่อยากยุ่งด้วย และเธอก็ขอโทษแล้ว แม้ว่าเธอจะสำนึกแล้วเราก็ยังรู้สึกไม่อยากยุ่งด้วย เพราะหลายครั้งที่เราให้อภัย ก็ไม่รู้จักแก้นิสัยโกรธง่ายและไม่ค่อยใช้สติ ในการกระทำของเธอ (แค่นี้เธอก็ร้อนรนแล้ว โทรมาหาเราบ่อยมากเราไม่รับสาย เลยคิดว่าเธอคงจะกระวนกระวายใจไม่เป็นสุขแน่ๆ ) แต่พอมาคิดทบทวนแล้วคิดว่าเราควรจะให้อภัยเธอ และคิดว่าอย่ายึดติด ควรปล่อยวาง เพราะตัวเราไม่มีอยู่ที่จิตใจ อยากถามว่าการให้อภัยถือว่าเราใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่
การให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเขาเป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้หลายบุคคลสบายใจ มีความสุข และตัวเราก็สบายใจ คือเป็นการแก้ปัญหาระดับหนึ่งแต่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากอกุศลที่มีอวิชชาเป็นมูล ถ้าดับอวิชชาได้ด้วยอรหัต-ตมรรคญาณ ปัญหาทุกอย่างจะไม่มีไม่เกิดขึ้นอีกเลยเมื่อท่านปรินิพพาน
ก่อนอื่นจะต้องเห็นโทษของความผูกโกรธ ว่าไม่มีประโยชน์ เป็นอกุศล และมีความเห็นใจต่อบุคคลนั้นจริงๆ เพราะผู้นั้นได้สร้างเหตุที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นผลที่ดีย่อมมีไม่ได้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ความโกรธย่อมละคลายเบาบางลง ความเมตตาต่อบุคคลนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น จนสามารถให้อภัยต่อบุคคลนั้นได้ ควรระลึกถึงกัมมสกตาของตนและของผู้อื่นว่า " ท่านโกรธแล้วจะทำอะไรเขาได้ จักอาจเพื่อยังคุณอันมีศีลเป็นต้น ของเขาให้พินาศไปได้หรือ เขามาด้วยกรรมของเขา เขาก็จักไปด้วยกรรมของเขานั่นแหละ มิใช่หรือ? "
เชิญคลิกอ่าน....ว่าด้วยละความโกรธได้เป็นอนาคามี[โกธสูตร]
ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่มีความให้อภัยกันครับ การที่เราเกิดมา อยู่ร่วมกันในชาตินี้ ก็จะพบกันด้วยชื่อนี้ บุคคลนี้ หน้าตาแบบนี้ เพียงชาติเดียวเท่านั้นครับเมื่อตายจากกันไปก็จะไม่ได้พบในชื่อนี้รูปร่างหน้าตาอย่างนี้อีก ดังนั้นประโยชน์อะไรที่จะต้องโกรธกันอยู่ ควรจะให้อภัยกัน และทำประโยชน์ให้กันจะดีกว่า คิดเสียว่าจะเจอกันเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต จึงควรมีเมตตาและให้อภัยกันครับ
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เชิญคลิกอ่าน...
ว่าด้วยรู้ตัวว่าผิดแล้วสารภาพผิด[กัสสปมันทิยชาดก]
คำถามดีจริงๆ น่าจะตรงกับชีวิตประจำวัน....อ่านแล้วเกิดประโยชน์...ขออนุโมทนาคะ