จิตว่าง
โดย สารธรรม  30 ม.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 11046

(พระเจดีย์ ณ วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน)

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... ข้อความบางตอนจาก ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๒๑

... บรรยายโดย ... ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

... จิตว่าง ...

ผู้ฟัง : เมื่อประมาณ ๗ ปีมาแล้ว ผมไปฟังธรรมที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ มีผู้ฟังถามพระที่ท่านแสดงธรรมว่า คำว่า “จิตว่าง” นี้ เมื่อจิตว่างแล้วจะเป็นผู้เป็นคนได้อย่างไร ก็เป็นที่หัวเราะกันในที่ประชุม เมื่อผมไปอ่านดูในหนังสือของพระที่แสดงธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา ท่านพูดว่า "จิตว่าง" คือ ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่จิตว่างๆ เฉยๆ เพราะฉะนั้น ผมจึงเรียนให้ทราบ

อ.สุจินต์ : เพราะฉะนั้นจึงได้เรียนท่านผู้ฟังไงคะว่า เวลาได้ยินพยัญชนะใด ขอให้สอบถามผู้พูด หรือผู้กล่าว ผู้แสดงธรรมนั้นโดยตรง เพื่อว่าท่านจะได้ไม่เข้าใจผิด หรือว่าไม่เข้าใจเอาเองว่าท่านผู้แสดงธรรมนั้น หรือท่านผู้กล่าวนั้นหมายถึงอย่างนั้นๆ อย่าคิดเอาเองค่ะ บางท่านนะคะ ผู้กล่าวเข้าใจผิด กล่าวผิด แต่ผู้ฟังนี้เข้าใจถูก แปลถูกหมด ตามความคิด ความเข้าใจของท่าน แต่ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าความเข้าใจของท่านเหมือนกับความเข้าใจของผู้ที่กล่าวธรรมนั้น หรือว่าต่างกัน ถ้าท่านไม่สอบถามดูว่า ผู้กล่าวหรือผู้แสดงธรรมนั้น หมายความว่าอย่างไร หรือว่าเข้าใจอย่างไร อย่าคิดเอาเอง หรือพยายามเข้าใจเอาเอง แต่ควรที่จะสอบถามผู้ที่แสดงธรรมนั้น

(พระพุทธรูป ณ วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน)

[๑๐๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า ... พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ... ดูก่อนอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า อะไรเล่าว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- จักษุ แลว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- รูป ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- จักษุวิญญาณ ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- จักษุสัมผัส ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะ จักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฯลฯ

- ใจ ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- ธรรมารมณ์ ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- มโนวิญญาณ ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- มโนสัมผัส ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

- สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน

ดูก่อนอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า.

จบ สุญญสูตรที่ ๒

๒. สุญญสูตรว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลกว่างเปล่า

[เล่มที่ 28] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 104

... คลิกเพื่ออ่าน ...

จิตว่างและวิญญาณ โดย showtana

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 30 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องหมายรวมถึงเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตด้วย จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้นเป็นจิตแต่ละขณะๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีขณะใดที่ว่างจากจิตแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นชาติต่างๆ ทั้งกุศลอกุศล วิบาก และ กิริยา เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร (เช่น เห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น ไม่ใช่เราที่เห็น เป็นต้น) ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ได้ในที่สุด โดยต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 30 ม.ค. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย pornpaon  วันที่ 31 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ศิณอนงค์  วันที่ 2 ก.พ. 2552

ขอแสดงความคิดเห็น ถึงผู้ที่เชื่อว่าจิตว่างค่ะ

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาอภิธรรมเพื่อเข้าใจ ก็ยากที่จะเข้าใจสุญญสูตร หลายๆ ท่านที่สนใจพระพุทธศาสนาแต่ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้ง ท่านมักจะสนใจอ่านแต่พระสูตร และละทิ้งพระอภิธรรมด้วยเหตุผลที่ท่านคิดเอาเอง และก็ตีความในพระสูตรนั้นเลย ด้วยความหมายแบบภาษาไทย ด้วยปัญญาระดับปุถุชน โดยไม่ใส่ใจในอรรถต่างๆ ให้ดี ซึ่งจะขาดการศึกษาพระอภิธรรมเพื่อความเข้าใจไม่ได้เลย

อรรถอันลึก ไม่ได้รู้ง่ายด้วยคำแค่สองสามคำพอ เพราะพระอภิธรรมคือส่วนขยายของพระวินัยและพระสูตร เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าสาวก หากไม่ศึกษาให้เข้าใจ ก็จะประยุกต์กันไปตามใจชอบ โลภะชอบความสบายที่บั่นทอนปัญญาเสมอ การประยุกต์พระธรรมไปตามที่ตนเองคิดและนำไปสอนคนอื่น แสดงถึงความไม่เคารพในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า


ความคิดเห็น 5    โดย เซจาน้อย  วันที่ 3 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 19 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ