เป็นพระปลอม ??? ท่านผู้รู้ช่วยกรุณาด้วยครับ
โดย pornchai  20 ก.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16769

ฟังจากเทปของอาจารย์ว่า หากพิธีกรรมที่มีพระปาราชิกร่วมอยู่แล้วทำให้สงฆ์ไม่ครบองค์ พิธีกรรมนั้นถือเป็นโมฆะ เช่น การอุปสมบท การที่พระใหม่ (จากการอุปสมบทที่เป็นโมฆะ) ไม่รู้ว่าตนเองไม่ใช่พระ อยู่วัด ห่มจีวร กินข้าว ของชาวบ้านที่เขาเอามาทำบุญ อยู่ประมาณ 1 เดือนแล้ว ลาสิกขาออกไป อยากทราบว่าเขาจะมีความผิดอะไรบ้าง



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 20 ก.ค. 2553

เคยอ่านข้อความในอรรถกถา ท่านอธิบายว่า สำหรับพระภิกษุที่ท่านบวชแล้ว ไม่รู้ตัวว่าการบวชครั้งนั้น ไม่สมบูรณ์ การดำรงเพศบรรพชิตของท่าน ย่อมไม่มีโทษ แต่เมื่อรู้แล้ว หรือสงสัยว่าการบวชไม่สมบูรณ์ ยังขืนอยู่อย่างนั้น ย่อมมีโทษคือ เป็นเครื่องกั้นคุณธรรมได้ ส่วนผู้ที่เคยบวชและลาสิกขาไปแล้ว ย่อมไม่มีโทษอะไรครับ


ความคิดเห็น 2    โดย wannee.s  วันที่ 20 ก.ค. 2553

ถ้ารู้ว่าเป็นพระปลอมแล้วไม่สึก มีโทษมาก ทำให้ไปสู่อบายภูมิ ๔ สึกมาเป็นคฤหัสถ์ที่ถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามอัธยาศัยดีกว่าค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย BudCoP  วันที่ 22 ก.ค. 2553

นโม เม อริยสงฺฆสฺส

ขอนอบน้อมแด่พระอริยสงฆ์

สวัสดีครับ ขอร่วมสนทนาด้วยคน ครับ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อความ ขอนำเรื่องสังฆกรรม มาประกอบกระทู้ด้วยนะครับ คุณ pornchai คุณ prachern.s คุณ wannee

หลักทั่วไปที่ใช้พิจารณาว่าสังฆกรรมสำเร็จหรือไม่มี 5 ข้อ

1. วัตถุสมบัติ/วัตถุวิบัติ - เรื่องที่จะทำถูกธรรมวินัยหรือไม่

2. ญัตติสมบัติ/ญัตติวิบัติ - ตั้งและสวดเรื่องประกาศ ใช้ในหมู่สงฆ์ ถูกธรรมวินัย หรือไม่

3. อนุสาวนาสมบัติ/อนุสาวนาวิบัติ - ทวนชี้แจงสงฆ์ ตามญัตตินั้น ถูกธรรมวินัย หรือไม่

4. สีมาสมบัติ/สีมาวิบัติ - แต่งตั้งสีมาไว้ถูกธรรมวินัยหรือไม่

5. บริษัทสมบัติ/บริษัทวิบัติ - สงฆ์ที่เข้าร่วมครบองค์ประชุมหรือไม่

//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=12990&Z=13100

ผมขอยกมาเฉพาะเรื่องบริษัทสมบัติ/บริษัทวิบัติ สงสัยข้ออื่น ถามเพิ่มไว้นะครับ

การพิจารณา บริษัทวิบัตินั้น ท่านพิจารณาจากภิกษุผู้เป็นสมานสังวาส ในวัดนั้นว่า มาเข้าหัตถบาส คือ 2 ศอกคืบ ครบหรือไม่ ถ้าไม่ครบ จัดว่า เป็นบริษัทวิบัติ ครับ ที่นี้ในเรื่องการบวชใน ปัจจันตชนบท เช่น ประเทศไทยนี้ บริษัทสมบัติจะต้องการสงฆ์ ผู้เป็นสมานสังวาส ไม่ต่ำกว่า 5 รูป (มหาวรรค ภาค 2) ทว่า พระปาราชิก ไม่ใช่สมานสังวาส เข้าร่วมในกรรมนับจำนวนด้วยไม่ได้ (กังขาวิตรณี ปฐมปาราชิกสิกขาบทวรรณนา) และเป็นทุกกฏอาบัติกับคณะสงฆ์ที่ขืนทำกรรมทั้งที่รู้ว่าบริษัทไม่บริสุทธิด้วย แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทสมบัตินั้นนับที่สมานสังวาสภิกษุ ส่วนวัชชนียบุคคลมี ปาราชิกบุคคล และอนุปสัมบัน เป็นต้นนั้น ทำให้สงฆ์ที่รู้อยู่เป็นอาบัติทุกกฏได้เท่านั้น ไม่ได้ทำกรรมให้เสีย ดังนั้น ถ้าไม่นับรูปปาราชิก เป็นต้น แล้วจำนวนพระสงฆ์ที่เหลือ ครบองค์ประชุม ทั้งได้สมบัติอีก 4 ที่เหลือด้วย สังฆกรรม นั้นก็เป็นอันสำเร็จอยู่ดี ครับ

ถ้าคำนวณตามทุกวันนี้

1. วัตถุ คือ การให้อุปสมบทแก่ชายแท้ อายุเกิน 20 นับแต่ในครรภ์ (แม้พิการแต่ไม่ใช่ปาราชิกบุคคล 24 ก็ใช้ได้ แต่สงฆ์ให้บวชพระพิการทั้งที่รู้จะต้องอาบัติทุกกฏ) ผู้สงสัยต้องถามตนแล้วว่า อายุเกิน 20 และไม่ใช่ปาราชิกบุคคล 24 หรือไม่

2. ญัตติ-อนุสสาวนา คือ ญัตติจตุตถกรรมวาจา ผู้สงสัยต้องสังเกตว่า อุปัชฌาย์และพระคู่สวดสวดถูกตามหลักฐานกรณ์และแต่งบาลีถูกหรือไม่

3. สีมา คือ เขตใบสีมาซึ่งทุกวันนี้มักเป็นวิสุงคามสีมา (สีมาพระราชทาน) ข้อนี้ไม่น่ามีปัญหา ถ้าไม่ขี้สงสัยเรื่องการถอนสีมา

4. บริษัท คือ สมานสังวาสิกภิกษุ ในอาวาสนั้น 5 รูปขึ้นไป ร่วมกันอยู่ในหัตถบาส ข้อนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะพระภิกษุในไทย นิยมใช้พระนับสิบๆ รูป มาร่วมหัตถบาสอยู่แล้ว บวกลบกับปาราชิกภิกษุแล้วคงเกินค่อนข้างแน่นอน

ถ้าเกรงว่าจะพลาด ก็ควรไปสวดทัฬหี (สวดซ้ำ) เสีย ได้แก่ บวชอีกทีนั่นเอง กับพระที่ทรงวินัย โดยเฉพาะกับพระสายธรรมยุติ ท่านจะพอรู้เรื่องนี้บ้าง การสวดทัฬหี สมัยนี้ถือกันว่า นับพรรษาต่อไปได้ แต่ส่วนตัวผมเอง เห็นว่าต้องนับพรรษาใหม่ เพราะกรรมครั้งนั้น มันเลิกไปนานแล้ว ดังนั้นถ้าจะไม่ต้องกังวลเรื่องนับพรรษา ก็ควรสวดหลังทำกรรมนั้นเลย จะอย่างไรก็ตาม ถึงนับพรรษาใหม่ แต่ก็ยังชื่อว่าเป็นพระสมบูรณ์แล้วเช่นกัน เพราะองค์ครบแล้วนั่นเอง ครับ

ขอให้ผู้ปรารถนาจะบวช ได้บวชโดยทั่วกัน ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chaiyakit  วันที่ 23 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย pornchai  วันที่ 24 ก.ค. 2553
ขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยตอบให้หายสงสัยครับ :-)