มองไม่เห็นความผิดของตัวเอง
โดย pornpaon  20 ก.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 4315

ขอสารภาพถึงความเป็นผู้อ่อนด้อยในการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาของตัวเองค่ะ (น่าจะต้องเรียกตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ว่า คุณประมาทระดับ ซูเปอร์ประมาท) วันนี้ดิฉันเกิดความโกรธถึงขั้นกล่าวผรุสวาจาซึ่งปกติไม่เคยแม้แต่คิดที่จะพูด แม้ไม่กี่คำก็จริง แต่ขณะที่ได้ยินเสียงของตัวเองและตกใจว่ากล่าวคำพูดไม่ดี ก็รู้ว่าสายไป เสียแล้ว ไม่เท่าทันอารมณ์และกิเลสร้ายอย่างมหันต์เสียแล้ว แต่ยังไม่เข็ด ตอนสายของวันเดียวกัน มีวาจายั่วโมโหและเซ้าซี้ไม่เลิก ก็เกิดความโกรธเป็นระลอกไล่กันมาในอกอย่างกับลูกคลื่นวิ่งชนใจตัวเองอย่างแรงจนน่ากลัวว่าจะเอาไม่อยู่ พยายามสุดฤทธิ์ที่จะเตือนตนเองว่าขณะนี้ที่โกรธคนอื่นอยู่นั้น เป็นความผิดของตัวเราที่คนอื่นก็ไม่ได้มองเห็น ตัวเราเองเท่านั้นที่รู้อยู่ คนอื่นเขาไม่ได้รู้ด้วยเลย แต่เราก็ยังเฝ้าโกรธเขาเพราะโทษว่าเขาทำให้โกรธ กว่าที่ความโมโหจะยุติลงได้ก็เฝ้าบอกเฝ้าเตือนตัวเอง ซ้ำอยู่หลายหน อันที่จริง ๒-๓ วันมานี้ มีอยู่หลายหนที่จู่ๆ ดิฉันก็นึกถึงประโยคที่เคยได้ฟังท่านอ. สุจินต์ ถามในเทปการสนทนาธรรมผ่านรายการวิทยุ (นานมาแล้ว) ว่า “ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายใช่ไหมคะ แต่ความผิดของตัวเองมองเห็นหรือเปล่าคะ” วันนี้เลยได้ประสบการณ์ความผิดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะพูดได้ ความผิดของตัวเองนั้นมันยากจะมองเห็นและเป็นเรื่องประมาทไม่ได้จริงๆ ค่ะ ขอสารภาพผิดอีกที



ความคิดเห็น 1    โดย wannee.s  วันที่ 21 ก.ค. 2550

ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น ทำให้ชื่อเสียง ยศ ความดีที่สะสมมาพังพินาศเพราะความโกรธ ทำให้โภคทรัพย์ก็เสื่อม ทำให้ฆ่าตัวเองก็ได้ ฆ่าคนอื่นก็ได้ ไม่มีคนอยากเข้าใกล้ หลงทำกาละ ตายไปเข้าถึงทุคติวิบาตนรก


ความคิดเห็น 2    โดย ไรท์แจกแล้วไง  วันที่ 21 ก.ค. 2550
ไม่แปลกเพราะไม่ใช่พระอนาคามี

ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 21 ก.ค. 2550

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุด


ความคิดเห็น 4    โดย ajarnkruo  วันที่ 21 ก.ค. 2550

ความโกรธ ไม่ใช่สิ่งแปลก เกิดได้เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่ถึงขั้นของพระอนาคามี แต่เมื่อสหายธรรมเกิดอกุศลธรรมขึ้น กัลยาณมิตรพึงที่จะเอื้อเฟื้อด้วยธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งปัญญา ที่จะนำไปสู่หนทางที่สามารถปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ความโกรธไม่ใช่สิ่งที่ควรยินดีแม้เพียงเล็กน้อย เส้นผมที่ตกลงบนหน้าผาก จะเป็นเหตุให้เกิดความโกรธได้ไหม ถ้าเป็นเหตุได้ จะปัดออกด้วยความไม่รู้เพราะหลงลืมสติหรือปัดออก เพราะสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นที่เกิดอาการขุ่นเคืองใจโดยไม่ใช่อาการของตัวตน ทุกอย่างเป็นธรรมะจริงๆ ถ้าวันใดเกิดไม่มั่นคงขึ้นมา โกรธเกิด ก็เป็นเราโกรธ เป็นตัวตน เมื่อนั้นย่อมไม่คิดว่าเป็นธรรมะ ลืมคิดว่าโกรธควรดับ และยิ่งจะเป็นตัวตนที่หนักอึ้งขึ้นอีกหากพ่วงด้วย ความผูกโกรธ ความพยาบาทและจิตที่คิดปองร้าย รังแต่จะเผาใจตัวเองให้ไหม้ดำยิ่งขึ้น มีประโยคหนึ่งจากท่าน อ. สุจินต์ ครับผมพอจะจำได้โดยสรุปว่า "ความไม่ดีของผู้อื่นที่เขากระทำกับเรา ก็เป็นสภาพธรรมสภาพหนึ่ง เกิดเพียงชั่วขณะก็ดับ ดับไปนานแล้วแต่เราก็ยังเก็บมาคิด เก็บมาโกรธ หลงลืมสติ ไม่เห็นว่าสภาพที่โกรธนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมหนึ่งที่เขาไม่รู้อะไรกับเราแล้ว เขาอาจจะเพลิดเพลินใจอยู่มีแต่เราที่คิดถึงเขาด้วยความโกรธ"


ความคิดเห็น 5    โดย pornpaon  วันที่ 21 ก.ค. 2550

ขอบพระคุณทุกท่านที่ชี้แนะค่ะ ความโกรธนั้น ฆ่าความดีได้ทั้งหมดจริงๆ จะตั้งใจฟังธรรม ศึกษาพระธรรมให้มากขึ้นและรอบคอบขึ้นค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่องพิจารณาว่าธรรมเกิดขึ้นและดับไปแล้วจะโกรธทำไมคิดได้ย่อมเพิ่มขันติ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 609

การทำความเสียหายด้วยธรรมใดและทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ดับไปในขณะนั้นเอง. บัดนี้ใครพึงทำความโกรธแก่ใคร. และใครผิดแก่ใครเพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พิจารณาดังนี้ควรเพิ่มพูนขันติสัมปทาด้วยประการฉะนี้.


ความคิดเห็น 7    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 83

" เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ , ชนเหล่าอื่นถูกเธอว่าแล้ว จะพึงตอบเธอ, เพราะการกล่าวแข่งขันกันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ, ผิเธออาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ดังกังสดาลที่ถูกกำจัดแล้วไซร้ เธอนั่นย่อมบรรลุพระนิพพาน, การกล่าวแข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ."


ความคิดเห็น 8    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2550

เรื่อง ว่าเขาแล้วก็ควรอดทนที่จะถูกผู้อื่นว่าด้วย
เชิญคลิกอ่านที่นี่

ว่าเขาแล้วก็ควรอดทนที่จะถูกผู้อื่นว่าด้วย [ติสสูตร]


ความคิดเห็น 9    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 21 ก.ค. 2550

เรื่อง โทษของบุคคลอื่นเห็นได้ง่าย โทษของตนเห็นได้ยาก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ 58

ข้อความบางตอนจาก เรื่อง เมณฑกเศรษฐี

"โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นได้ง่าย, ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก; เพราะว่า บุคคลนั้น ย่อมโปรยโทษของบุคคลเหล่าอื่น เหมือนบุคคลโปรยแกลบ, แต่ว่าย่อมปกปิด (โทษ) ของตน เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น."

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 11    โดย namarupa  วันที่ 21 ก.ค. 2550

“ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายใช่ไหมคะ แต่ความผิดของตัวเองมองเห็นหรือเปล่าคะ วันนี้เลยได้ประสบการณ์ความผิดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะพูดได้ ความผิดของตัวเองนั้นมันยากจะมองเห็นและเป็นเรื่องประมาทไม่ได้จริงๆ ค่ะ ขอสารภาพผิดอีกที ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งค่ะ คุณ pornpaon จะมีสักกี่คนคะ ที่จะเห็นกิเลสของตัวเองเหมือนอย่างที่คุณเห็น คนส่วนใหญ่ คิดว่าตัวเองรู้แล้ว และรู้ดีกว่าคนอื่นด้วย และมักคอยจะเที่ยวไปแนะนำสอนคนอื่นเค้าอยู่เสมอ ว่าควรจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยมองเห็นกิเลสของตัวเองเลยแม้แต่น้อย ขออนุญาตยกคำกล่าวเตือนสติพวกเราอีกครั้งหนึ่งว่าขณะที่จิตของเราเป็นอกุศล เราเคยสังเกตเห็นบ้างหรือไม่? หรือเราเห็นแต่อกุศลจิตของบุคคลอื่น แค่นี้พอที่จะเตือนใจของเราได้ไหม? อนุโมทนาในจิตที่เป็นกุศลของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย แวะเข้ามา  วันที่ 22 ก.ค. 2550

เดือดร้อนเพราะยังมีเรา


ความคิดเห็น 13    โดย ajarnkruo  วันที่ 22 ก.ค. 2550

ถ้าเผื่อว่า วันใดวันหนึ่ง จะมีความคิดแวบเข้ามาเป็นความขุ่นใจคนที่โกรธนั้นๆ อยู่

ก็ขอให้ลองศึกษาถึง พยาบาท ประกอบดูครับเชิญคลิกอ่าน ...

พยาบาท


ความคิดเห็น 17    โดย natnicha  วันที่ 24 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 18    โดย pornpaon  วันที่ 4 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา และขอขอบพระคุณกัลยาณมิตรผู้เอื้อเฟื้อคำชี้แนะและความคิดเห็นทุกท่านค่ะ ดิฉันอ่านแล้วได้เห็นโทษของตัวเองเด่นชัดมากค่ะ


ความคิดเห็น 19    โดย medulla  วันที่ 7 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 20    โดย olive  วันที่ 10 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 21    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 11 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ