ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ในทางกลับกันอยากทราบว่า อนัตตา (รวมถึง อนิจจัง และ ทุกขัง) เป็นธรรมหรือไม่ เป็นปรมัตถธรรม หรือไม่
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจว่า ธรรม คืออะไร ธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ทรงไว้ซึ่งความจริงอย่างนั้น ธรรม แต่ละหนึ่ง ละเอียดอย่างยิ่ง เพราะเป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นอภิธรรม และธรรมแต่ละหนึ่งๆ มีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่น โกรธ เป็นโกรธ เห็นเป็นเห็น ปัญญาเป็นปัญญา เป็นต้น จึงเป็นปรมัตถธรรม
ธรรม จึงมีมากมายหลากหลายมาก แต่เมื่อจำแนกเป็นประเภทแล้ว มี ๔ ประเภท ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่
จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง หลากหลายตามอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ บ้าง หลากหลายตามภูมิคือระดับขั้นของจิต บ้าง แต่ก็มีลักษณะเดียวคือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ตัวอย่างของจิต เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น
เจตสิก เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ เวทนา ความรู้สึก โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ศรัทธา ความเลื่อมใส ความผ่องใส สติ ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น
รูป เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ กล่าวคือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ตัวอย่างของรูปปรมัตถ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จักขุปสาทะ (ตา) โสตปสาทะ (หู) ฆานปสาทะ (จมูก) ชิวหาปสาทะ (ลิ้น) กายปสาทะ (กาย) เป็นต้น
นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง
ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประมวล เป็น ๒ คือ นามธรรม (จิต เจตสิก นิพพาน) กับ รูปธรรม หรือ จำแนกเป็น ๒ โดยนัยที่เป็นธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม (จิต เจตสิก รูป) และ ธรรมที่ไม่เกิด เป็นวิสังขารธรรม (นิพพาน)
นี้คือ ธรรมที่มีจริง ไม่พ้นจากนี้เลย
จากประเด็นคำถามก็พิจารณาได้ว่า
อนิจจัง - ไม่เที่ยง ทุกขัง - เป็นทุกข์ และ อนัตตา - เป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ทั้ง ๓ นี้ เป็นลักษณะทั่วไปของธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง (จิต เจตสิก รูป) ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เรียกว่า ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เพราะมีอันดับไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องคล้อยไปสู่ความดับและดับไปในที่สุด สั้นแสนสั้น และธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นธรรมแล้ว จะเป็นสัตว์บุคคลตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร
สำหรับ อนัตตา ยังครอบคลุมถึงสภาพธรรม ที่ไม่เกิดไม่ดับ คือ พระนิพพาน ด้วย พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สภาพที่เป็นอนัตตา ก็คือ ธรรมทั้งปวง ไม่มีเว้นเลย ทั้งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
อนัตตาไม่ใช่คำแปล
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....
ขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาครับ