การอบรมเจริญเมตตานั้นจะเป็นไปได้เมื่อรู้ลักษณะของเมตตา คือ ไมตรีความรู้สึกเป็นมิตร ความสนิทสนม ความเกื้อกูล ความนำประโยชน์สุขมาให้ ขณะใดที่เมตตาเกิด ขณะนั้นจิตอ่อนโยน ปราศจากมานะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยกตน สำคัญตนและข่มบุคคลอื่น
การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ นั้นจะขัดเกลาอกุศลธรรมหลายอย่าง ปกติอาจไม่รู้สึกตัวว่ามี มานะ อิสสา มัจฉริยะ โทสะและอกุศลธรรมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่ออบรมเจริญเมตตาขึ้น อกุศลธรรมเหล่านั้นจะละคลายลดน้อยไปด้วย
ผู้ใคร่จะขัดเกลามานะและเจริญเมตตาเพิ่มขึ้น ควรรู้ลักษณะของมานะ
ซึ่งข้อความในอัฎฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสมานสังโญชน์
(๑๑๒๑) มีชื่อว่า ความถือตัว เนื่องด้วยกระทำมานะ
คำว่า "กิริยาถือตัว ความถือตัว" แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า การยกตน เกี่ยวกับการเชิดชูตน การยกตนเกิดขึ้นกับบุคคลใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้เทิดขึ้น คือสถาปนาตนยกขึ้นไว้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า ความเทิดตน
ที่ชื่อว่า "การเชิดชูตนดุจธง" โดยความหมายว่า ทำตัวให้เด่นขึ้น (ทำให้เด่นหรือสำคัญขึ้น)
ที่ชื่อว่า "การยกจิตขึ้น" ด้วยอรรถว่า ประคองจิตไว้โดยความหมายว่ายกขึ้นไว้ บรรดาธงหลายคัน ธงที่ยกขึ้นสูงกว่าเขา ชื่อว่า เกตุ หมายความว่า ธงเด่น แม้มานะเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เปรียบได้กับ ธงเด่น โดยเทียบกับมานะต่อๆ มา เหตุฉะนั้น จึงชื่อว่า เกตุ แปลว่าดุจธงเด่น ธรรมชาติที่ชื่อว่า เกตุกมย ด้วยอรรถว่าปรารถนาเป็นดุจธง ภาวะแห่งธรรมชาติที่ต้องการ ดุจธง ชื่อว่า เกตุกมยตา แปลว่า ความต้องการเป็นดุจธงและความต้องการเป็นดุจธงนั้น เป็นของจิต ไม่ใช่ของตน ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า "ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง" จริงอยู่ จิตที่สัมปยุตต์ด้วยมานะ ย่อมปราถนาเป็นดุจธง และภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่า ความต้องการเป็นดุจธง ได้แก่ "มานะ" ที่นับว่าเป็นดุจธง
ที่กล่าวถึงลักษณะของมานะก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของอกุศลธรรม ซึ่งไม่ใช่ลักษณะอาการที่อ่อนโยน สนิทสนม เป็นไมตรีกับผู้อื่น
ผู้ที่อบรมเจริญเมตตานั้น เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด จึงรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะใดมีมานะ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ขณะใดที่อิสสาคือริษยา ขณะนั้นก็ไม่เป็นมิตรกับผู้ที่ถูกริษยาแน่นอน ฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ผู้เจริญเมตตาจริงๆ จึงต้องระลึกรู้ลักษณะอาการสนิทสนมที่จะต้องปราศจากความริษยาในบุคคลอื่นๆ ด้วย
ขอประโยชน์ทั้งหลายมีแก่ผู้มีพระคุณทุกท่าน
กราบอนุโมทนา
ที่มา หนังสือ เมตตา
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ นั้น จะขัดเกลาอกุศลธรรมหลายอย่าง ปกติอาจไม่รู้สึกตัวว่ามี มานะ อิสสา มัจฉริยะ โทสะ และอกุศลธรรมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่ออบรมเจริญเมตตาขึ้น อกุศลธรรมเหล่านั้นจะละคลายลดน้อยไปด้วย
ขออนุโมทนาค่ะ
ข้อความบางตอนจากหนังสือบารมีในชีวิตประจำวัน ...
เมตตาของท่านไม่ควรจำกัด เพราะถ้าจำกัดแล้วอาจจะไม่ใช่เมตตา แต่อาจจะเป็นโลภะ คือเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ถ้าดูเพียงภายนอกเป็นการกระทำที่คล้ายกัน เช่น การทำความดีกับบุคคลที่ใกล้ชิด บุคคลที่ท่านเคารพนับถือรักใคร่ ดูเสมือนว่าเป็นกุศลเป็นเมตตา แต่ทำไมทำเช่นนั้นกับบุคคลอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ แล้ว ต้องเสมอเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย การเจริญเมตตาบารมีต้องไม่จำกัดบุคคล ขณะที่จำกัดบุคคล ก็ควรจะพิจารณาจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ...
ขออนุโมทนาค่ะ
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
ขออนุโมทนาค่ะ
เมื่อน้อมพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน หากเป็นคนที่สนใจธรรม แม้มีการก้าวล่วง ก็เหมือนจะมีการปรุงแต่งที่พอให้อภัยได้ ยังมีความดีปรากฏ ต่อเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลที่ไม่มีศรัทธา ไม่สนใจธรรม ล่วงเกิน ดูหมิ่น ถากถาง เมื่อนั้นแหละค่ะ เป็นบททดสอบ ว่าเข้าใจธรรมแค่ไหน ต้องถูกฝึกอีกเพียงไร จะรู้ได้เมื่อประสบกับเหตุการณ์กระทบจริง (หากขณะนั้นการระลึกไม่เกิด ไม่ตรงลักษณะ) สภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจ เพราะเหตุปัจจัย ธรรมที่จำแนกรายละเอียดเป็นเครื่องประมาณกิเลสในตนได้
ขอบพระคุณทุกสิ่งที่มาทดสอบตลอดเวลาให้รู้ว่า ต้องขัดเกลาอีกมาก และต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่เป็นประโยชน์ เพราะสังสาระนี้เป็นภัย จึงเสมอด้วยทุกข์ สุข เท่ากัน
อนุโมทนาค่ะ
ชุดเมตตา M.P. 3 ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ บรรยายไว้ ฟังดีมากค่ะ
เมตตา - กรรม
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคุณ wannee.s ที่แนะนำให้ฟัง ชุดเมตตา M.P. 3 ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ บรรยายไว้ ฟังตอนที่ 1 - 5 (ตามที่มีใน link) แล้วค่ะ แต่ไม่ทราบว่าจะหาฟังตอนที่ 6 ได้จากที่ไหนคะ