ปฏิเสธการรักษา
โดย miran  11 ต.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 19888

ผู้ป่วยหนักระยะสุดท้ายที่ไม่สาม่รถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เซ็น หนังสือแสดงเจตนา

ปฏิเสธการรักษาหรือ Living Will ตามมาตรา 12 พ.ร.บ. จะเป็นบาปอะไรไหม ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ระบุไว้ว่า

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง

เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจให้ตรงกันครับว่า บาป หรือ อกุศลธรรมคือสภาพธรรมที่ไม่ดี ซึ่ง

บาปหรือ อกุศลก็มีหลายระดับ ที่เป็นเพียงอกุศลจิต ขุ่นใจเล็กน้อย ชอบเล็กน้อย ก็เป็น

อกุศลเป็นบาปแต่อกุศลบาปนั้นไม่มีกำลัง ที่สามารถจะทำใหตกนรก ไปเกิดในอบาย

ส่วนอกุศลหรือบาปที่มีกำลัง คือ การล่วงออกมาทางกายและวาจา และมีกำลังจนล่วง

กรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นบาปที่มีกำลัง ที่สามารถทำให้เกิดใน

อบายภูมิได้ ซึ่งในที่นี้ก็คงมุ่งหมายถึง บาปโดยนัยนี้ว่า เป็นบาปที่เป็นอกุศลกรรมหรือ

ไม่ ในการเซ็นหนังสือปฏิเสธการรักษา

สำหรับการเซ็นหนังสือที่ปฏิเสธการรักษานั้น ขณะนั้นไมได้มีเจตนาการฆ่าสัตว์

ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้พูดเท็จ พูดคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ หรือ มีความ

เห็นผิด แต่ขณะนั้นเพียงเป็นอกุศลจิตที่แสดงออกมาทางกาย อันเกิดจากจิตที่เป็น

อกุศล แต่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตที่เป็นบาปตามที่กล่าวมา จึงไม่เป็นบาป ไม่เป็น

อกุศลกรรมที่จะครบองค์ล่วงศีล อันเป็นเหตุให้ไปอบายภูมิได้ครับ ไม่ต่างจากการทาน

ข้าว เพราะการทานข้าวของปุถุชนก็เป็นอกุศลจิตที่แสดงออกมาทางกาย แม้จะเป็น

อกุศลแต่ก็ไม่มีกำลังและไม่ได้ล่วงศีล จึงไม่บาปโดยนัยนี้ครับ การเซ็น หนังสือ ปฏิเสธ

การรักษาจึงไม่บาป ไม่เป็นอกุศลกรรมที่ล่วงศีลตามที่กล่าวมาครับ เพียงเป็นอกุศลจิตที่

แสดงออกทางกายเท่านั้น

ตัวอย่างที่ปฏิเสธการรักษา ว่าโดยละเอียดแล้ว ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้า

ทรงปลงมายุสังขาร ในวันมาฆบูชา ว่าเราจะปรินิพพานอีก 3 เดือนนับจากนี้ จะ

ปรินิพพานในวันวิสาขบูชา เมื่อพระองค์ปลงมายุสังขารแล้ว พระองค์ก็ไม่เข้าสมาบัติ

เพื่อรักษาโรค ทำให้โรคกำเริบและท้ายสุด พระองค์ก็ปรินิพพาน พระองค์ก็ไม่รักษา

ตัวท่าน ทั้งๆ ที่สามารถขับไล่อาพาธได้จากการเข้าสมาบัติ การปฏิเสธการรักษาด้วย

การไม่เข้าสมาบัติก็ไมได้ทำบาปอะไรครับ และที่สำคัญ แม้ผู้ที่จะเซ็นเอกสาร ยินยอม

ไม่รับการรักษา ก็อาจเกิดจากความเข้าใจถูกด้วยกุศลจิตก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น

อกุศลจิตก็ได้ โดยเข้าใจว่า ชีวิตมีความตายเป็นธรรมดาเป็นที่สุด ก็ยินยอมด้วย

ความเข้าใจว่าเพื่อไม่ให้ผู้อื่นลำบาก จึงเซ็นเอกสารนั้น ก็เป็นจิตเมตตาและกรุณาผู้

อื่นที่จะไม่ให้ผู้อื่นลำบาก และมีความเห็นถูกที่เข้าใจว่าความตายเป็นธรรมดา นี่ก็เกิด

ด้วยกุศลจิตก็ได้ครับ ดังนั้นความละเอียดจึงเป็นเรื่องของสภาพจิตเป็นสำคัญครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ชีวิตในสังสารวัฏฏ์ แต่ละภพแต่ละชาติ เริ่มต้นด้วยปฏิสนธิจิต (จิตขณะแรกในชาตินี้ซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาิติที่แล้ว) และสิ้นสุดที่จุติจิต อันเป็นจิตขณะสุดท้ายในชาิตินี้ หรือ ที่เรียกว่า ตาย ชีวิตในระหว่างนั้น ก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ได้รับสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้ และเป็นธรรม-ดาที่่ว่า เมื่อมีการเกิดแล้ว ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ย่อมตามมาอย่างแน่นอนและไม่ใช่ว่าจะมาเป็นอย่างนี้เฉพาะในชาิตินี้เท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และจะเป็นอย่างนี้อีกต่อไปนานแสนนาน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย เพราะผู้ที่สิ้นสุดการเกิดในสังสารวัฏฏ์ คือ พระอรหันต์เท่านั้น การกระทำอะไรก็ตาม ที่จะเป็นบาป หรือ ไม่เป็นบาปนั้น ต้องพิจารณาว่า บาป คืออะไร? บาป คือ สภาพจิตที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่งาม ให้ผลเป็นทุกข์ บาป ย่อมมีแก่ผู้กระทำเท่านั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ โดยทั่วไปหมายถึง การกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เรียกว่า อกุศล-กรรมบถ ๑๐ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ผู้มีปกติทำบาปย่อมเดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า กล่าวได้ว่า เดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำ และเดือดร้อนทั้งในขณะที่ให้ผล การปฏิเสธการรักษา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยในขั้นที่เห็นว่าไม่สามารถจะรักษาได้แล้ว ไม่ได้เป็นการกระทำอกุศลกรรมบถแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นบาป เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์อื่น ไม่ได้ลักทรัพย์ผู้อื่น เป็นต้น แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่พ้นจากภัยทั้งปวง เพราะต้นเหตุที่ทำให้มีการเกิด แก่เจ็บ ตาย ประสบกับภัย ความเดือดร้อนต่างๆ มากมาย ก็เพราะกิเลส นั่นเอง หนทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง นั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และ ได้สะสมกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นชีวิตที่มีค่า เป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย nong  วันที่ 12 ต.ค. 2554

มีผู้สนทนาธรรมด้วยกันถามคำถามนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีพยาธิสภาพต่างๆ

ได้คำตอบชัดเจน เป็นเหตุเป็นผลตามความเป็นจริงค่ะ...

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย miran  วันที่ 12 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย pat_jesty  วันที่ 13 ต.ค. 2554

ธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้จุติจิตเกิดก็เกิด ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อย่างไร แต่เจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาที่ตัดสินใจตอนนี้นั้น ก็ควรพิจารณาว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นจิตที่เมตตาไม่ต้องการให้ญาติๆ ลำบากใจ ก็เป็นจิตที่ดี ไม่เป็นบาปค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย jaturong  วันที่ 17 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 19 ต.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 8    โดย orawan.c  วันที่ 26 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย เซจาน้อย  วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ