ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก
โดย สารธรรม  11 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43788

ในเรื่องของลาภปลิโพธยังมีในพระสูตร ที่คิดว่าจะทำให้อุปการะแก่ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้

ขุททกนิกายเถรคาถา อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถรคาถา

สำหรับท่านพระมหากัจจายนะ นี่ก็คงจะทราบแล้วว่า ท่านเป็นพระภิกษุผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร ข้อความในมหากัจจายนเถรคาถา มีว่า

ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวนขวายเพื่อปัจจัยให้เกิด เพราะภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย เพื่อปัจจัยให้เกิด และชื่อว่าละทิ้งประโยชน์ อันจะนำสุขมาให้ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวการไหว้ การบูชาในสกุลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คนเราย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลาย ก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ก็พวกคนอื่นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า พวกเราที่สมาคมนี้จะพากันยุบยับในหมู่ชน พวกนั้นพวกใด มารู้สึกตัวว่า พวกเราจักพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไป เพราะพวกนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวง ที่ได้เห็น ได้ฟังมาแล้ว ผู้มีปัญญาถึงมีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดี ก็ทำเป็นดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญา ก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลัง ก็ทำเป็นดังคนทุรพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้

ถ้าพิจารณาข้อความในสูตรนี้ วรรคแรกที่ว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำการงาน แต่บอกว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ข้อความต่อไปที่ว่า ควรหลีกเร้นหมู่ชน คำนี้ก็หมายความว่าไม่คลุกคลี หรือไม่ติดในบุคคลในตระกูล

ในเถรนามสูตร การอยู่ผู้เดียว ไม่ใช่หมายความว่า ปลีกตน แต่ว่าการปลีกตน หรือว่าการอยู่ผู้เดียวนั้น หมายความถึง การมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปลีกจากสิ่งอื่นทั้งหมด ก็ชื่อว่า ไม่คลุกคลีกกับหมู่ชน แต่ว่ามีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

ที่มา และ รับฟังเพิ่มเติม ...

มหากัจจายนเถรคาถา