จุดประสงค์ในการทอดผ้าป่าตามหลักพระพุทธศาสนา
โดย natural  5 ก.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 25469

ขอรบกวนเรียนถามจุดประสงค์ในการทอดผ้าป่าตามหลักพระพุทธศาสนา พิธีกรรมต่างๆ เช่น การนำเงินติดบนกิ่งไม้ (ไม่ทราบเรียกว่าอะไร) การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น มีความเป็นมาอย่างไร และทอดกฐินต่างจากทอดผ้าป่าหรือไม่ อย่างไรคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ผ้าป่า ก่อนว่า หมายถึงอะไร คำว่า ผ้าป่านั้น เป็นคำในภาษาไทย ซึ่งเมื่อเทียบเคียงสอบทานกับพระไตรปิฎกแล้ว หมายถึง ผ้าบังสุกุล ซึ่งแปลว่า "ผ้าเปื้อนฝุ่น" ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ที่พระภิกษุท่านแสวงหาด้วยการเก็บตามป่าช้าบ้าง ตามกองขยะบ้าง ตามสถานที่ที่บุคคลนำไปทิ้งแล้วบ้าง เป็นต้น เก็บรวบรวมมาทำเป็นผ้าจีวรสำหรับนุ่งห่ม ผ้าบังสุกุลจะไม่มีผู้ถวาย แต่เป็นการแสวงหาอย่างถูกต้องของพระภิกษุ นี้จึงเป็นลักษณะของผ้าป่า หรือ ผ้าบังสุกุล แต่ถ้าเป็นผ้าที่คฤหัสถ์ถวายโดยตรงต่อท่าน ผ้านั้นเป็นคฤหบดีจีวร ไม่ใช่ผ้าบังสุกุล (ซึ่งทั้งผ้าบังสุกุล และ ผ้าคฤหบดีจีวร ก็เป็นผ้าที่ควรแก่พระภิกษุ)

การทอดผ้าป่า หรือ การถวายผ้าป่า ไม่มีในพระไตรปิฎก ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงในสังคมไทยแล้ว ผ้าป่า มีความคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่บอกว่าถวายผ้าป่า ก็ไม่ใช่ผ้าป่าในพระธรรมวินัย เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของเงินทอง, เงินทอง ไม่ใช่ผ้าป่า ผ้าที่นำไปถวาย ก็ไม่ใช่ผ้าป่า เพราะผ้าป่าที่แท้จริง เป็นผ้าบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่พระภิกษุแสวงหามาเพื่อทำเป็นจีวรเท่านั้นเอง

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติม นะครับ .... การถวายผ้าป่า

เรื่องของกฐินเป็นเรื่องที่ละเอียด และพระภิกษุและคฤหัสถ์ควรปฏิบัติอย่างถูกต้องในเรื่องของกฐินด้วยการศึกษาพระธรรมทีวินัยเพื่อเป็นการดำรงรักษาพระศาสนาไว้ครับ

คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าให้ตึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า และ กฐินตามพระวินัย หมายถึง ผ้าซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา ๓ ผืน

กฐิน เป็นการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ที่มาของกฐินนั้น คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งมีความประสงค์จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่วิหารพระเชตวัน ตอนนั้นจวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี ก็เลยอยู่จำพรรษาตามพระวินัย ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้วท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อทันที ในช่วงนั้นฝนยังไม่หมดทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทำการกรานกฐิน เพื่อเปลี่ยนผ้า ในช่วงจีวรกาล ระยะเวลา ในการถวายกฐินนั้น มีระยะเวลา ๑ เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

จะเห็นนะครับว่า เรื่องกฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ คือ สิ่งไม่เหมาะสมกับเพศบรรพชิตครับ

กฐิน เป็นสังฆกรรมของพระภิกษุทั้งหลาย โดย บริษัททั้ง ๔ หรือ แม้แต่เทวดา ก็ถวายผ้ากับสงฆ์และก็มีการทำกรานกฐิน โดยเป็นวินัยของสงฆ์ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เงินทอง ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง เพราะท่านสละอาคารบ้านเรือน สละโภคสมบัติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อได้รู้ว่าอะไรที่ควรแก่บรรพชิต และไม่ควรแก่บรรพชิต อันเนื่องมาจากการมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ ก็จะเกื้อกูลให้คฤหัสถ์ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ทำให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ สำหรับเรื่องกฐิน ผ้าป่า ในทางพระพุทธศาสนาจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินเลย ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Pure.  วันที่ 5 ก.ย. 2557

สงสัยครับ...อาจารย์เคยเขียนแนะนำไม่ให้คนถวายเงินแก่พระ.

พระอยู่ในระหว่างการเดินทาง ขึ้นรถ ฉันอาหารในร้าน หรืออื่นๆ ที่จะต้องใช้เงินเข้าไปแลกเปลี่ยนหรือที่เกี่ยวข้องด้วยเงินๆ ทองๆ ถ้าพระไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเงินใช้ในการแลกเปลี่ยนแล้วไซร้ จะให้พระทำอย่างไรดีครับในสังคมที่จะต้องใช้เงินเข้าแลก???

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย natural  วันที่ 5 ก.ย. 2557

เรียนถามเพิ่มเติมว่า ถ้าคฤหัสถ์จะกระทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในวัดเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ หน้าที่ของผู้ที่ช่วยเหลือกิจการภายในวัด มีกำหนดไว้หรือไม่คะ และในกรณีคฤหัสถ์จะใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เช่น facebook ตอบคำถามทางธรรมผ่านพระภิกษุ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแผ่พระธรรม เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร อย่างไรคะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 5 ก.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

พระภิกษุในธรรมวินัยนี้ ที่ถูกต้อง คือ เป็นผู้มีกิจน้อย ไม่ใช่เป็นผู้มากไปด้วยการเดินทาง และไม่ทำตัวดั่งเช่น คฤหัสถ์ เช่น เดินทางไปเรียนหนังสือ แบบคฤหัสถ์ อย่างนี้ ไม่ควร การฉันอาหาร ฉันตามร้านก็ไม่ถูกต้อง ภิกษุ ควรฉันอาหารเมื่อได้รับนิมนต์ หรือ ทำตามพระวินัย คือ บิณฑบาต เพราะฉะนั้น สมัยนี้พระภิกษุ เมื่อไม่ปฏิบัติตามพระวินัย จึงมีข้ออ้างในการใช้สิ่งที่ไม่ควร นั่นคือ เงินทอง เพราะปัจจุบัน พระภิกษุปฏิบัติตน ดั่งเช่นคฤหัสถ์ ไม่ใช่ บรรพชิต โดยมาก ครับ

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

คฤหัสถ์ที่ดี ก็ต้องศึกษาพระทำวินัย ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรื่อง ผ้าป่า กฐิน จึงไม่เกี่ยวกับเงินทอง และการนำเงินทองมาบำรุงวัด ก็ต้องทำให้เหมาะสม ไม่อ้างผ้าป่า กฐิน ครับ ส่วนการใช้สื่อที่เป็นช่องทางเพิ่มกิเลส และไม่เหมาะกับพระภิกษุ ก็ไม่ควร ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย tanrat  วันที่ 6 ก.ย. 2557

น่าเห็นใจจริงๆ นะคะ ท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวประโยคนี้มาแล้ว เพราะการสะสมมาที่จะเป็นเพศบรรพชิต แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรแล้วกระทำลงไป แต่จะรู้หรือไม่รู้ก็สะสมการกระทำไปแล้วในจิตเจ็ดขณะ ความเห็นถูกหรือปัญญาจึงควรอบรมให้เกิด เกิดแล้วกระทำให้มากขึ้น การฟังพระธรรมจากผู้ที่สงบจากกิเลสจึงสำคัญยิ่ง ไม่ควรขาดการฟังค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ประสาน  วันที่ 6 ก.ย. 2557

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 9    โดย Pure.  วันที่ 6 ก.ย. 2557

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมพอจะเข้าใจครับ นั่นทำไมเขาถึงเรียกว่าสมมติสงฆ์ กล่าวคือ คฤหัสถ์เอาผ้าเหลืองมาครองจะ ๑ปี ถึง ๑๐๐ปี ก็ตามโดยส่วนมากก็มิใช่บรรพชิตครับ ณ ปัจจุบันนี้

ขอบคุณ และขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 10    โดย แต้ม  วันที่ 5 ก.พ. 2558

ผมเห็นด้วยกับคุณ paderm แต่สังคมปัจจุบันนี้สืบทอดประเพณีการทอดผ้าป่า,ทอดกฐิน ผิดรูปแบบของศาสนาพุทธมานานแล้ว ผมเคยไปแสดงความคิดเห็นในชุมชนของผม ก็ถูกบางคนต่อว่านอกรีต นี่เป็นเพราะอะไร พระต้องการสร้างวัตถุ ที่อยู่อาศัย หรือไงครับ สุดท้ายก็ขาดปัญญาในการทำบุญจริงๆ คงแก้ยากครับ

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย sompong Boonlert  วันที่ 26 ก.ย. 2564

เข้าใจคำถามและคำตอบ แต่ในขณะที่มีชีวิตและมีโอกาสศึกษาพระธรรมพอจะเข้าใจ แม้จะต้องอยู่ในสังคม ก็ควรเพียรในกุศลในการที่จะประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมคำสอนถึงจะยากเพียงใดก็ตาม อย่างน้อยจะได้เป็นแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะควรตามธรรม


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ